ผุดทางรถไฟขนสินค้า ผ่านสมุทรสาคร-กระทุ่มแบน เชื่อมต่อแหลมฉบัง-ทวาย

896-1

การรถไฟแห่งประเทศไทย เผยกำลังศึกษาความเป็นไปได้เชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง – ท่าเทียบเรือน้ำลึกทวาย สรุปใช้แนวเส้นทางตัดใหม่จากสถานีท่าแฉลบ นครชัยศรี ผ่านสามพราน กระทุ่มแบน ออกบางขุนเทียน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่พระสมุทรเจดีย์ ผ่านบางพลี บางบ่อ บางปะกง บรรจบทางรถไฟสายตะวันออกที่พานทอง เข้าท่าเรือแหลมฉบัง ใช้ขนส่งสินค้าเป็นหลัก ลงทุน 9.8 หมื่นล้าน

นายนันทชัย หวังเลี้ยงกลาง หัวหน้ากองโครงการและแผนงาน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ได้เปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนระดับจังหวัดโครงการศึกษาความเป็นไปได้ ในการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง – ท่าเทียบเรือน้ำลึกทวาย โดยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษาความเป็นไปได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2557 ถึงเดือนเมษายนนี้ วงเงิน 40 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้ข้อสรุปเส้นทางโครงการดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเลือกแนวทางการก่อสร้างสถานีชายแดนบ้านพุน้ำร้อน – สถานีชุมทางหนองปลาดุก-สถานีพานทอง-ท่าเรือแหลมฉบัง เส้นทางรถไฟพาดผ่าน 8 จังหวัด ใน 15 อำเภอ รวมระยะทางประมาณ 322 กิโลเมตร การก่อสร้างมีทั้งบนพื้นที่ตัดใหม่และคู่ขนานไปกับแนวรถไฟเดิมเส้นทางสายใต้และสายตะวันออก ขนาดรางรถไฟ 1 เมตร ใช้ขนส่งสินค้าเป็นหลัก คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 98,000 ล้านบาท

สำหรับการออกแบบเบื้องต้น จะแบ่งแนวเส้นทางเป็น 7 ช่วง เพื่อง่ายต่อการสำรวจพื้นที่ ประกอบด้วย 1.ช่วงสถานีชายแดนบ้านพุน้ำร้อน-สถานีท่ากิเลน ระยะทาง 36 กิโลเมตร 2.สถานีท่ากิเลน-สถานีวังเย็น ระยะทาง 23 กิโลเมตร 3.สถานีวังเย็น-สถานีท่าเรือน้อย ระยะทาง 29 กิโลเมตร 4.สถานีท่าเรือน้อย-สถานีชุมทางหนองปลาดุก ระยะทาง 30 กิโลเมตร 5.สถานีชุมทางหนองปลาดุก-สถานีท่าแฉลบ ระยะทาง 27 กิโลเมตร 6.สถานีท่าแฉลบ-บริเวณก่อนถึงสถานีพานทอง ระยะทาง 118.5 กิโลเมตร และ 7.สถานีพานทอง-ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 58.5 กิโลเมตร ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริงจะเสริมโครงข่ายการท่องเที่ยวและเขตเศรษฐกิจชายแดนที่จังหวัดกาญจนบุรีด้วย

อนึ่ง ผู้สื่อข่าว “สาครออนไลน์” รายงานว่า สำหรับแนวเส้นทางตัดใหม่ ช่วงสถานีท่าแฉลบ ต.ศรีษะทอง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ถึงสถานีพานทอง จ.ชลบุรี ระยะทาง 118 กิโลเมตร พาดผ่านพื้นที่ 8 จังหวัด 15 อำเภอ เป็นแนวเส้นทางที่สั้นที่สุดสำหรับการเดินทางจากฝั่งตะวันตกสู่ท่าเรือแหลมฉบังโดยไม่ต้องตัดผ่านใจกลางกรุงเทพฯ และสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางรถไฟสายใต้ตามแนวเส้นทางสถานีปากท่อ-สถานีวงเวียนใหญ่ได้ด้วย โดยจากจุดดังกล่าวจะตัดผ่านลงมายัง อ.สามพราน จ.นครปฐม, อ.กระทุ่มแบน และ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร, เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ, อ.พระสมุทรเจดีย์ อ.เมืองฯ อ.บางพลี อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ, อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และ อ.พานทอง จ.ชลบุรี

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง