ผุดแผนจุดขึ้น-ลงทางด่วนนิคมฯ 7 แห่ง สมุทรสาครเชื่อมดาวคะนอง-ปากท่อ
ทางออกนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร กับถนนพระราม 2 (ภาพจาก Google Street View)
การทางพิเศษฯ ลงนามเอ็มโอยู 7 หน่วยงานเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคม ประเดิมการนิคมอุตสาหกรรมฯ ศึกษาความเหมาะสมจุดเชื่อมต่อทางด่วนกับนิคมอุตฯ 7 แห่ง สมุทรสาครเชื่อมทางด่วนวงแหวน-ปากท่อ คาดเริ่มศึกษาได้ปีหน้า
นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กทพ. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพิจารณาการเชื่อมต่อทางพิเศษกับโครงการของหน่วยงานภาคอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และการคมนาคมขนส่ง เนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์อย่างบูรณาการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกทพ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคมมีหน้าที่ก่อสร้างทางพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการจราจรขนส่ง โดยเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ของรัฐบาล และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ส่งเสริมให้มีการเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่ง เพื่อประโยชน์ของประชาชน
ปัจจุบัน กทพ. มีโครงข่ายทางพิเศษครอบคลุมพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สามารถเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครและทางหลวงสายหลักที่สำคัญ รวมทั้งมีการเพิ่มประสิทธิภาพการจราจร โดยการเชื่อมต่อทางขึ้น-ลงทางพิเศษบริเวณที่มีการเดินทางของประชาชนสูง เช่น ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) มีทางขึ้น-ลงเมืองทองธานี เพื่อบริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการเดินทางไปศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ดังนั้น เพื่อเพิ่มโครงข่ายการเดินทางไปยังแหล่งอุตสาหกรรม ชุมชนที่พักอาศัย และการคมนาคมขนส่ง เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และลดต้นทุนการขนส่ง กทพ. มีแนวคิดที่จะเชื่อมต่อทางขึ้น-ลงทางพิเศษที่เปิดให้บริการแล้ว และเชื่อมต่อโครงการทางพิเศษในอนาคต
โดย กทพ. ได้จัดให้มีการประชุมร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ และบริษัท ขนส่ง จำกัด เพื่อหารือร่วมกันนำเสนอแผนงาน และโครงการทั้งในปัจจุบันและอนาคต สำหรับเป็นข้อมูลเบื้องต้น เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อโครงการเพื่อประโยชน์ร่วมกัน และพิจารณาการเชื่อมต่อโครงการทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กับโครงการของหน่วยงานต่างๆ พร้อมจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพิจารณาการเชื่อมต่อทางพิเศษกับโครงการของหน่วยงานภาคอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และการคมนาคมขนส่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนางานของแต่ละหน่วยงาน และสร้างความสัมพันธ์เชิงพันธมิตรในการใช้ทรัพยากรร่วมกันของรัฐวิสาหกิจตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ โดยคำนึงถึงการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยทางพิเศษ ซึ่งจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเดินทางสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย
ดังนั้น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตกลงให้ความร่วมมือกันดำเนินการต่างๆ ภายใต้พันธกิจร่วมกัน ได้แก่ ร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อทางพิเศษที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดในอนาคตกับโครงการของหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าว ประสานงานการแลกเปลี่ยนข้อมูลโครงการและแผนงานการดำเนินโครงการของแต่ละหน่วยงาน และสนับสนุนส่งเสริมบุคลากรให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการของแต่ละหน่วยงาน ด้านการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะประสานความร่วมมือระหว่างกัน และจะสนับสนุนการดำเนินงานตลอดจนติดตามประเมินผลการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
ภาพจำลองโครงการทางพิเศษสายดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ขนานไปกับถนนพระราม 2
ด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กนอ. ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพิจารณาการเชื่อมต่อทางพิเศษ กับโครงการของหน่วยงานภาคอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และการคมนาคมขนส่ง ร่วมกับ กทพ. และอีก 6 หน่วยงาน จะดำเนินงานแผนการใช้ทรัพยากรและความร่วมมือระหว่างกันของรัฐวิสาหกิจ (Synergy) ซึ่ง กนอ. และ กทพ. มีแผนงานที่จะศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของจุดเชื่อมต่อทางพิเศษกับพื้นที่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวน 7 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 เชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) กับนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา, จุดที่ 2 เชื่อมต่อทางพิเศษอุดรรัถยา กับเขตประกอบอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี
จุดที่ 3 เชื่อมต่อโครงการทางพิเศษวงแหวนรอบนอก กรุงเทพฯ ด้านตะวันตก-จุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ปากท่อ) กับนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร, จุดที่ 4 เชื่อมต่อโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา กับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี, จุดที่ 5 เชื่อมต่อโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา กับนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี, จุดที่ 6 เชื่อมต่อโครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-อยุธยา กับนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา, จุดที่ 7 เชื่อมต่อโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-สระบุรี กับนิคมอุตสาหกรรมหนองแค จ.สระบุรี คาดว่าจะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในปี 2557 โดย กทพ. เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ หากมีการเชื่อมต่อทางพิเศษในจุดต่างๆ เกิดขึ้น จะทำให้การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างกันมีศักยภาพมากขึ้น รวมถึงความสะดวกกรวดเร็ว และความปลอดภัย ตลอดจนช่วยลดต้นทุนในระบบโลจิสติกส์ทั้งระบบได้เป็นอย่างยิ่ง
มีรายงานว่า กทพ. มีเป้าหมายที่จะดำเนินการก่อสร้างทางพิเศษอีกหลายโครงการ โดยพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ลงมือก่อสร้างทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร จากทางพิเศษศรีรัช บริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ระหว่างด่านกำแพงเพชร 2 กับด่านประชาชื่น ไปตามทางรถไฟสายใต้ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 6 สิ้นสุดที่ถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก ระยะทาง 16.7 กิโลเมตร มีบริษัท ช การช่าง จำกัด เป็นผู้รับเหมา วางศิลาฤกษ์โครงการเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ระยะเวลาดำเนินการ 48 เดือน มูลค่าโครงการ 32,816 ล้านบาท มีทางแยกต่างระดับ 2 แห่ง คือ ทางแยกต่างระดับศรีรัช และกาญจนาภิเษก ส่วนทางขึ้น-ลงมี 6 แห่ง คือ พระราม 6 จรัญสนิทวงศ์ บางบำหรุ ทางยกระดับบรมราชชนนี ราชพฤกษ์ และกาญจนาภิเษก คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2559
ขณะที่อีก 2 โครงการที่กำลังศึกษาความเหมาะสม ได้แก่ ระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตั้งแต่ถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก ขนานไปกับถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนงามวงศ์วาน ถนนประเสริฐมนูญกิจ ถึงถนนนวมินทร์ จากนั้นตัดผ่านถนนเสรีไทยและถนนรามคำแหง สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ระยะทาง 43.2 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 55,000 ล้านบาท และทางพิเศษสายดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่งขนานไปกับถนนพระราม 2 ระยะทาง 8.8 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 16,950 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการ โดยจัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 3 ครั้ง มีกำหนดเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ และกำหนดศึกษาแนวเส้นทางต่อไปถึงทางแยกต่างระดับวังมะนาว ระยะทาง 75 กิโลเมตรอีกด้วย
ส่วนโครงการทางพิเศษระหว่างจังหวัด ซึ่งอยู่ระหว่างคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา ได้แก่ ทางพิเศษบูรพาวิถี-พัทยา เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ส่วนต่อขยายจากทางลงชลบุรี ขนานไปกับถนนสุขุมวิท สิ้นสุดที่ถนนพัทยาใต้ ระยะทาง 57 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 18,843 ล้านบาท, ทางพิเศษฉลองรัช-สระบุรี จากด่านจตุโชติ ถนนวงแหวนรอบนอกตะวันตก ไปตามแนวเส้นทางใหม่ ผ่าน อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี อ.หนองแค อ.วิหารแดง จ.สระบุรี สิ้นสุดที่ถนนมิตรภาพ ระยะทาง 63 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 19,808 ล้านบาท และทางพิเศษอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา จากด่านบางปะอิน ถนนกาญจนาภิเษก ไปตามแนวเส้นทางใหม่ ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ก่อนขนานไปกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับบางปะหัน ระยะทาง 23 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 13,800 ล้านบาท
สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ