ทล. เร่งฟื้นฟู ถ.พระราม 2 คืนความสะดวก ปชช. – เปิดแผนรื้อย้าย คาดคืนพื้นที่จราจร 14 ธ.ค.

อธิบดีกรมทางหลวง ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าเตรียมความพร้อมรื้อย้ายโครงเหล็ก LG.-ชิ้นส่วนพื้นสะพาน เร่งฟื้นฟูถนนพระราม 2 มุ่งคืนความสะดวกประชาชนโดยเร็ว ส่วนหน้างานวางเครน และเซ็นเซอร์ตรวจจับเคลื่อนไหวแล้ว – เปิดแผนงานรื้อย้าย ระยะเวลา 14 วัน

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 3 ธ.ค. 2567 นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการดำเนินการเตรียมความพร้อมในการยกทรัส หรือโครงเหล็กที่ติดค้างอยู่ด้านบนลงมาสู่พื้นถนน จากเหตุการณ์โศกนาฎกรรม โดยขณะนี้มีการวางเครนยึดทั้ง 6 ตัวตามจุดต่าง ๆ และติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ที่สำคัญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างรอการประเมินจากทีมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญว่าจะทำการยกตรงส่วนไหนและยกลงมาอย่างไร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังพบว่า วันนี้ตรงบริเวณหน้างานยังมีการทำพิธีไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ตามความเชื่ออีกด้วย

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง  เปิดเผยว่า ปัญหาสำคัญเร่งด่วนในวันนี้คือการแก้ไขปัญหาถนนพระราม 2 ตามคำสั่งของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สำหรับภาพรวมของการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน คือ การจัดทางเบี่ยงให้แก่รถที่ลงสู่ภาคใต้ ซึ่งก็จะช่วยบรรเทาการจราจรที่ติดขัดลงได้ นอกจากนี้ ยังได้มีการเข้าหน้างานเพื่อวิเคราะห์นำทรัส (โครงเหล็ก) ลงมาซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายหน่วยงาน อาทิ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) สภาวิศวกร และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันประเมินสภาพโครงสร้าง วิเคราะห์ความเสี่ยง และกำหนดวิธีการรื้อถอนที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ

และล่าสุดได้นำเครื่องจักรหนัก อาทิ เครนขนาดใหญ่ 550 ตัน จำนวน 2 จุด เครนขนาด 400 ตัน จำนวน 1 จุด และเครนขนาด 360 ตัน จำนวน 2 จุด รถยก รถบรรทุก  และเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาเตรียมการอยู่ในพื้นที่ ตลอดจนจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย อุปกรณ์ป้องกัน และมาตรการควบคุม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมทางหลวงตระหนักถึงความสำคัญในการฟื้นฟูเส้นทางคมนาคม และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จึงเร่งดำเนินการทุกวิถีทาง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และประชาชนเป็นสำคัญ

อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการทำงานเบื้องต้นนั้น เราจะนำโครงสร้างทรัส (โครงสร้างเหล็ก) ที่หักลงมาพร้อมกับแท่งปูน 3 แท่งที่ยังคงห้อยอยู่ลงมาก่อน แต่จะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไหร่ก็ต้องรอให้ทางทีมผู้เชี่ยวชาญสรุปออกมาเป็นที่ชัดเจน ซึ่งจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะ ส่วนการเคลื่อนตัวของโครงเหล็กหรือคานเหล็กที่หักพังนั้น จากการตรวจวัดด้วยเซ็นเซอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ยังไม่พบการเคลื่อนตัว แต่ถ้ามีการยกทรัสและแท่งปูนเมื่อไหร่ หากพบการเคลื่อนตัวเกิดขึ้น เซ็นเซอร์ก็จะคอยจับและส่งสัญญาณเตือน ขณะที่การยกโครงเหล็กลงนั้น ก็จะทำทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งขาเข้า และขาออก แต่ตอนนี้จะดำเนินการในฝั่งขาออกก่อน เพื่อคืนพื้นผิวการจราจรให้ได้ดังเดิม และรวดเร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บริเวณหน้างานได้มีการติดป้าย “แผนปฏิบัติงานรื้อย้ายโครงสร้าง LG. (Launching Gantry) และชิ้นส่วนพื้นสะพาน” โดยมีขั้นตอนดังนี้

ลำดับที่ 1 เตรียมพื้นที่หน้างาน เป็นเวลา 4 วัน (30 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2567)

ลำดับที่ 2 เก็บข้อมูลและติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัด ตรวจสอบรายการคำนวณ เพื่อวางแผนยก LG. ด้านซ้ายทาง (LT) ฝั่งขาออก กทม. และชิ้นส่วนพื้นสะพานที่ค้างอยู่ เป็นเวลา 12 วัน (30 พ.ย. – 12 ธ.ค. 2567)

ลำดับที่ 3 เคลื่อนย้ายรถเครนขนาดใหญ่เข้าพื้นที่ เป็นเวลา 3 วัน (1 – 3 ธ.ค. 2567)

ลำดับที่ 4 รถเครนเข้าตำแหน่ง เพื่อรื้อย้าย LG. และชิ้นส่วนพื้นสะพานที่ค้างอยู่ เป็นเวลา 6 วัน (4 – 9 ธ.ค. 2567) โดยแบ่งเป็นชิ้นส่วนสะพาน 3 วัน และ LG. ด้านซ้ายทางอีก 3 วัน

ลำดับที่ 5 เก็บข้อมูลโครงสร้างของ LG. ด้านขวาทาง (RT) ฝั่งขาเข้า กทม. เป็นเวลา 7 วัน (4 – 10 ธ.ค. 2567)

ลำดับที่ 6 ยกชิ้นส่วนพื้นสะพานด้านขวาทางลง และนำไปเก็บที่โรงหล่อ เป็นเวลา 4 วัน (10 – 13 ธ.ค. 2567)

ลำดับที่ 7 เคลื่อน LG. ด้านขวาทาง ถอยหลังมาบนพื้นสะพาน เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ก่อนการใช้งาน เป็นเวลา 1 วัน (13 ธ.ค. 2567)

ลำดับที่ 8 คืนพื้นที่จราจร วันที่ 14 ธ.ค. 2567 รวมระยะเวลาดำเนินการ 14 วัน

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *