ศิลปะบนฝาท่อ “สตรีทอาร์ตท่าฉลอม” สะท้อนอัตลักษณ์ชุมชนด้วยสีสัน

ขณะนี้ชุมชนท่าฉลอม ได้มีโครงการ “ถวาย Street Art ทุกบ้านคือสีสัน” เป็นการสร้างจุดเช็คอินใหม่แก่ชุมชนท่าฉลอม เชื้อเชิญนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ เพื่อนำรายได้เข้าสู่ชุมชน

ด้วยการสร้างสีสัน สะท้อนประเพณี วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ในรูปแบบของ “สตรีทอาร์ต” มีการสร้างสรรค์งานศิลปะต่าง ๆ โดยเฉพาะงานศิลปะบนกำแพง (Graffiti) จากนักศึกษา ภาคเอกชน รวมถึงศิลปินชื่อดัง จำนวน 10 จุด

ผลงานของ Alex Face บริเวณเยื้องศาลเจ้าโรงเจเชงเฮียงตั๊ว

อีกหนึ่งที่ช่วยเพิ่มสีสันให้กับชุมชนท่าฉลอม คือ งานศิลปะบนฝาท่อระบายน้ำ (Manhole Cover Art) บนถนนถวาย ในเบื้องต้นได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 9 จุด

ฝาท่อระบายน้ำสีสันสดใสเหล่านี้ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 87 ซม. หนา 7 ซม. น้ำหนักประมาณ 170 กก. ผลิตขึ้นที่บริษัท นวกาญจน์โลหะชลบุรี จำกัด แล้วนำมาติดตั้งตามจุดต่าง ๆ บนถนนถวาย เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา

“สาครออนไลน์” ชวนทุกท่านมาทำความรู้จักเรื่องราวในอดีตภายในชุมชนท่าฉลอม ซึ่งถูกนำมาถ่ายทอดลงบนฝาท่อระบายน้ำเหล่านี้

จุดที่ 1 หน้าอุโบสถไม้สักทอง วัดแหลมสุวรรณาราม ใกล้กับสถานีรถไฟบ้านแหลม เป็นภาพของหัวรถจักรไอน้ำรุ่นแรก ในโรงซ่อมที่สถานีรถไฟบ้านแหลมในอดีต สถานีรถไฟแห่งนี้เป็นต้นทางของรถไฟสายตลาดร่มหุบ “บ้านแหลม-แม่กลอง” ระยะทาง 33.75 กม. เริ่มเดินรถครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2450 ปัจจุบันให้บริการไป-กลับ วันละ 8 เที่ยว

จุดที่ 2 บริเวณปากทางเข้าท่าเรือ “ท่าฉลอม-มหาชัย” เป็นภาพของแผนที่ตำบลท่าฉลอม มีขบวนรถไฟ หอนาฬิกา เรือข้ามฟาก (เรือใบตอง) และเรือฉลอม ครั้งหนึ่ง “ชาลี อินทรวิจิตร” ครูเพลงชาวท่าฉลอม กำลังขึ้นเรือข้ามฟากไปฝั่งมหาชัย แล้วได้คุยกับนายท่าเรือที่ชื่อ “บุญเย็น” ถึงเรื่องราวความรักระหว่างหนุ่มตังเกท่าฉลอม กับ “พยอม” สาวมหาชัย จนกลายมาเป็นเพลงลูกกรุงอันโด่งดังอย่าง “ท่าฉลอม”

จุดที่ 3 บริเวณหน้าบริษัท เจริญอุตสาหกรรม จำกัด หรือ “จิ้นฮ่วย” โรงงานแปรรูปอาหารเก่าแก่ที่สุดในท่าฉลอม เป็นภาพของดอกโบตั๋นพร้อมข้อความ “บ้านลูกมังกร” และภาษาจีน “เล่งเกียฉู่” โรงงานจิ้นฮ่วยก่อตั้งเมื่อปี 2468 โดย “จิ้น” แปลว่า เจริญหรือทันสมัย, “ฮ่วย” แปลว่า สินค้าหรืออุตสาหกรรม ปัจจุบันผลิตอาหารแปรรูป ทั้งปลากระป๋อง และผลไม้อบแห้ง

จุดที่ 4 บริเวณหน้า “โรงเรียนทัสนะธรรมวิทยา” ฝาท่อเป็นรูปของอาคารเรียนก่ออิฐถือปูนสีเหลือง ด้านล่างเป็นถนนปูด้วยอิฐแดง คือลักษณะของถนนถวายในอดีต โดยโรงเรียนแห่งนี้ ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกในสมุทรสาคร ตามประวัติอาคารเรียนดังกล่าวเปิดทำการในปี 2497 สุดท้ายโรงเรียนก็ได้ปิดตัวลงไปเมื่อปี 2532 คงเหลือไว้ซึ่งอาคารเป็นอนุสรณ์

จุดที่ 5 บริเวณหน้าศาลเจ้าโรงเจเชงเฮียงตั๊ว เป็นรูปของโรงงิ้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ดังกล่าว ด้านล่างคือถนนถวายที่ปูพื้นด้วยอิฐแดง โรงเจแห่งนี้สร้างโดยชาวจีนแต้จิ๋ว เก่าแก่กว่าร้อยปี ด้านหลังเป็นอาคารประดิษฐานป้ายวิญญาณ ซึ่งมีแผ่นป้ายวิญญาณของบรรพชนชาวท่าฉลอมเก็บไว้จำนวนมาก ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจของทุกปี จะมีชาวสมุทรสาครและจังหวัดอื่น ๆ เข้ามาไหว้ที่โรงเจแห่งนี้

จุดที่ 6 บริเวณหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาท่าฉลอม (ปัจจุบันยุบเลิกสาขาไปแล้ว เมื่อ 17 เมษายน 2562) เป็นรูปของ “โรงหนังศรีอำพล” โรงหนังเก่าแก่ในอดีตของท่าฉลอม ซึ่งเคยตั้งอยู่บริเวณนี้ และยังมีรูปรถสามล้อโบราณ ที่กำลังวิ่งอยู่บนถนนถวายที่ปูด้วยอิฐแดง

จุดที่ 7 บริเวณสี่แยกตลาดสดเทศบาล เป็นรูปเรือฉลอมที่กำลังแล่นอยู่ในน้ำ สื่อให้เห็นว่าในอดีตชุมชนแห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่มีเรือฉลอมจอดอยู่จำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชนท่าฉลอม นอกจากนี้ ยังอยู่ใกล้กับทางเข้าท่าเรือ “ท่าฉลอม-โกรกกราก”

จุดที่ 8 บริเวณใกล้กับล้งกะปิหลังคาจาก เป็นรูปอาหารขึ้นชื่อของท่าฉลอม ได้แก่ ปลาทู เกี๊ยวปลาท่าฉลอม และปลายี่สนตากแห้งย่าง ล้งกะปิแห่งนี้มีอายุกว่า 60 ปี เป็นเรือนไม้แบบล้งมุงหลังคาด้วยจาก มีหลังคาจั่วยอดแหลม ชายคาต่ำ และมีผนังเตี้ยที่ทำจากไม้ไผ่ตีเรียงกันในแนวตั้ง ปัจจุบันยังใช้ประกอบกิจการทำกะปิและแปรรูปสัตว์น้ำ

จุดที่ 9 อยู่ห่างจากศาลเจ้าปุนเถ้ากงไปประมาณ 180 เมตร เป็นรูปเรือประมง สะท้อนถึงอาชีพหลักของชาวท่าฉลอม มีนกนางแอ่นบินอยู่ด้านบน เนื่องจากอยู่ใกล้กับปากอ่าวถิ่นที่นกนางแอ่นอาศัยอยู่

นักท่องเที่ยวสามารถเดินเท้าชมและแชะงานศิลปะบนฝาท่อระบายน้ำดังกล่าวได้ ตลอดแนวถนนถวาย รวมทั้งเยี่ยมชมงาน “ท่าฉลอม อาร์ต เฟสติวัล” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14-15 มีนาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 15.00-21.00 น.

– กิตติกร นาคทอง –

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *