เล็งต่อสัญญาผู้รับเหมา “ถนนพระราม 2” ยาวถึงปี 64 เร่งคืนผิวทางหน้าวัดพันท้ายฯ ใน 2 เดือน

รมว.คมนาคม ลงพื้นที่ตรวจโครงการก่อสร้าง “ถนนพระราม 2” อาทิตย์นี้ (21 ก.ค.) อธิบดีกรมทางหลวงเรียกประชุม พบคืบหน้ารวมเพียง 14% สั่งแก้ปัญหารถติด พร้อมคืนทางขนานหน้าวัดพันท้ายนรสิงห์ทั้ง 2 ฝั่งภายใน 2 เดือน ส่วนปมผิวถนนหนา 13 ซม. อ้างให้รถบรรทุกใช้ทางยกระดับ แต่แก้แบบขยายความหนาเป็น 20 ซม. แล้ว อยู่ระหว่างรอเซ็นอนุมัติ ส่วนผู้รับเหมาเตรียมขยายสัญญาก่อสร้างชดเชยให้ถึงปี 64

จากกรณีที่โครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 35 หรือถนนพระราม 2 ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย (ปี 2561) ระยะทาง 11.7 กิโลเมตร งบประมาณ 2,213.55 ล้านบาท ในพื้นที่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากการก่อสร้างไม่เป็นระบบ ส่งผลทำให้การจราจรติดขัดมากกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไป อีกทั้งนับตั้งแต่เริ่มต้นสัญญาก่อสร้างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ผ่านมาแล้ว 1 ปี 6 เดือนยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่สัญญาก่อสร้างจะสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม 2563 ทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันในนาม “กลุ่มประชาชนคนรักถนนพระราม 2” ร่วมกับ นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง นายกสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งแก้ปัญหาดังกล่าว

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. รายงานข่าวแจ้งว่า ที่กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมด้วย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ และนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม และนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม มีกำหนดลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการปรับปรุงถนนพระราม 2 ในวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2562 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานโครงการ บริเวณที่ดินกรมทางหลวง ถนนพระราม 2 กม.27+100 (หลังห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี มหาชัย) หมู่ 8 ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เพื่อตรวจความคืบหน้าโครงการ และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการแก้ปัญหาดังกล่าว ถือเป็นภารกิจแรกในการลงพื้นที่ตามนโยบาย “คมนาคมยูไนเต็ด”

อีกด้านหนึ่ง ที่ห้องประชุมสารศาสตร์ศิริลักษณ์ อาคารพหลโยธิน กรมทางหลวง นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาจราจรโครงการปรับปรุงถนนพระราม 2 โดยมีนายนรินทร์ ศรีสมพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักก่อสร้างทางที่ 1 นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 13 นายพัฒนพงศ์ ทองสุข ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสมุทรสาคร นายสมประสงค์ อรรถาชิต ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงธนบุรี เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม รายงานข่าวแจ้งว่า ภาพรวมพบว่าการก่อสร้างคืบหน้าเพียง 14% ทั้งที่ตามแผนจะต้องมีความคืบหน้า 40% ทำให้ล่าช้ากว่าแผน 26% หรือประมาณ 6 เดือน จึงอาจจะต้องขยายสัญญาว่าจ้างก่อสร้างจากผู้รับเหมา จากเดิมจะแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2563 กลายเป็นแล้วเสร็จต้นปี 2564 แทน

ขณะที่นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างขยายคันทางในช่องทางขนาน ซึ่งในเส้นทางดังกล่าวมีปริมาณการจราจรหนาแน่นมากกว่า 2 แสนคันต่อวัน ทำให้ผู้ใช้เส้นทางได้รับความเดือดร้อน และพบว่าปัจจุบัน​บริเวณที่เกิดการจราจรติดขัดมี 3 จุด จุดแรก กม.13+500 (ฝั่งขาเข้า) บริเวณสะพานกลับรถ มีการก่อสร้างขยายทางขนาน (Frontage Road) ทำให้เหลือเพียง 1 ช่องจราจร และเป็นช่วงที่มีรถจากทางขนานวิ่งตัดเข้าสู่ทางหลัก (Main Road) ทำให้เกิดการชะลอตัวของรถบนทางสายหลัก โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน เช้า-เย็น และวันหยุดยาว จึงได้เร่งแก้ไขปัญหาโดยบริหารจัดการจราจรใหม่ ปิดทางเข้าจากช่องขนานห้ามเข้าช่องทางหลัก เพื่อลดการตัดกันของกระแสจราจร นอกจากนี้​ ในบริเวณดังกล่าว ยังมีจุดจอดรถประจำทาง​ทำให้เกิดการจราจรชะลอตัว กรมทางหลวงจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องย้ายตำแหน่งจุดจอดรถประจำทางออกจากบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมเร่งรัดจัดทำทางเท้า เพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชน และบรรเทาปัญหาการจราจรดังกล่าว รวมทั้งประสานตำรวจจราจรเข้ามาช่วยระบายรถเพิ่มเติม

จุดที่สอง บริเวณซอยพันท้ายนรสิงห์ (ฝั่งขาออก) ซึ่งเป็นแหล่งชุมชน มีสถานประกอบการ โรงงาน และที่พักอาศัยจำนวนมาก ทำให้มีรถเข้า-ออกจากซอยจำนวนมาก​ โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีการวางท่อระบายน้ำในช่องทางขนาน ทำให้เหลือเพียง 1 ช่องจราจร จึงได้สั่งการให้เร่งรัดการก่อสร้างบริเวณดังกล่าวพร้อมคืนผิวจราจรให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ และจุดที่สาม บริเวณฝั่งตรงข้ามซอยวัดพันท้ายนรสิงห์ (ฝั่งขาเข้า) มีการก่อสร้างในทางขนาน ทำให้เหลือเพียง 1 ช่องจราจร เป็นเหตุให้มีรถติดสะสม จึงสั่งการให้เร่งรัดก่อสร้างบริเวณดังกล่าว พร้อมปูผิวจราจรให้แล้วเสร็จครบ 3 ช่องจราจร ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ โดยยอมรับว่าการก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนไปมาก เพราะติดปัญหารื้อย้ายสาธารณูปโภค เนื่องจากประสานกับการไฟฟ้านครหลวง และการประปานครหลวง ใช้เวลาค่อนข้างนาน ขณะนี้ลงตัวในระดับหนึ่งแล้ว

ส่วนกรณีพื้นที่ก่อสร้างบริเวณเกาะกลางมีการถมทรายแล้ว ไม่มีเครื่องจักรเข้าไปทำงานนั้น นายอานนท์ชี้แจงว่า ในกระบวนการก่อสร้าง ต้องใช้เวลารอคอยการทรุดตัวของทรายถมประมาณ 150 วัน หรือ 5 เดือน แต่หลังจากผ่านพ้นไปแล้ว จะเร่งรัดให้ผู้รับเหมาเข้าดำเนินการก่อสร้างในระยะต่อไปทันที ส่วนประเด็นความหนาของผิวทาง หลังพบว่าแบบก่อสร้างกำหนดผิวทางไว้เพียง 13 เซนติเมตร​ โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดความเสียหายหลังเปิดใช้ทางนั้น แบบก่อสร้างเดิมออกแบบไว้เมื่อขยายถนนเสร็จจะก่อสร้างทางยกระดับด้วย โดยรถบรรทุกไปใช้ทางยกระดับมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาทบทวนตามสภาพแวดล้อม และปริมาณการจราจรที่เปลี่ยนแปลงแล้ว จึงได้เพิ่มความหนาของผิวลาดยางเป็น 20 เซนติเมตรแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญาแก้ไขแบบก่อสร้าง โดยใช้วงเงินก่อสร้างเท่าเดิม แต่เนื่องจากความล่าช้าไม่ใช่ความผิดของผู้รับเหมา ก็จะขยายเวลาก่อสร้างให้

ส่วนเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้ทาง ได้กำชับให้ผู้รับเหมาและผู้ควบคุมงาน ตรวจสอบการติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำ และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้างให้ปลอดภัยและเพียงพอกับผู้ใช้ทางอีกด้วย เมื่อโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรที่มีอยู่ในปัจจุบัน และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังลดระยะเวลาการเดินทางของโครงข่ายถนนโดยรอบ ส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทางได้รับความสะดวก ปลอดภัยในการใช้เส้นทางเพิ่มมากขึ้น กรมทางหลวงขออภัยผู้ใช้ทางที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง ขอแนะนำให้วางแผนการเดินทาง และขอความร่วมมือผู้ใช้ทางปฏิบัติตามกฎ ป้ายเตือน ป้ายแนะนำอย่างเคร่งครัด

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *