อุโมงค์ยักษ์คลองบางน้ำจืด ความหวังใหม่แก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง

ตัวอย่างอุโมงค์ระบายน้ำในกรุงเทพมหานคร (ภาพจาก PRBANGKOK.COM)

เหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 สมุทรสาครเป็นหนึ่งใน 65 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ โดยมีพื้นที่ความเสียหาย 2 อำเภอ 6 ตำบล ได้แก่ ต.อ้อมน้อย ต.สวนหลวง ต.ท่าไม้ ต.แคราย ต.ตลาดกระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน และ ต.บางน้ำจืด อ.เมืองฯ บ้านเรือนจมอยู่ในน้ำ ระดับน้ำสูงเฉลี่ย 1 ถึง 1.5 เมตร สร้างความเสียหายทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจและสังคม

ทางจังหวัดแก้ปัญหาด้วยการเร่งระบายน้ำลงคลองภาษีเจริญ เพื่อออกสู่แม่น้ำท่าจีน และยังได้ใช้คลองบางน้ำจืด ที่มีความยาวประมาณ 12 กิโลเมตร รับน้ำจากคลองภาษีเจริญ ไหลลงสู่คลองมหาชัย โดยมีภาคเอกชนจัดทำ “คลองประดิษฐ์” บริเวณประตูระบายน้ำคลองบางน้ำจืด ความยาว 100 เมตร พร้อมเครื่องสูบน้ำ 120 เครื่อง

คลองประดิษฐ์ในยุคนั้น ช่วยขยายปากคลองลงทะเลให้กว้างขึ้นกว่าเดิมถึง 2-3 เท่า ระบายน้ำเพิ่มเติมได้มากถึง 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กลายเป็นที่พูดถึงในยุคนั้นว่า ความร่วมมือร่วมใจของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ช่วยให้ตัวเมืองสมุทรสาคร ไม่จมอยู่ใต้บาดาล และยังรักษาถนนพระราม 2 เส้นทางคมนาคมสายหลักไม่ให้ถูกตัดขาดอีกด้วย

เกือบ 10 ปีผ่านไป คลองประดิษฐ์ในยุคนั้น กำลังจะกลายเป็นอุโมงค์ยักษ์ในยุคนี้ เมื่อกรมชลประทานกำลังดำเนินการสำรวจ ออกแบบ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด จังหวัดสมุทรสาคร ปี 2563 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก ใน 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

กล่าวถึงคลองภาษีเจริญ ทำหน้าที่รับน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านคลองบางกอกใหญ่และคลองบางหลวง ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนที่ อ.กระทุ่มแบน และยังมีคลองทวีวัฒนา ที่รับน้ำจากแม่น้ำน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ผ่านคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน คลองสาน (ผ่านคลองพระยาบรรลือ) และคลองลากฆ้อน ผ่านคลองพระพิมล คลองโยง และคลองมหาสวัสดิ์อีกด้วย

ระหว่างนั้นจะมีคลองบางน้ำจืด ทำหน้าที่รับน้ำจากคลองภาษีเจริญ สูงสุด 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไหลงสู่คลองมหาชัย เข้าสู่พื้นที่โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย ซึ่งจะมีการบริหารจัดการในช่วงน้ำหลาก โดยระบายน้ำในคลองมหาชัยออกสู่ทะเลในช่วงระดับน้ำทะเลลดลง และปิดประตูระบายน้ำพร้อมสูบน้ำลงสู่ทะเลเพื่อให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง

โครงการนี้จะมีอุโมงค์ระบายน้ำ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายในไม่น้อยกว่า 6 เมตร ระยะทาง 12.34 กิโลเมตร พร้อมอาคารรับน้ำต้นทาง บริเวณคลองภาษีเจริญ และสถานีสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำคลองบางน้ำจืด ช่วยระบายน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตอนบน คลองภาษีเจริญ ถึงคลองมหาชัย ได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

นอกจากนี้ ยังมีงานปรับปรุงและขุดลอกคลองมหาชัย จากประตูระบายน้ำคลองมหาชัย-สนามชัย ถึงคลองหัวกระบือ ระยะทาง 18.60 กิโลเมตร รวมทั้งปรับปรุงคันแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย โดยออกแบบถนนลาดยางและยกระดับถนน ระยะทาง 42.50 กิโลเมตร พร้อมปรับปรุงประตูระบายน้ำเดิม 13 แห่งและออกแบบประตูระบายน้ำเพิ่มอีก 1 แห่ง

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำในแก้มลิง คลองมหาชัย-สนามชัย และควบคุมระดับน้ำทะเล ช่วยลดพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 32,000 ไร่ต่อปี ลดมูลค่าความเสียหายและความสูญเสีย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,729 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มความจุคลองชลประทานและคลองธรรมชาติประมาณ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร เก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคได้ โดยคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละ 161 ล้านบาท อีกด้วย

ขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของงานสำรวจ ออกแบบ โดยสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม กรมชลประทาน มอบให้ กิจการร่วมค้า PWFS JV เป็นผู้ดำเนินการ มีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่ พ.ค. 2563 ถึง พ.ย. 2564 ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารโครงการได้ที่ www.อุโมงค์ใต้คลองบางน้ำจืด.com

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *