โรงพยาบาลบางมดสาขาใหม่ ปักหมุดย่านพันท้ายฯ ชิงลูกค้าเอกชน 9 แห่ง-คลีนิกเวชกรรม

ป้ายไวนิลระบุว่า “เตรียมพบกับโรงพยาบาลบางมดสาขาใหม่” ถูกติดไว้ที่รั้วคอนกรีตบนที่ดินกว่า 6 ไร่ ริมถนนพระรามที่ 2 ย่านวัดพันท้ายนรสิงห์ หมู่ที่ 1 ต.บางน้ำจืด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เสมือนว่ากำลังจะมีโรงพยาบาลใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่

เมื่อพิจารณาจากทำเลที่ตั้งพบว่าอยู่บนถนนพระรามที่ 2 ขาเข้ากรุงเทพฯ เลยปากซอยสถานีอนามัยบางน้ำจืด ถัดจากอาคารร้างสูง 7 ชั้น ที่เคยเป็นโรงงานผลิตแม่พิมพ์มาเล็กน้อย ถัดจากที่ดินมาไม่ไกลจะเป็นทางเข้าหอพัก และปั๊มน้ำมันบางจาก

เดิมรั้วสังกะสีที่เปรียบเสมือนทางเข้าที่ดิน ถูกปิดด้วยแผ่นสังกะสีสีแดง แต่เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีการเปลี่ยนรั้วสังกะสีใหม่เป็นแผ่นสีขาว พร้อมติดโฆษณาประกันสังคม 2567 โรงพยาบาลบางมด ทั้งภาษาไทยและภาษาพม่า

กระทั่งมาล่าสุดถึงมีการติดป้าย “เตรียมพบกับโรงพยาบาลบางมดสาขาใหม่” ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะมีขนาดเตียงเท่าใด เพราะหากเป็นโรงพยาบาลขนาดมากกว่า 60 เตียงขึ้นไป ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาอนุมัติ

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี 2566 เคยมีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เคยติดป้ายโครงการก่อสร้างโรงพยาบาล บริเวณตรงข้ามมหาชัยเมืองใหม่ ต.คอกกระบือ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร แต่สุดท้ายก็เงียบหายไป

แต่ถึงกระนั้น ยังมีเครือโรงพยาบาลเอกชนตั้งคลีนิกเวชกรรมย่านถนนเจษฎาวิถี-พันท้ายนรสิงห์ อาทิ พีเอ็มจีสินสาคร คลินิกเวชกรรม ของกลุ่มโรงพยาบาลพีเอ็มจี ก่อตั้งเมื่อปี 2565 และ คลินิกเวชกรรมศิครินทร์ (สินสาคร) ของเครือโรงพยาบาลศิครินทร์

ยังคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า โรงพยาบาลบางมดสาขาใหม่ ย่านพันท้ายนรสิงห์ จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และรูปแบบจะเป็นอย่างไร

สำหรับโรงพยาบาลบางมด ถือกำเนิดขึ้นเป็นโรงพยาบาลภาคเอกชนแห่งแรก ในย่านถนนพระราม 2 แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ขณะนั้นเรียกว่าถนนธนบุรี-ปากท่อ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นย่านที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดในประเทศ

จุดเริ่มต้นมาจากคลินิก และขยายเป็นโพลิคลินิก แต่เมื่อทำเคสอุบัติเหตุจำนวนมากและมีผู้ป่วยมากขึ้น จึงขยายเป็นขนาด 50 เตียงเมื่อตอนปี 2526 กระทั่งได้ก่อตั้งโรงพยาบาลบางมด ขนาด 100 เตียงขึ้นเมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม 2531

ต่อมาเมื่อปี 2538 ได้ขยายเพิ่มขึ้นเป็นโรงพยาบาล ขนาด 400 เตียง เพื่อให้บริการประชาชนทั่วไปในย่านถนนพระรามที่ 2 และพื้นที่ใกล้เคียง แต่ภายหลังได้ปรับเปลี่ยนเป็นขนาด 203 เตียง ตามสำนักสถานพยาบาลและกองประกอบโรคศิลปะกำหนด

โรงพยาบาลบางมด ได้พัฒนาศูนย์ศัลยกรรมความงาม มุ่งเน้นการศัลยกรรมในเชิงการรักษาทางการแพทย์เป็นหลัก เพื่อแก้ไขปัญหาของคนไข้ให้ตรงจุด และปลอดภัยที่สุด กระทั่งเปิดคลีนิก The Lux Clinic by Bangmod ย่านสุขุมวิท เมื่อปี 2562

ปัจจุบัน จังหวัดสมุทรสาครมีโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่ง รวม 1,059 เตียง ประกอบด้วย

  • โรงพยาบาลมหาชัย จำนวน 180 เตียง
  • โรงพยาบาลมหาชัย 3 จำนวน 100 เตียง
  • โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล สมุทรสาคร จำนวน 120 เตียง
  • โรงพยาบาลเจษฎาเวชการ จำนวน 10 เตียง
  • โรงพยาบาลเอกชัย จำนวน 142 เตียง
  • โรงพยาบาลวิภาราม สมุทรสาคร จำนวน 100 เตียง
  • โรงพยาบาลพานาซี พระราม 2 จำนวน 11 แห่ง
  • โรงพยาบาลมหาชัย 2 จำนวน 200 เตียง
  • โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย จำนวน 196 เตียง

เมื่อรวมกับโรงพยาบาลของรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมุทรสาคร จำนวน 623 เตียง โรงพยาบาลกระทุ่มแบน จำนวน 300 เตียง และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จำนวน 300 เตียง จะทำให้จังหวัดมีเตียงคนไข้รวมกัน 2,282 เตียง

นอกจากนี้ ยังมีสถานพยาบาลเอกชนในรูปแบบอื่นๆ ได้แก่ คลีนิกเวชกรรม 131 แห่ง คลีนิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม 20 แห่ง คลีนิกทันตกรรม 55 แห่ง คลีนิกเฉพาะทางด้านทันตกรรม 2 แห่ง คลีนิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ 115 แห่ง คลีนิกเฉพาะทางด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ 2 แห่ง

คลีนิกการแพทย์แผนไทย 6 แห่ง คลีนิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์ 1 แห่ง คลีนิกกายภาพบำบัด 8 แห่ง คลีนิกเทคนิคการแพทบ์ 6 แห่ง สหคลีนิก (เวชกรรมและทันตกรรม) 4 แห่ง คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย 1 แห่ง และคลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีน 3 แห่ง เป็นต้น

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *