เสวนาเปิดแง่มุม “ประวัติศาสตร์-ศิลปกรรม-วิถีชุมชน” ของ “ท่าจีน-ท่าฉลอม”

“สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม)” จัดการเสวนาในหัวข้อ “ท่าจีนและท่าฉลอม: ประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และวิถีชุมชน” นำเสนอผลงานวิจัย “โครงการการสำรวจและสังเคราะห์ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยวในการพัฒนาเมืองสมุทรสาคร” ใน 9 หัวข้อหลัก

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 20 ส.ค. ที่บ้านท่าฉลอม ต.ท่าฉลอม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด จัดการเสวนาเรื่อง “ท่าจีนและท่าฉลอม: ประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และวิถีชุมชน” ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยใน “โครงการการสำรวจและสังเคราะห์ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยวในการพัฒนาเมืองสมุทรสาคร” ซึ่งทางบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ในการมอบทุนดำเนินงานวิจัย

มี พระสมุห์บุญส่ง ธัมมทัสสี เจ้าอาวาสวัดแหลมสุวรรณาราม พระครูสุทธิธรรมาภรณ์ รักษาการแทนเจ้าอาวาส วัดสุทธิวาตวราราม นายชิงชัย บุญประคอง ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร พร้อมด้วยคณะครูและนักเรียน จากโรงเรียนเทศบาลวัดแหลมสุวรรณารามฯ และโรงเรียนเทศบาลวัดช่องลมฯ อาสาพัฒนาเมืองสมุทรสาคร และชาวชุมชนมหาชัย-ท่าฉลอม เข้าร่วมรับฟังการเสวนาและการจัดนิทรรศการเป็นจำนวนมาก

สำหรับการเสวนาเรื่อง “ท่าจีนและท่าฉลอม: ประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และวิถีชุมชน” มีผู้ร่วมเสวนา คือ ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม รองประธานบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด พร้อมด้วยคณาจารย์และทีมงานผู้วิจัย จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ประกอบด้วย รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร, ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช อ.ศศิธร ศิลป์วุฒยา และ น.ส.หทัยชนก ขำยิ่งเกิด ผู้ช่วยนักวิจัย

ประกอบด้วย 9 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1. บ้านท่าจีน ต้นกำเนิดของจังหวัดสมุทรสาคร เกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชน “บ้านท่าจีน” ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กระทั่งถูกยกให้เป็น “เมืองสาครบุรี”, “เมืองสมุทรสาคร” และ “จังหวัดสมุทรสาคร” ตามลำดับ 2. ท่าฉลอม ศูนย์กลางของเมืองสมุทรสาครในอดีต และจุดกำเนิดของตำบลท่าจีน เกี่ยวกับความเป็นมาของตำบลท่าฉลอม ที่เป็นศูนย์กลางของเมืองสมุทรสาครในอดีต จากการมีศาลเจ้าเก่าแก่กว่า 100 ปี รวมทั้งเป็นชุมชนประมงที่สำคัญ และการที่ตำบลท่าฉลอมได้โอนหมู่ที่ 10-13 ไปตั้งเป็นตำบลท่าจีน

3. ศิลปกรรมโบราณที่พบในเขตท่าจีน-ท่าฉลอม: ชุมชนสมัยแรกของสมุทรสาคร เกี่ยวกับโบราณสถาน-โบราณวัตถุในศาสนาซึ่งพบที่เขตท่าจีน-ท่าฉลอม บ่งบอกว่าพื้นที่ที่เก่าแก่ที่สุดในทางประวัติศาสตร์และงานศิลปกรรมของสมุทรสาครอยู่ที่บริเวณท่าจีน 4. บ้านเก่า เรือนเดิม สะท้อนประวัติศาสตร์บันทึกอยู่ในสถาปัตยกรรมของท่าฉลอม เกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมบ้านที่อยู่อาศัย แบ่งตามรูปแบบออกเป็น 5 รูปแบบ คือ เรือนพื้นถิ่น (ล้ง) เรือนแบบไทยผสมจีน บ้านเรือนแบบที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก บ้านแบบสมัยใหม่ และเรือนแถว-ตึกแถว

5. นามเมืองภาษาจีนของท่าจีนและท่าฉลอม เกี่ยวกับความหมายของ “ท่าจีน” ซึ่งชาวจีนถอดเสียงคำดังกล่าวว่า “เที่ยจิง” และคำว่า “เล้งเกียฉู่” ที่แปลว่า บ้านลูกมังกร 6. ศาลเจ้าจีนและภาพสะท้อนอัตลักษณ์ชาวจีนในท่าฉลอม เกี่ยวกับชาวจีนที่อาศัยอยู่ในท่าฉลอม ซึ่งชาวจีนแต้จิ๋วเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด จากการเรียกนามสถานที่ตามภาษาถิ่นแต้จิ๋วเป็นที่แพร่หลาย และหลักฐานศิลปกรรมในศาลเจ้าของท่าฉลอม ประกอบด้วย 2 กลุ่มภาษาหลัก คือ แต้จิ๋วและไหหลำ 7. ท่าจีน ท่าฉลอม ระบบเศรษฐกิจและผู้คน เกี่ยวกับชุมชนท่าจีนในอดีต ที่เป็นแหล่งค้าขายขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางการค้าทั้งสินค้าขาเข้าและขาออก

8. เรื่องเล่าในอดีตจากจีนสู่ไทย เกี่ยวกับเรื่องเล่าในอดีตของผู้สูงอายุในพื้นที่ท่าฉลอม โดยยกเรื่องราวของ นางพรจิตร สร้อยเพ็ชร หรือ ป้าจู วัย 78 ปี ที่เล่าเรื่องราวการอพยพย้ายถิ่นฐานจากประเทศจีนมาสู่ประเทศไทย ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ โดยใช้รูปแบบการเดินทางด้วยเรือเหล็กเป็นเวลา 15 วัน และ 9. ความสัมพันธ์ของชาวจีน: ระบบเครือญาติในชุมชนท่าฉลอม เกี่ยวกับกลุ่มสายตระกูลดั้งเดิมที่สำคัญในชุมชนที่ฉลอม คือ ตระกูลตู้จินดา ตระกูลมณีรัตน์ ตระกูลลือประเสริฐ ตระกูลมีอำพล ตระกูลนิจยะ ตระกูลอุตตะเดช และตระกูลระวิวงศ์

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *