เผยกุ้งไทย 3 ปีเจอโรค “อีเอ็มเอส” สูญกว่า 5 แสนตัน ซ้ำเจอสหรัฐฯ-ยุโรปบีบ

ภาพแรก และ Thumbnail

เสวนากุ้งไทยก้าวต่อไปอย่างไรในยุคหลังโรคตายด่วนอีเอ็มเอส ชี้เป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของกุ้งไทย สูญกว่า 5 แสนตันใน 3 ปี ซ้ำตัดสิทธิ์จีเอสพีสหรัฐฯ ละเมิดกฎไอยูยูของสหภาพยุโรป แนะปรับตัวหาตลาดใหญ่ เล็งตะวันออกกกลาง-ยุโรปตะวันออก-อาเศียน ด้านตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเสนอภาคราชการตรวจสอบคุณภาพน้ำและลูกกุ้ง สัตวแพทย์จุฬาฯ ชี้กุ้งอ่อนแออาจเกิดจากเชื้อปรสิตบางตัว ฝากให้ความสำคัญ

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ห้องประชุม 401 ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “อุตสาหกรรมกุ้งไทยจะก้าวต่อไปอย่างไรในยุคหลัง EMS” โดยมีผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยในช่วงแรกเป็นการกล่าวแนะนำแนวทางและรูปแบบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โดยนายเชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จากนั้นเป็นการบรรยายนำเสนอในหัวข้อ “การผลิตกุ้งไทยในยุคหลัง EMS” โดยนายพุทธ ส่องแสงจินดา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล กรมประมง

นายพุทธ อธิบายถึงสถานการณ์ผลผลิตกุ้งทะเลตั้งแต่ก่อนและหลังโรคอีเอ็มเอสระบาด ว่า โรคกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ระบาดขึ้นมาในช่วงปี 2555 ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมกุ้งไทยและกุ้งโลก ผลผลิตกุ้งไทยลดลงมาเรื่อยๆ จากกว่า 5 แสนตัน จนเหลือเพียงแค่ประมาณ 2 แสนตันในช่วง 2 ปีหลัง รวมผลผลิตที่สูญเสียช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้นมากถึง 529,000 ตัน

โดยโรคกุ้งตายด่วนอีเอ็มเอส หรือโรคตับวายเฉียบพลัน (Acute Hepatopancreatic Necrosis Disease: AHPND) นั้น เกิดจากแบคทีเรีย ชนิดวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) ที่มียีนในพลาสมิคสร้างสารพิษเข้าไปทำลายตับ ทำให้กุ้งตายตั้งแต่ 10-45 วัน หลังปล่อยลงเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งในปัจจุบันกรมประมงได้มีการควบคุมเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคดังกล่าวแล้ว โดยเน้นการคัดกรองเชื้อโรค ปรับสุขอนามัยในการผลิต โดยเฉพาะการผลิตลูกกุ้งคุณภาพที่มีความแข็งแรง เพิ่มอัตราการรอดตาย จัดการสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงมีสารอินทรีย์ต่ำ

ส่วนสถานภาพและปัญหาของอุตสาหกรรมกุ้งไทยยุคหลังอีเอ็มเอส จำนวนผลผลิตกุ้งไทยเมื่อเทียบกับกุ้งทั่วโลกนั้นมีสัดส่วนลดลง พื้นที่ของไทยเองมีจำกัด ไม่เกิน 450,000 ไร่ และมีความเสี่ยงโรคระบาดใกล้เคียงกันกับที่อื่น มีแหล่งน้ำและดินหมักหมมสารอินทรีย์ ทรัพยากรน้ำก็มีจำกัด ทั้งยังมีต้นทุนแฝงสูง จากค่าเงินที่สูงกว่า ด้วยข้อกำหนดทางการค้า ไทยมีปัญหารุมเร้าเกี่ยวกับตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP, แรงงานทาส การประมงที่ผิดกฎหมาย IUU

แต่กระแสในเชิงบวกนั้น ไทยได้รับการยอมรับด้านความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) มีเทคโนโลยีการผลิตและการส่งออก คุณภาพของกุ้งดีกว่า และยังเป็นผู้นำด้านการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) แต่สูญเสียด้านการตลาดไป ซึ่งการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นั้นเป็นโอกาสปรับตัวของอุตสาหกรรมกุ้งในประเทศไทย สามารถใช้ประเทศต่างๆ เป็นฐานการผลิตหรือตลาดส่งออก มีศักยภาพและสิทธิพิเศษด้านการค้าในแต่ละประเทศ

ต่อมานายกีรติ รัชโน กองบริหารการค้าสินค้าทั่วไป กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวบรรยายในหัวข้อ “การส่งออกกุ้งไทยในยุคหลัง EMS” โดยมีในเรื่องของมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี ในส่วนของมาตรการภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (AD) ซึ่งสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการใช้มาตรการนี้กับสินค้ากุ้งแช่แข็งของไทย โดยจะทบทวนอากรประจำปี และจะประกาศผลในวันที่ 9 มี.ค. 2559

โดยก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ได้เคยเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) กับสินค้ากุ้งแช่แข็งของไทย แต่ปัจจุบันได้ยุติการไต่สวนแล้วตั้งแต่ 6 ก.ย. 2556 นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของ แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ ซึ่งสหรัฐฯ ได้มีกฎหมายของรัฐบาลกลางฉบับต่างๆ ควบคุมอยู่ และจะมีการประกาศรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report 2015) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. นี้

ส่วนสหภาพยุโรปนั้นมีในส่วนของ กฎหมายอียู เกี่ยวกับ IUU ซึ่งได้ให้ใบเหลืองแก่ไทยไปเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมีระยะเวลา 6 เดือนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แม้ว่าจะยังไม่มีผลให้สหภาพยุโรปห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากไทย แต่ก็มีผลด้านภาพลักษณ์และจิตวิทยาต่อผู้บริโภคมากพอสมควร รัฐบาลปัจจุบันได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่ในขณะนี้ ในส่วนของสิทธิพิเศษจีเอสพีของสหรัฐฯ ได้ตัดสิทธิในสินค้ากุ้งชุบแป้งทอด กุ้งกระป๋อง และกุ้งที่จับจากทะเล ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2553 ส่วนสหภาพยุโรปตัดสิทธิในสินค้ากุ้งปรุงแต่ง ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2557 ส่วนสินค้ากุ้งสด กุ้งแช่แข็ง กุ้งแช่เย็น กุ้งรมควัน ตัดสิทธิไปเมื่อ 1 ม.ค. 2558

ในเรื่องการส่งออกของไทยช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 ตลาดส่งออกสินค้าประมง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 5 อันดับแรกคือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ออสเตรเลีย และอาเซียน (9 ประเทศ) ซึ่งต่างมีอัตราการขยายตัวต่างลดลง และในส่วนของตลาดส่งออกกุ้ง 5 อันดับแรกเป็นของ สหรัฐฯ อาเซียน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน โดยอัตราการขยายตัวของอาเซียนและจีนเพิ่มขึ้น แต่สำหรับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปนั้นลดลง

โดยสถานการณ์ตลาดโลกในตอนนี้ ในสหรัฐฯ มีตลาดในเครือซุปเปอร์มาร์เก็ตที่สำคัญคือ Costco และ Walmart ในส่วนของลูกค้าธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดในสหรัฐฯ ต้องขายในปริมาณมากเท่านั้น หากขายไม่ได้เพราะราคาสูงเกิน ก็จะถอดสินค้าออกจากชั้น สำหรับตลาดญี่ปุ่นแล้ว ยังคงเป็นตลาดสินค้าซูชิที่สำคัญ แต่เนื่องจากกุ้งไทยมีราคาสูงทำให้นำเข้าลดลง ตั้งแต่ปลายปี 2556 ผู้ประกอบการเริ่มขายไม่ได้ เพราะราคาสินค้าแพงขึ้นเป็นสองเท่า และตลาดสหภาพยุโรป ไทยมีต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มขึ้น หลังจากได้ถูกตัดสิทธิจีเอสพี สำหรับสินค้ากุ้งแปรรูปมาตั้งแต่ปี 2557 ทำให้ยังไม่มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดยุโรปได้

ในการบรรยายช่วงท้าย นายกีรติได้กล่าวถึงแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมผลิตกุ้ง คือ ต้องหาตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และในกลุ่มอาเซียน อีกทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าประมงไทย มุ่งเน้น 4 องค์ประกอบหลักคือ มาตรฐานความปลอดภัยอาหาร ตรวจสอบย้อนกลับได้, ความสามารถในการรับออเดอร์ จัดหาและส่งมอบจำนวนมากได้, ความหลากหลายของสินค้าให้ตรงความต้องการของลูกค้า และความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน ตรงเวลา

จากนั้นจึงเป็นการประชุมกลุ่มย่อย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ผู้ค้ากุ้งในตลาดกลางค้ากุ้ง และกลุ่มผู้แปรรูปกุ้ง ได้แก่ ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปกุ้ง ห้องเย็น หรือล้งผู้ส่งออกกุ้ง ซึ่งได้มีการสำรวจและบรรยายสรุปในช่วงท้ายของการสัมมนา โดยนายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนในส่วนของผู้ประกอบการ ได้กล่าวถึงการลงทุนในต่างประเทศสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ถ้าภาครัฐช่วยในเรื่องการศึกษากฎระเบียบ การลงทุน เป็นข้อมูลเบื้องต้นให้ภาคเอกชน ก็จะทำให้การลงทุนนั้นไม่เริ่มต้นที่ศูนย์ อีกทั้งยังมีเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบ แรงงานที่ยังขาดแคลน การเข้าถึงแหล่งทุน การออกใบประทวนสินค้า ที่อยากจะให้ทางภาครัฐช่วยในเรื่องดังกล่าวเหล่านี้

นายกีรติ ได้กล่าวถึงในประเด็นที่กระทรวงพานิชย์เกี่ยวข้อง เรื่องการพัฒนารูปแบบสินค้าที่ดีกว่าหลายประเทศ แต่ยังขาดปัจจัยส่งเสริมที่จะทำให้ติดตลาด ในส่วนของการนำเข้าวัตถุดิบ ทางกระทรวงพานิชย์มีมาตรการดูแลให้เป็นมาตรฐานปกติในเรื่องสุขอนามัยอยู่แล้ว อีกทั้งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการให้การนำเข้าวัตถุดิบ ประเด็นเรื่องประชาคมเศรษบกิจอาเซียน (AEC) ที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิต แต่ยังขาดในเรื่องข้อมูลที่จะสนับสนุนในต่างประเทศ ซึ่งทางกระทรวงพานิชย์มีทูตพานิชย์อยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วอาเซียนพร้อมช่วยเหลือในด้านข้อมูล

ส่วนเรื่องของตลาดส่งออกหลังจากถูกตัดจีเอสพี คงมีช่องทางอื่นๆ คือ เขตการค้าเสรี (FTA) ของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่ตอนนี้ยังไม่อยากเจรจา ต่อไปถ้าเจรจาสำเร็จ จีเอสพีอาจไม่จำเป็น ในเรื่องประเด็นอื่นๆ เห็นด้วยในเรื่องการปรับปรุงสายพันธุ์ การรวมกลุ่มสหกรณ์ และการเพาะเลี้ยง ในเรื่องแหล่งเงินทุน เมื่อมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่นกระทรวงการคลัง จะได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาให้ในที่ประชุม สุดท้ายในเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ทั้งแรงงานข้ามชาติและแรงงานฝีมือ เป็นปัญหาทุกภาคส่วน มีกระทรวงแรงงานพยายามจะช่วยแก้ปัญหานี้อยู่

นายพุทธ ได้กล่าวถึงการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง และคิดว่าจะทำอย่างไรให้ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการเข้าหาสหกรณ์เหล่านั้น ที่ผ่านมามีการส่งเสริม แต่ประสบความสำเร็จน้อยมาก ในสถานการณ์ที่กุ้งมีน้อย ต้องการบริหารจัดการเพื่อคุณภาพและประสิทธิภาพ สิ่งที่ขาดคือความไว้เนื้อเชื่อใจกันในระหว่างห่วงโซ่แต่ละห่วง เพราะแยกกันอยู่และไม่แชร์ข้อมูลกัน เวลาเข้ามาพูดคุย ต่างคนต่างมองในส่วนที่เป็นปัญหาของตน ก็อยากให้คุยกัน จะเป็นในนามของสมาคมหรือรายย่อยก็ได้

ในเรื่องของกองทุนที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ก็เห็นด้วย เชื่อว่าในอุตสาหกรรมกุ้งก็พยายามหลายรอบ แต่ติดในเรื่องรูปแบบการบริหาร เพราะธุรกิจประกอบการกุ้งมีโวลุ่มสูงถึงแสนล้านบาทในแต่ละปี ต้องคำนวณถ้ามีการดึงเงินออกมากิโลละบาท ก็ได้ปีละ 1-2 พันล้าน หรืออาจถึง 5 พันล้านบาทในแต่ละปี เคยมีการเสนอในวาระของการออก พ.ร.บ.การประมง ให้มีกองทุน สุดท้ายก็ดึงออก เพราะไม่มีความชัดเจนและปฏิบัติไม่ได้ อาจจะมีปัญหากับส่วนอื่นๆ ด้วย ก็ได้มองไปถึงรูปแบบระหว่างภาคเอกชน-เอกชน สามารถตั้งกองทุนระหว่างเกษตรกร-โรงงาน มีเงินส่วนต่างเก็บไว้เป็นกองทุน มีระบบบริหารจัดการ เรื่องเออีซีนั้นก็ได้มียุทธศาสตร์ออกมาบางส่วน แต่ว่ามาเจอปัญหาโรคกุ้งเสียก่อน ในเรื่องตลาดการส่งออก ปัญหาจีเอสพีนั้น ยังมีตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพ และให้ส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ

นายสนิท แดงโพยม ผู้ดำเนินงานกลุ่มเกษตรกรทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง 49 เป็นตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ได้กล่าวว่า กว่า 3 ปีที่ผ่านมายังคงมีปัญหาในเรื่องการเลี้ยงกุ้งไม่ได้ผล ทางสำนักงานประมงจังหวัดนำความรู้ และวิธีการเลี้ยงโดยใช้ปลานิลมาช่วย ซึ่งต้องใช้เงินทุนสูง และทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร ช่วยให้เรื่องความรู้ในการเพาะเลี้ยง และการตรวจเชื้ออีเอ็มเอสในลูกกุ้ง ซึ่งได้ผลที่แม่นยำ และลดความเสี่ยงของโรค ก็ฝากไปยังภาคราชการให้ช่วยเหลือในส่วนของการรับตัวอย่างลูกกุ้งไปตรวจสอบคุณภาพ ตรวจสอบคุณภาพน้ำ มีฟาร์มเพาะเลี้ยงเพื่อตรวจคุณภาพลูกกุ้งก่อนปล่อย ถ้ามีการทำกันอย่างจริงจัง จะได้ผลผลิตที่ทำให้คุ้มได้บ้าง นอกจากนี้ยังพูดถึงการใช้จุลินทรีย์ผลไม้หมักร่วมกับอาหารในการเลี้ยงกุ้งและปลา ซึ่งจะทำให้ได้กลิ่นธรรมชาติ กุ้งและปลามีความแข็งแรง เป็นการรักษาสภาพแวดล้อมในบ่อเลี้ยงด้วย

น.สพ. จิรศักดิ์ ตั้งตรงไพโรจน์ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางกรมประมงได้สนใจกับเชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส เมื่อได้ดูข้อมูลแล้วพบเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังพบปัญหาอีเอ็มเอสอยู่ ซึ่งไม่ได้นึกถึงเชื้อแบคทีเรียตัวอื่น ทางคณะสัตวแพทย์ฯ จุฬาฯ ได้ทำการวิจัยแล้วพบว่าปริมาณเชื้อปรสิต ไมโครสปอริเดียน (Microsporidian) เป็นเชื้อโรคที่อยู่ในเซลล์ของตัวกุ้ง มีปริมาณถึง 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ในกุ้งที่ป่วย มีโอกาสรุนแรงพบได้บ่อย ทำให้กุ้งอ่อนแอและเกิดการตายขึ้น ซึ่งไม่ทราบว่าทางกรมประมงได้ตรวจมากแค่ไหน ซึ่งการตรวจเชื้อตัวนี้ใช้เวลาเพียง 1 วัน ซึ่งได้ฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการตรวจเชื้อตรงนี้ด้วย จะสามารถผ่านพ้นในเรื่องอีเอ็มเอสไปได้

จากนั้นนายสุวันชัย ได้กล่าวทิ้งท้ายในเรื่องของกองทุน ทั้งเรื่องร่าง พ.ร.บ.การประมง อยากให้ศึกษาข้อมูล และการรวมตัวกันของเกษตรกร ก็ฝากทางกรมประมงให้ช่วยร่วมมือกันในการตรวจลูกกุ้ง ให้ศูนย์วิจัยฯ จัดประชุมกับเกษตรกร จัดระบบการรวมตัวของเกษตรกร ซึ่งมีทั้งรูปแบบของสหกรณ์หรือกลุ่ม ซึ่งเป็นนิติบุคคล และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่ไม่เป็นนิติบุคคล และมีการส่งเสริมให้รวมกลุ่มกัน

นางแก้วเก้า เผอิญโชค นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ได้กล่าวปิดการสัมมนา ว่าสมุทรสาครมีผู้ประกอบการและเกษตรกรเยอะมาก ทำให้ได้รับทราบปัญหาที่แท้จริง ทางผู้ประกอบการมีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ การเสนอการย้ายฐานการผลิต ด้านเกษตรกร ก็มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เพราะปัญหายังแก้ไขไม่ได้ ผลผลิตตกต่ำ รายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม น่าจะมีมาตรการของภาครัฐให้ช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะยิ่งนานเกษตรกรก็ยิ่งลำบาก เชื่อมั่นว่าภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งดูดาย ก็ต้องมาพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาตรงนี้ไปได้

ส่วนปัญหาในเรื่องเงินทุน ได้ประชุมกับทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) และทางภาครัฐให้เงินกู้ 4 เปอร์เซ็นต์ สามารถสอบถามได้ที่ สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ซึ่งจะได้มีการประสานไปยังสมาชิกสมาคม ที่ต้องการจะรวมกลุ่มกันเพื่อเก็บข้อมูล หาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ก็หวังว่าทางภาครัฐจะได้ยิน และแก้ไขปัญหานี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

1

2

3

4

5

6

7

8

9

10

11

12

13

14

15

16

17

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง