กกร.สมุทรสาคร เชิญคีย์แมน ‘ขอนแก่นโมเดล’ แนะแนวทางการพัฒนายุค 4.0

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน จ.สมุทรสาคร เชิญนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย อุปนายกสมาคมการผังเมืองไทย และบิ๊กบอส บมจ. ช ทวี เจ้าของแนวคิด “ขอนแก่นโมเดล” ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “สมุทรสาคร กับการพัฒนาสู่ยุค 4.0” มีนักธุรกิจใหญ่ในจังหวัดเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2560 ที่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดสมุทรสาคร (กกร.สค.) ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และชมรมธนาคาร ได้จัดการบรรยายพิเศษ เรื่อง “สมุทรสาครกับการพัฒนายุค 4.0” การขับเคลื่อนศูนย์เศรษฐกิจพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน

โดยมี เทพประสิทธิ์ วงษ์ท่าเรือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย ผู้แทนส่วนราชการ, นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์, ผู้ประสานงาน อบจ.สมุทรสาคร, ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร, คณะกรรมการและสมาชิกหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร, ประธานกลุ่ม YEC หอการค้าฯ, ผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรม และการบริการ รวมถึงผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

ปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การบรรยายพิเศษ “สมุทรสาคร กับการพัฒนาสู่ยุค 4.0” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้ แนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใน จ.สมุทรสาคร รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน เป็นแนวทางการขับเคลื่อนโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมร่วมกัน เพื่อให้เกิดแผนแม่บทการพัฒนาผังเมืองและระบบขนส่งมวลชนต่อไป

ในการนี้ได้เชิญวิทยากร 3 ราย ให้เกียรติบรรยายพิเศษ ได้แก่ “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือภาครัฐและเอกชน” โดย พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย, “ยุทธศาสตร์การพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจจังหวัดสมุทรสาคร ปี 2030” โดย ฐาปนา บุณยประวิตร อุปนายกสมาคมการผังเมืองไทย และ “แนวทางการพัฒนาเมืองด้วยระบบขนส่งมวลชน กรณีศึกษา บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด” โดย สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ช ทวี (CHO) และกรรมการบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด

ประเด็นในการบรรยายโดยสรุป การแก้ไขปัญหาผังเมืองระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย ควรร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน มีการจัดตั้งสมาคมอสังหาริมทรัพย์เพื่อร่วมกันบริหารพื้นที่ พร้อมแนะนำแนวคิดการวางผังเมืองแบบ Smart growth เช่นในสหรัฐอเมริกา ทั้งยังกล่าวถึง จ.สมุทรสาคร ยังไม่สมบูรณ์และสมดุลเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งๆ ที่ GPP อยู่ในอันดับต้นของประเทศ ไม่มีศูนย์โลจิสติกส์ การเชื่อมโยงการขนส่ง

โดยสมุทรสาครจะต้องคิดถึงเรื่องการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจ ที่มีความแข็งแกร่งทั้งเรื่องการค้า การศึกษา การบริการ อุตสาหกรรม โลจิสติกส์ ออกแบบใจกลางเมืองให้มีระบบขนส่ง ให้เชื่อมโยงศูนย์เศรษฐกิจทั้งหมดในจังหวัด และจัดการให้มีความเหมาะสมในการดึงนักลงทุนแต่ละด้าน ซึ่งพื้นที่บริเวณใจกลางเมืองมหาชัยในปัจจุบันเป็น Multimodal transport (การขนส่งต่อเนื่องรายรูปแบบ) ทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และเรือ ก็ให้ ก็ได้แนะนำให้ออกแบบใหม่ให้ดี เป็นศูนย์กลางการเดินทางของประชาชน

และเรื่องแนวทางการพัฒนาเมือง จากกรณีศึกษาของ “ขอนแก่นโมเดล” นั้น การพัฒนาท้องถิ่นจะมัวรอแต่รัฐบาลไม่ได้ ต้องมีการส่วนร่วมของภาคเอกชน รัฐบาล และท้องถิ่น ตามแนวทาง “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ซึ่งการพัฒนาเมืองต้องคำนึงถึงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งนี้ จ.ขอนแก่น ใช้เวลาถึง 7 ปีในการพูดคุยจนประสบผลสำเร็จ จนเป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดอื่นๆ เช่น ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และระยอง

โดยจะมีการออกแบบเมืองให้กระชับ มีที่อยู่อาศัย ที่กิน ที่เที่ยว ที่ทำงานอยู่ใกล้กัน และใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเบาในการขับเคลื่อนเมือง ลดการใช้รถยนต์ พร้อมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน หากสมุทรสาครต้องการพัฒนาสู่ยุค 4.0 ต้องเริ่มเปลี่ยนความคิดใหม่ ไม่ต้องทำใหญ่โต ทำตัวให้เล็กลง ทำงานหนัก มีความเสียสละ มีความร่วมมือกับท้องถิ่น มีอุดมการณ์ต้องการทำให้สมุทรสาครดีขึ้นเพื่อลูกหลาน ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์

ทั้งนี้ การบรรยายพิเศษดังกล่าว จะเป็นแนวคิดที่ทางภาคเอกชนใน จ.สมุทรสาคร จะนำไปศึกษาในเรื่องการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจ การวางผังเมือง การก่อตั้งบริษัทเพื่อพัฒนาเมืองในอนาคตต่อไป

สาครออนไลน์ โดย บัณฑิต รอดดารา และ กิตติกร นาคทอง



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง