
สมุทรสาครจัดประชุมทบทวนแผนพัฒนาจังหวัด 5 ปี และจัดทำแผนปฏิบัติราชการ ปี 67 เพื่อยกระดับคุณภาพแผนพัฒนาจังหวัดให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับแผนระดับชาติ
วันนี้ (21 ก.ค.) เวลา 09.00 น. นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนแผนพัฒนาจังหวัด 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) และการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของจังหวัดสมุทรสาคร ณ ห้องประชุมแกรนด์นรสิงห์ โรงแรมแกรนด์ อินเตอร์ โฮเทล ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยมี นายไชยยศ วิทยา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร ผู้แทนส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งสิ้น 150 คน ได้รับเกียรติจาก ผศ.หนึ่งฤทัย เอกธรรมทัศน์ ผู้ช่วยอธิการบดี และอาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นวิทยากร และ น.ส.ชฎาพร นัยชิต ผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณเขตที่ 14 เป็นผู้ตอบข้อซักถามในประเด็นการจัดทำงบประมาณของจังหวัด



นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวได้จัดขึ้นตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้จังหวัดจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับชาติ และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นในจังหวัด และ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ.2565 ที่กำหนดให้คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด โดยคำนึงถึงปัญหา ความต้องการ และศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ของจังหวัด รวมถึงความพร้อมของภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน และยุทธศาสตร์ระดับชาติ จังหวัดสมุทรสาครจึงได้จัดประชุมดังกล่าว เพื่อยกระดับคุณภาพแผนพัฒนาจังหวัดและแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดสมุทรสาคร ให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับแผนระดับชาติ ปัญหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และเชื่อมโยงสอดคล้องกันในทุกระดับเพื่อให้เป็นแผนเดียวกัน



สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสมุทรสาคร เป้าหมายการพัฒนาจังหวัดสมุทรสาคร คือ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เมืองเกษตรและอาหารปลอดภัยที่มีมาตรฐานสากลและมูลค่าสูง ท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ สังคมน่าอยู่สู่เมืองแห่งสุขภาวะที่ดีและยั่งยืน” ส่วนประเด็นการพัฒนาจังหวัดสมุทรสาคร ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1 การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อน สู่เมืองเศรษฐกิจมูลค่าสูง จากฐานการอุตสาหกรรม การเกษตร และการประมงแบบครบวงจร การท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน (High Value Economy City), ประเด็นที่ 2 การสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน (Sustainable Development City) และประเด็นที่ 3 การเสริมสร้างเมืองน่าอยู่ มีความมั่นคง คุณภาพชีวิต คุณภาพการศึกษา และชุมชนเข้มแข็ง (Well-Being City)

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ