
“วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์” อดีต สว.ภาควิชาชีพ ร่วมกับวิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเวทีเสวนา “สภาสาครบุรี” บทบาทภาคการศึกษาในการพัฒนาจังหวัดสมุทรสาคร หารือระหว่างภาคประชาชนกับทาง มช.
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 20 ม.ค. 2567 ที่ห้องประชุมวิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จังหวัดสมุทรสาคร ต.ท่าจีน อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ได้มีการจัดเสวนา “สภาสาครบุรี” บทบาทภาคการศึกษาในการพัฒนาจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาภาควิชาชีพ ในฐานะกรรมการอำนวยการประจำวิทยาลัยฯ ร่วมกับ รศ.ดร.สุธี วังเตือย รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยฯ มีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานเสวนา รวมถึง นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส. สมุทรสาคร เขต 1 นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายศาวงษ์ จุ้ยเจริญ อุปนายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร เข้าร่วมด้วย





โดย รศ.ดร.สุธี วังเตือย รักษาการแทนคณบดีฯ เริ่มต้นการเสวนาด้วยหัวข้อ “มช.กับการรับใช้สังคม” ซึ่งกล่าวถึงความเป็นมาของวิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดสมุทรสาคร เริ่มต้นจากการจัดตั้ง “ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดสมุทรสาคร” เมื่อปี 2544 โดยได้เปิดสอนระดับปริญญาโท หลักสูตรสาขาวิชาบริหารธุรกิจภาคพิเศษ (Ex-MBA) ที่โรงเรียนสมฤดีสมุทรสาคร
ต่อมาเมื่อปี 2553 ได้รับความอนุเคราะห์ที่ดิน 5 ไร่ 4 งาน 10 ตร.ว. จากคุณแม่เง็กเน้ย ศิริชัยเอกวัฒน์ และครอบครัว มอบให้เป็นพื้นที่จัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยก่อสร้างอาคารเรียน 3 ชั้นหลังแรก และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อ 20 ส.ค. 2554 ต่อมาได้มีการพัฒนายกระดับขึ้นมาเป็น “วิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล” ได้รับการอนุมัติจัดตั้งเป็นส่วนงานภายใต้ ม.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2560 มีฐานะเทียบเท่า 1 ใน 25 คณะของมหาวิทยาลัย
โดยวิทยาลัยฯ มีเป้าหมายในการจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา และการวิจัยเชิงบูรณาการระหว่างศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อตอบสนองของความต้องการของพื้นที่ ด้วยวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรที่สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมการจัดการทางทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” มีหลักสูตรแบ่งออกเป็น ระดับปริญญาโท ได้แก่ สาขาวิชานวัตกรรมอาหารและอุตสาหกรรมชีวภาพ และสาขาเทคโนโลยีและสหวิทยาการจัดการ กลุ่มวิชาพาณิชยนาวีและการค้าระหว่างประเทศ, ระดับปริญญาเอก ได้แก่ สาขาวิชานวัตกรรมอาหารและอุตสาหกรรมชีวภาพ และหลักสูตรระดับประกาศนียบัตร Credit banking รวมถึงหลักสูตรระยะสั้นที่ตอบสนองต่อกลุ่มผู้เรียน และงานวิจัยร่วมกับชุมชนหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น




ขณะที่ ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาภาควิชาชีพ ได้เสวนาในประเด็นบทบาทการศึกษากับการพัฒนาจังหวัดสมุทรสาคร และการจัดตั้งสภาสาครบุรี พร้อมระดมความคิดเห็นโดยภาคประชาชน ซึ่ง ดร.วิชาญ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดเสวนาในครั้งนี้ คือ เพื่อแนะนำวิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดสมุทรสาคร และให้ภาคประชาชนร่วมกันสะท้อนว่า อยากให้ทาง มช. ทำอะไรให้คนสมุทรสาคร
รวมถึงบทบาทภาคเอกชนในส่วนของการพัฒนาจังหวัด โดยเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว มีภาคประชาชนเคยมีความคิดที่จะจัดตั้งสภาสาครบุรี แต่เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ทำให้แนวคิดดังกล่าวเงียบหายไป ในฐานะที่ตนเป็นชาวสมุทรสาคร อยากให้มีการรวมกลุ่มเปิดเวทีในการพูดคุยกันในฐานะของภาคเอกชน เป็นสภาประชาชน ให้ประชาชนมาพูดคุยกันเกี่ยวกับอนาคตของบ้านเมือง นอกจากเวทีของทางภาคราชการที่เปิดเฉพาะหน่วยงาน สมาคม หรือองค์กร





ในส่วนของผู้เข้าร่วมงานเสวนา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับวิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดสมุทรสาคร ทั้งแนะนำเรื่องการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนใน จ.สมุทรสาคร โดยการทำการตลาดเชิงรุก รวมถึงส่งเสริมให้นักเรียนในระดับชั้น ม.ปลาย ใน จ.สมุทรสาคร สนใจที่จะขอโควตาเข้าศึกษาต่อที่ มช. และผู้ประกอบการต่าง ๆ ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ วิเคราะห์และพัฒนาผลิตภัณฑ์กับทางวิทยาลัยฯ ตลอดจนเสนอแนะให้จัดตั้งโรงเรียนสาธิตฯ ที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อเชื่อมโยงการศึกษาต่อที่ มช. และให้เปิดหลักสูตรอื่นนอกจากการจัดการทางทะเล อีกทั้งให้นักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีได้เรียนที่ จ.สมุทรสาคร ตลอด 4 ปี
ส่วนในเรื่องการรวมกลุ่มจัดตั้งสภาประชาชนนั้น ทุกฝ่ายเห็นชอบที่จะให้เกิดเวทีดังกล่าวเพื่อนำเสนอปัญหา และแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาบ้านเมืองของ จ.สมุทรสาคร ต่อไป โดยจะมีการพบปะพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ ทุกวันเสาร์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน
สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง