“เล่งเกียฉู่” ที่มิใช่ร้านขายยาง / วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ภาพมุมสูงเมืองมหาชัย
เครดิตภาพ : แมวดำ มหาชัย

ในฐานะของคนสมุทรสาคร เราจะรู้กันว่า เมืองนี้เป็นเมืองของลูกหลานพันธุ์มังกร หรือที่ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “เล่งเกียฉู่”

แต่พอผมอยากรู้ว่า เมืองนี้มีที่มาอย่างไร เขาไปถาม “อากู๋ (Google)” ด้วยชื่อ “เล่งเกียฉู่” กลับพบว่าชื่อนี้ เป็นชื่อของร้านขายยางที่ตั้งอยู่แถววัดคลองครุ บนถนนเศรษฐกิจ 1 และไม่พบเรื่องราวใดๆที่บอกที่มาที่ไปของเมืองสมุทรสาคร หรือมหาชัยแต่อย่างใด

ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะถึงตรุษจีน ซึ่งลูกหลานพันธุ์มังกรในสมุทรสาครก็จะจัดงาน “”ตรุษจีน เล่ง เกีย ฉู่ สืบสานตำนานมังกร” ประจำปีกันอีก ซึ่งเห็นว่ามีการจัดสรรงบประมาณของจังหวัดถึงกว่า 5 ล้านบาทเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ดีใจครับ ที่จะมีงานใหญ่ หลังจากที่งดจัดกันมาหลายปีเพราะเหตุของ “โควิด 19”

แม่น้ำท่าจีนทอดตัวไหลผ่าน คดเคี้ยวโอบล้อมท่าฉลอมราวกับมังกรใหญ่
https://www.facebook.com/photo/?fbid=376660969548589

แต่ผมก็ยังสะดุดและติดใจ ในเรื่องของ “เล่งเกียฉู่” ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร (แม้ว่าจะไม่มีใครให้ความสนใจกันมากนัก นอกจากการจะเอาชื่อมาใช้เพียงแค่จัดงานก็ตาม)

ด้วยความที่เป็นคนแก่ชอบเรื่องเก่า (ตามตำราว่า “คนแก่ ชอบเรื่องเก่า”) ก็เลยต้องพยายามค้นหาคำตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีอีกคำหนึ่งที่น่าจะเชื่อมโยงกัน คือ คำว่า “ท่าจีน” เพราะตามความเชื่อ (สันนิษฐานของผม) “ท่าจีน” น่าจะมาจาก “ท่าจอดเรือของสำเภาจีน ที่มาค้าขายกับเมืองไทยในสมัยก่อน ที่อาจเป็นไปได้ทั้งในสมัยอยุธยาตอนต้น (หรือก่อนหน้านั้นที่อาจเชื่อมโยงไปถึงยุคอู่ทองในสมัยทวารวดีเลยก็ได้)

ในความเห็นของผม “ชุมชนท่าจีน” ในสมัยก่อน น่าจะเป็น “เล่งเกียฉู่” ที่คนจีนเรียกขานกัน

ถ้าจะลุกขึ้นมาถามว่า “ชุมชนท่าจีน” มีมาตั้งแต่สมัยใดกันแน่ ผมมีคำตอบอยู่ 2 ข้อ คือ

1. คำตอบที่มีหลักฐานยืนยันได้ คือ มีปรากฏหลักฐานเก่าที่สุดในกฎหมาย “พระไอยการนาหัวเมือง” ซึ่งตราไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งอาณาจักรอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 1998 ว่า “พระสมุทรสาคร เมืองท่าจีน พระสมุทรสงคราม เมืองแม่กลอง พระสมุทรปราการ เมืองปากน้ำ พระชนบุรี เมืองชน” แสดงว่าเมืองท่าจีนเป็นหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก (ที่มีขนาดใหญ่พอควร) ผู้ปกครองมีราชทินนาม “พระสมุทรสาคร” หากพิจารณาจากเงื่อนเวลาที่ปรากฏชื่อ “เมืองท่าจีน” อยู่ในกฎหมายตราสามดวง ถึงปีปัจจุบัน (พ.ศ. 2566) “ชุมชนท่าจีน” มีการก่อตั้งเป็นเมืองแล้ว ดังนั้น หากนับระยะเวลาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นถึงปัจจุบัน “ชุมชนท่าจีน” มีอายุถึงกว่า 568 ปี

2. คำตอบที่เป็นข้อสันนิษฐานของผม คือ “ชุมชนท่าจีน” อาจเป็นชุมชนที่มีมาตั้งแต่ “ยุคทวารวดี”

(1) เมื่อพันกว่าปีก่อน มีการสันนิษฐานว่าบริเวณจังหวัดสมุทรสาครนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน ต่อมาระดับน้ำทะเลทั่งโลกเริ่มลดลง ประกอบกับการทับถมของตะกอนแม่น้ำหลายร้อยปี ทำให้จังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลางตอนล่างปัจจุบัน เริ่มโผล่ขึ้นเหนือระดับน้ำทะเล เป็นแผ่นดิน และมีแม่น้ำ ลำคลองเกิดขึ้น เป็นทางไหลของน้ำที่เชื่อมต่อทางน้ำเดิม ในขณะเดียวกันก็เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกับเมืองต่าง ๆ ที่อยู่บนแผ่นดินด้านใน ซึ่งตรงกับยุคกรุงสุโขทัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรไทย

คลิกเพื่อดูภาพแผนที่อ่าวไทยโบราณ แบบที่ 1 / แบบที่ 2

(2) ดร.ตรงใจ หุตางกูร ที่ว่า “ในสมัยทราวดีนั้น ชายฝั่งทะเลโบราณยุคทวารวดี อยู่แถว ๆ บางขุนเทียน กทม. ไม่ไกลจากศาลพันท้ายนรสิงห์ คลองโคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร (ใกล้ถนนพระราม 2) “แนวชายฝั่งทะเลสมัยทวารวดี มีผืนป่าชายเลนอยู่ในพื้นที่ตอนใต้ของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ” ดังนั้น แนวชายฝั่งทะเลร่วมสมัยกับทวารวดี จึงมีขอบเขตไม่อยู่เหนือไปกว่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร” และ “เป็นไปไม่ได้ที่น้ำทะเลจะขึ้นไปประชิดถึงที่ตั้งเมืองสำคัญของทวารวดี อาทิ อู่ทอง หรือเมืองนครปฐมโบราณ” ตามที่เคยเชื่อสืบกันต่อมา แนวชายฝั่งทะเลโบราณ ที่มีสภาพนิเวศแบบผืนป่าชายเลน น่าจะเป็นช่วงเมื่อราว 8,400 ปีมาแล้ว ที่น้ำทะเลขึ้นไปถึงพื้นที่ จ. สุพรรณบุรี ถึง จ.อ่างทอง ต่อมาเมื่อเกิดการถดถอยของน้ำทะเล ในราว 7,000 ปีก่อน ทำให้แนวชายฝั่งทะเลเคลื่อนที่ลงมาทางทิศใต้อย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ระดับปัจจุบัน” (จากบทความเรื่อง การตีความใหม่เรื่องขอบเขตแนวชายฝั่งทะเลโบราณสมัยทวารวดีบนที่ราบภาคกลางตอนล่าง ของ ดร.ตรงใจ หุตางกูร ในวารสารดำรงวิชาการ ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (ฉบับมกราคม-มิถุนายน 2557) หน้า 11-44

คลิกเพื่อดูภาพ

(3) “มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่าราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ของอาหรับมีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีนและอินเดีย โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 บันทึกของชาวอาหรับในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15 กล่าวถึงเส้นทางการเดินเรือจากเมืองซีรอฟมายังประเทศอินเดียและจีนโดยขึ้นฝั่งที่เมืองกว่างโจว สินค้าหลักที่พ่อค้าชาวอาหรับนำมาขายยังประเทศจีน คือ เครื่องหอม (aromatic) เมื่อต้องล่องเรือสำเภากลับไปยังตะวันออกกลาง พ่อค้าอาหรับก็จะจัดหาสินค้าชั้นดีของจีนคือผ้าไหมและเครื่องถ้วย เพื่อนำมาขายตามรายทาง ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศรีลังกา อินเดียภาคใต้ ก่อนจะไปยังจุดหมายปลายทางในตะวันออกกลาง ดังนั้น เรือโบราณลำนี้อาจออกจากเมืองท่าเมืองใดเมืองหนึ่ง อาจแวะพักขนถ่ายสินค้าตามเมืองท่าหรือดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเมืองที่มีลำน้ำเชื่อมต่อกับทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของลุ่มแม่น้ำในภาคกลางของประเทศไทย โดยมีแม่น้ำท่าจีนเป็นเส้นทางการค้าทางเรือที่สำคัญเส้นทางหนึ่งที่นำพาสินค้าจากต่างแดนเข้ามาสู่ลุ่มน้ำภาคกลาง หรือในทางกลับกันก็เป็นเส้นทางนำสินค้าออกไปด้วยเช่นกัน ซึ่งเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีในพื้นที่ภาคกลาง ส่วนใหญ่มีที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำสำคัญอย่างคลองหรือแม่น้ำสายหลัก เพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำในชีวิตประจำวัน การเกษตรกรรม และใช้เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อกัน เช่น เมืองนครปฐมโบราณ ตั้งอยู่ใกล้กับคลองบางแก้วที่ต่อไปยังแม่น้ำนครชัยศรีเมืองคูบัว ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำอ้อมซึ่งเป็นแม่น้ำแม่กลองสายเก่า เมืองอู่ทอง อยู่ใกล้กับแม่น้ำจรเข้สามพัน เป็นต้น เมืองโบราณหลายเมืองยังตั้งอยู่ใกล้แนวชายฝั่งทะเลเดิม เรือสินค้าจากต่างภูมิภาคสามารถเดินทางเข้าไปยังเมืองโบราณได้โดยใช้เส้นทางแม่น้ำสายหลักที่อยู่ใกล้เมือง ส่งผลให้เมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีหลายเมืองมีฐานะเป็นเมืองท่าค้าขาย-จุดแลกเปลี่ยนสินค้าต่าง ๆ ทั้งสินค้าท้องถิ่นและสินค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็นช่วงที่เส้นทางการค้า “เส้นทางสายไหมทางทะเล” เจริญรุ่งเรือง เทคโนโลยีการเดินเรือมีความก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้การเดินเรือข้ามทวีปสามารถทำได้ เกิดเป็นเครือข่ายการค้าตามเส้นทางสายไหมทางทะเล” (ที่มา : https://www.silpa-mag.com/history/article_13859)

(4) จากการศึกษาเอกสารงานการค้นคว้าอิสระของนายเสาวพงษ์ ยมาพัฒน์ นักศึกษาหลักสูตรศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2554 เรื่อง “อู่ทองในเครือข่ายการค้าโลกโบราณ” พบข้อความสำคัญหลายประการ กล่าวคือ “(1) เมืองอู่ทองโบราณ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ราบภาคกลาง ทางทิศตะวันตกของตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (ในปัจจุบัน) มีเนื้อที่ประมาณ 976 ไร่เศษ ตัวเมืองตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจรเข้สามพัน ที่ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี (ซึ่งหากพิจารณาในสภาพภูมิศาสตร์โบราณ เมืองอู่ทองนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเลโบราณ) (2) เมืองอู่ทองถือว่าเป็นเมืองโบราณที่สำคัญและมีร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงสมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 11-16) โดยมีการติดต่อค้าขายกับโลกโบราณมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 3 (ราว พ.ศ. 300) เป็นต้นมา และเจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8-9 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 11-12 (3) จากหลักฐานทางโบราณคดี แสดงให้เห็นว่า “เมืองอู่ทอง” เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาและเมืองท่าที่สำคัญของรัฐทวารวดี และเป็นหนึ่งในเครือข่ายการค้าโลกโบราณในช่วงพุทธศตวรรษที่ 3-16 จึงเริ่มลดบทบาทลง โดยมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำและการเปลี่ยนแปลงเส้นทางทางการค้ารวมทั้งเพิ่มบทบาทของอาณาจักรศรีวิชัยที่อยู่ทางตอนใต้ (4) การติดต่อค้าขายกับโลกภายนอกของเมืองอู่ทองที่สำคัญ คือ การติดต่อค้าขายทางทะเลกับชาติกับเปอร์เซีย อินเดีย และจีน”

(5) หากนำข้อเท็จจริงและข้อสันนิษฐานตามความเห็นของ ดร. ตรงใจ หุตางกูร ที่ว่า “ในสมัยทราวดีนั้น ชายฝั่งทะเลโบราณยุคทวารวดี อยู่แถวๆ บางขุนเทียน กทม. ไม่ไกลจากศาลพันท้ายนรสิงห์ คลองโคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร (ใกล้ถนนพระราม 2) มิใช่ มาประกอบกับข้อเท็จจริงและข้อสันนิษฐาน ตาม (1) (2) (3) และ (4) ข้างต้น อาจนำไปสู่การตั้ง “ข้อสันนิษฐานใหม่” ว่า “ชุมชนท่าจีน” และชื่อ “แม่น้ำท่าจีน” มาจากการเป็นท่าจอดเรือสินค้าของต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เรือสำเภาจีน” ที่มาค้าขายกับเมืองอู่ทองในสมัยทวารวดี ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำท่าจีน ผ่านลำน้ำ “จรเข้สามพัน” ที่เป็นสาขาของแม่น้ำท่าจีน จึงเป็นที่มาของชื่อ “ท่าจีน” นั่นเอง และถ้าเป็นเช่นนี้จริง เรา “อาจกล่าวได้ว่า “ชุมชนท่าจีน” ที่เมืองสมุทรสาครนี้ น่าจะมีอายุระหว่าง 1,000-1,500 ปี และเป็นชุมชนชาวจีนที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของไทยในอดีต” ก็เป็นได้

น่าเสียดายครับ ผมเคยเสนอให้หน่วยงานของรัฐหลายแห่ง ทั้งในระดับจังหวัดและท้องถิ่น ให้มีการสนับสนุนงบวิจัยเพื่อศึกษาถึงความเป็นมาเป็นไปของชื่อ “ท่าจีน” ไม่ว่าจะเป็นชื่อ “ชุมชนท่าจีน” หรือ “แม่น้ำท่าจีน” เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีหลักฐานยืนยันและอ้างอิงได้ แต่น่าเสียดายครับ ไม่มีใครสนใจเลย

ปีนี้ก็เป็นอีกปีหนึ่งที่เราจะเฉลิมฉลอง “ความไม่รู้ที่มาที่ไปของรากเหง้า” กันอีก

หรือเพราะ “งานวิจัยที่ผมเสนอมันไม่มีเงินทอน ไม่เหมือนงาน Event” ที่ชอบจัดกันในทุกภาคส่วนของรัฐกันแน่ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *