โพลวันแรงงานชี้ค่าแรง 300 ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น หนักอกค่าครองชีพ-หนี้สิน

262

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

สามสำนักโพลสะท้อนมุมมองวันแรงงาน พบชีวิตความเป็นอยู่หลังขึ้นค่าแรง 300 บาทเหมือนเดิม ส่วนที่ได้มาก็ใช้จ่ายไปวันๆ แต่กังวลเรื่องการตกงานน้อย ส่วนชีวิตความเป็นอยู่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสบาย หนักใจหนี้สิน รายได้ไม่พอ ค่าจ้างน้อย ค่าครองชีพสูง พบเกินครึ่งมีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานเรื่อง “มุมมองแรงงานหลังได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท” เนื่องในวันที่ 1 พ.ค.นี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ โดยเก็บข้อมูลจากแรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 75.1 ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล ขณะที่ร้อยละ 24.9 มีภูมิลำเนาอยู่ ทั้งนี้ เมื่อถามถึงสาเหตุที่ผู้ใช้แรงงานไม่ทำ งานในภูมิลำเนาที่เกิด ร้อยละ 64.8 ระบุว่า มีงานให้เลือกน้อย รองลงมา ร้อยละ 33.4 ระบุว่า ใน กทม.และปริมณฑลมีสวัสดิการที่ดีกว่า และร้อยละ 33.3 ระบุว่า ได้ค่าแรงต่ำกว่า 300 บาท

ส่วนผลกระทบที่มีต่อการทำงาน หลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 65.4 ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบ ขณะ ที่ร้อยละ 34.6 ระบุว่า ได้รับ ผลกระทบ ในจำนวนนี้ร้อยละ 16.5 ระบุว่า ทำงานล่วงเวลา (OT) ได้น้อยลง ร้อยละ 9.2 ระบุว่า ต้องทำงานหนักมาก ขึ้น และร้อยละ 4.2 ระบุว่า ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ หลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 45.9 เห็นว่า มีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเดิม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากการสำรวจในปี 55) ขณะที่ร้อยละ 44.2 เห็นว่าดีขึ้น (ลดลงร้อยละ 16.5) และร้อยละ 9.9 เห็นว่าแย่ลง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1) โดยเมื่อถามสาเหตุที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้น อันดับแรกร้อยละ 85.9 คือ ข้าวของแพงขึ้น รองลงมาร้อยละ 7.1 ขาดสวัสดิการช่วยเหลือ/สวัสดิการแย่ลง และร้อยละ 4.4 งานไม่มั่นคง ไม่รู้จะถูกเลิกจ้างตอนไหน

สุดท้ายเมื่อถามว่า มีความกังวลว่าจะตกงานมากน้อยเพียงใด หลังจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท มีผลทำให้ผู้ประกอบการ SME มีการลดพนักงานลง ร้อยละ 73.2 กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 26.8 กังวลมากถึงมากที่สุด

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้าโพล ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “แรงงานไทยในยุคข้าวของแพง” ระหว่างวันที่ 25-26 เม.ย.ที่ผ่านมา จากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,231 ตัวอย่าง เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.ที่กำลังจะมาถึง

ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 70.86 ระบุว่าหลังรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.2556 นายจ้างของตนไม่ได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เพราะไม่ได้รับกระทบเท่าใดนัก และมีการขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน ตามนโยบายของรัฐบาล ขณะที่ร้อยละ 9.25 ระบุว่านายจ้างสั่งลดการทำงานล่วงเวลา (Over Time) อีกร้อยละ 8.10 ระบุว่านายจ้างเพิ่มปริมาณงานที่ทำอยู่ต่อวันมากขึ้น ร้อยละ 7.79 ลดจำนวนลูกจ้างลง ร้อยละ 3.78 เพิ่มชั่วโมงการทำงานต่อวันมากขึ้น และร้อยละ 0.23 อื่นๆ เช่น คัดสรรบุคลากรที่มีคุณภาพ ลดสวัสดิการบางอย่าง ปรับการบริหารงานภายใน

สำหรับผลกระทบที่มีต่อการดำเนินชีวิตประจำวันนั้น ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 55.16 ระบุว่ายังใช้ชีวิตและความเป็นอยู่เหมือนเดิมเพราะ ปกติก็ได้ค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 300 บาท/วันอยู่แล้ว ส่วนที่ได้มาก็ใช้จ่ายไปวันๆ ไม่มีผลกระทบอะไร ขณะที่ร้อยละ 29.49 ระบุว่า ดีขึ้น เพราะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจึงมีเงินเพียงพอสำหรับในการใช้จ่ายมากขึ้น และบางส่วนก็เหลือเก็บเป็นเงินออม แต่อีกร้อยละ 15.35 ระบุว่า แย่ลงเพราะข้าวของก็มีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย และสินค้าบางอย่างก็มีราคาที่แพงมากกว่าปกติ

ถามความเห็นกรณีที่รัฐบาลอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 46.79 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเพราะทำให้คนไทยตกงานและกังวลในเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงของชาติ มีการอพยพเข้ามาอยู่กันเยอะ ขณะที่ร้อยละ 42.73 เห็นด้วยเพราะคนไทยเลือกงาน งานบางอย่างคนไทยไม่ค่อยชอบทำ เหมาะกับแรงงานต่างด้าวมากกว่า และเป็นการเปิดโอกาสให้กับแรงงานต่างด้าว และเมื่อจำแนกตามระดับระดับการศึกษา พบว่า ผู้ที่จบระดับการศึกษาอนุปริญญาขึ้นไปมีสัดส่วนของผู้ที่เห็นด้วยมากกว่าผู้ที่จบระดับการศึกษาต่ำกว่าอนุปริญญา

เมื่อถามถึงความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคแรงงาน และส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมัยหน้า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 64.83 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะจะเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ใช้แรงงานในประเทศ มีผู้ใช้แรงงานเยอะ เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ใช้แรงงาน น่าจะเป็นผลดี แต่รองลงมาร้อยละ 13.48 ไม่เห็นด้วย เพราะไม่น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะถึงอย่างไรก็สู้สองพรรคการเมืองใหญ่ไม่ได้ และอีกร้อยละ 21.69 ไม่แน่ใจ

ด้าน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงานไทยตามจังหวัดใหญ่ทั่วประเทศ จำนวน 1,393 คน ระหว่างวันที่ 25-30 เมษายน 2556 สรุปผลได้ดังนี้ เมื่อถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร? อันดับ 1 ไม่ค่อยสุขสบาย 45.73% เพราะมีปัญหาสุขภาพ งานหนัก รายได้ไม่พอใช้จ่าย มีภาระเยอะ ฯลฯ อันดับ 2 อยู่สุขสบายดี ไม่มีทุกข์อะไร 35.68% เพราะมีกินมีใช้เท่าที่มี พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ที่บ้านช่วยกันทำงานได้ทุกคน ครอบครัวมีความสุขดี ฯลฯ อันดับ 3 ไม่สุขสบายเลย 18.59% เพราะ มีหนี้สิน มีโรคประจำตัว ต้องเลี้ยงดูครอบครัว ฐานะยังไม่มั่นคง ฯลฯ

เมื่อถามถึง “ความหนักใจ” ของผู้ใช้แรงงานไทย ณ วันนี้ คือ อันดับ 1 หนี้สิน รายได้ไม่พอ ค่าจ้างน้อย ค่าครองชีพสูง 41.03% อันดับ 2 มีภาระครอบครัว ค่าเล่าเรียนลูก 30.77% อันดับ 3 ปัญหาสุขภาพร่างกาย โรคภัยไข้เจ็บ มีโรคประจำตัว 14.10% อันดับ 4 การคุ้มครองดูแล สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ต่างๆของผู้ใช้แรงงาน 7.69% อันดับ 5 ต้องอยู่ไกลบ้าน พลัดถิ่น 6.41%

เมื่อถามว่า ผู้ใช้แรงงานไทย มีปัญหาหนี้สินหรือไม่? อันดับ 1 มีหนี้สิน 64.32% คือ มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ต้องกู้เงิน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หาเงินจ่ายค่าเล่าเรียนลูก ค่าใช้จ่ายประจำวัน ฯลฯ อันดับ 2 ไม่มี 35.68% เพราะประหยัดอดออม กลัวการเป็นหนี้ มีการวางแผนในการใช้จ่าย ฯลฯ เมื่อถามว่า ผู้ใช้แรงงานไทย มีปัญหาเรื่องสุขภาพหรือไม่? อันดับ 1ไม่มี 60.80% เพราะดูแลตัวเองเป็นอย่างดี กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ฯลฯ อันดับ 2 มีปัญหาเรื่องสุขภาพ 39.20% คือความดัน ปวดเมื่อย กระดูก ไขข้อ เบาหวาน หัวใจ โรคเกี่ยวกับลำไส้ทางเดินอาหาร ฯลฯเมื่อถามว่า “ความสุข” ของผู้ใช้แรงงานไทย ณ วันนี้ ที่มีคือ อันดับ 1 มีครอบครัวที่ดี อบอุ่น ลูกๆ เป็นเด็กดี เชื่อฟัง 37.66% อันดับ 2 มีงานทำ ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น33.77% อันดับ 3 มีนายจ้างและเพื่อนร่วมงานที่ดี 28.57% เมื่อถามถึง “ความทุกข์” ของผู้ใช้แรงงานไทย ณ วันนี้ ที่มีคือ อันดับ 1 มีหนี้สิน มีภาระค่าใช้จ่ายมาก ค่าครองชีพสูง เงินไม่พอใช้ 61.70% อันดับ 2 ครอบครัวยังไม่สุขสบาย ไม่มีเวลาดูแลครอบครัว ต้องอยู่ห่างกัน 29.79% อันดับ 3 มีโรคประจำตัว มีปัญหาเรื่องสุขภาพ 8.51%

เมื่อถามว่า สิ่งที่ผู้ใช้แรงงานไทยอยากฝากบอกกับ “รัฐบาล” ณ วันนี้ คือ อันดับ 1 รัฐบาลควรมีนโยบายและแนวทางช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 48.94% อันดับ 2 อยากให้ขึ้นค่าแรงแต่ไม่ขึ้นค่าครองชีพ 25.53% อันดับ 3 การคุ้มครองดูแลสิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อถูกเลิกจ้าง 14.89%อันดับ 4 การช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง 10.64%

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง