สมุทรสาครอันดับ 1 ไหม้โรงงานซ้ำซาก-ติดอันดับบาดเจ็บจากการทำงาน

904-1

เหตุเพลิงไหม้บริษัท ไทย เลเธอร์ โคทติ้ง จำกัด ประกอบกิจการผลิตหนังเทียม เมื่อค่ำวันที่ 6 พ.ค. มีผู้บาดเจ็บ 3 ราย (ภาพจากทวิตเตอร์ @FireDept33)

รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา มีลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานเฉลี่ยปีละ 1.3 แสนราย เสียชีวิตปีละกว่า 600 พบสมุทรสาครติด 1 ใน 5 พื้นที่สถิติสูงสุด ด้านกรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน เฝ้าระวังอัคคีภัย เผยในรอบ 3 ปี สมุทรสาครไฟไหม้โรงงานอันดับ 1 ส่วนเหตุเพลิงไหม้บริษัทผลิตหนังเทียมใน ต.สวนหลวง บาดเจ็บ 3 ราย ไร้ผู้เสียชีวิต

นายโกวิท สัจจวิเศษ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลของกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม ในช่วงปี 2551 – 2557 พบว่า มีลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานเฉลี่ยปีละ 135,183 ราย เสียชีวิตจากการทำงานเฉลี่ยปีละ 628 ราย ทุพพลภาพเฉลี่ยปีละ 15 ราย สูญเสียอวัยวะบางส่วน เฉลี่ยปีละ 2,365 ราย

ส่วนพื้นที่ที่มีสถิติสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี สมุทรสาคร และปทุมธานี กิจการที่ประสบอันตรายสูงสุด ได้แก่ ก่อสร้าง รองลงมา ผลิตเครื่องดื่ม ถนอมอาหาร ค้าเครื่องไฟฟ้า ยานพาหนะ ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก การหล่อหลอมกลึงโลหะ

ทั้งนี้ ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2558 มีลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงาน 23,339 ราย แยกเป็น เสียชีวิต 138 ราย สูญเสียอวัยวะบางส่วน 46 ราย หยุดงานเกิน 3 วัน 6,670 ราย และหยุดงานไม่เกิน 3 วัน 16,385 ราย นอกจากนี้ โดยเฉลี่ยแต่ละปี กองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินดูแล เยียวยาลูกจ้างและครอบครัวกว่า 1,700 ล้านบาท

– แจงไฟไหม้โรงงานหนังเทียมบาดเจ็บ 3 ราย ไร้ผู้เสียชีวิต

นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้บริษัท ไทย เลเธอร์ โคทติ้ง จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตหนังเทียม บริเวณถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ว่า เหตุเกิดในเวลา 19.45 น. และหน่วยดับเพลิงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้เมื่อเวลา 21.30 น.

โดยจากการลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า บริษัทดังกล่าว มีนายณรงค์ ชลสายพันธ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ มีลูกจ้างทั้งหมด 297 คน เป็นแรงงานไทย 277 คน และเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว 20 คน ขณะเกิดเหตุมีลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในกะแรก 40 คน

ทั้งนี้ สาเหตุเกิดจากการซ่อมบำรุงที่ท่อน้ำมันเตาและได้เกิดเพลิงลุกไหม้ไปตามท่อน้ำมันเตาเป็นเหตุให้ถังน้ำมันเตาขนาดเล็กระเบิด และเกิดเพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็ว มีลูกจ้างได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 3 คน ถูกไฟลวกเล็กน้อย 2 คน ส่งโรงพยาบาลมหาชัย 2 คน และอีก 1 คน สำลักควันไฟส่งโรงพยาบาลวิชัยเวช โดยทั้ง 3 คนปลอดภัยแล้ว และไม่มีลูกจ้างเสียชีวิต

904-2

– กางสถิติไฟไหม้โรงงาน สมุทรสาครครองแชมป์มากที่สุด

ด้านกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายประสงค์ นรจิตร์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมเปิดตัว ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินตรวจสอบมลพิษภาคสนาม หรือ DIW TEAM พร้อมเปิดสถิติย้อนหลัง ไฟไหม้ในโรงงานอุตสาหกรรม เผย 5 กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเพลิงไหม้ ช่วงเมษาหน้าร้อน และมาตรการเข้มป้องกัน ระงับอัคคีภัยในโรงงานอุตสาหกรรม

นายพสุ เปิดเผยว่า จากสถิติปี 2555-2557 พบว่า จังหวัดที่เกิดอัคคีภัยหลายครั้งอันดับ 1 ได้แก่ สมุทรสาคร 19 ราย รองลงมาคือ สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และชลบุรี จังหวัดละ 15 ราย และปทุมธานี 14 ราย หากเจาะลึกถึงประเภทโรงงานพบว่า โรงงานผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารเกิดอัคคีภัยมากที่สุดถึง 23 ราย รองลงมาคือ โรงงานสิ่งทอ 13 ราย โรงงานคัดแยกวัสดุไม่ใช้แล้ว 10 ราย โรงงานเครื่องเรือนจากไม้ วงกบ ประตู หน้าต่างไม้ และโรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ ประเภทละ 9 ราย และโรงงานผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับพลาสติก 7 ราย

– ตั้งทีมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินตรวจสอบมลพิษภาคสนาม

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อัคคีภัยในโรงงานอุตสาหกรรม โดยวางมาตรการให้อาคารโรงงานต้องจัดให้มีอุปกรณ์ตรวจจับและแจ้งเหตุเพลิงไหม้อัตโนมัติ ในพื้นที่ที่ไม่มีคนปฏิบัติงานประจำ และมีการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือจัดเก็บวัตถุไวไฟหรือวัตถุที่ติดไฟได้ ส่วนโรงงานที่มีโกดัง (Warehouse) จัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ติดไฟได้ที่มีพื้นที่ต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่ 1,000 ตร.ม. ขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ และสถานที่จัดเก็บวัตถุไวไฟ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 14 ตร.ม. ขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ

“กรอ. ได้ตั้งทีมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินตรวจสอบมลพิษภาคสนาม ที่คอยเฝ้าระวังเหตุอัคคีภัยอย่างใกล้ชิด เมื่อได้รับแจ้งเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉิน ในกรณีเกิดเหตุไฟไหม้ในโรงงานอุตสาหกรรม ชุดปฏิบัติการจะลงพื้นที่ที่เกิดเหตุทันที ภายใน 1-3 ชั่วโมง ทำการเก็บตัวอย่างมลพิษ วัดและตรวจสอบ รวมถึงนำมาวิเคราะห์ เช่น มลพิษน้ำ มลพิษอากาศ ประมวลข้อมูลและประเมินผล อีกทั้งให้การช่วยเหลือด้านข้อมูลสารเคมีอันตราย การระเบิด อัคคีภัยรุนแรง และการรั่วไหลของมลภาวะสู่แหล่งธรรมชาติ” นายพสุ กล่าว

สาครออนไลน์ โดย กองบรรณาธิการ



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง