“กรมควบคุมมลพิษ” ติวเข้มเฝ้าระวังลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย จ.สมุทรสาคร

กรมควบคุมมลพิษ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การเฝ้าระวังติดตามปัญหามลพิษจากการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายในพื้นที่เสี่ยง ครั้งที่ 4 จ.สมุทรสาคร

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 3 ก.ย. ที่ภัตตาคารนิวรสทิพย์ ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเฝ้าระวังติดตามปัญหามลพิษจากการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายในพื้นที่เสี่ยง” ครั้งที่ 4

โดยมี นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ดร.รวมทรัพย์ คะเนะดะ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร มีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ องค์กรเอกชน อาสาสมัคร เครือข่าย ทสม.จังหวัดสมุทรสาคร และประชาชนในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เข้าร่วมการฝึกอบรมจำนวน 50 คน

นายสุเมธา วิเชียรเพชร ผู้อำนวยการกองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคอุตสาหกรรมที่มีปริมาณมากขึ้นทุกปี โดยปัจจุบันพบว่ามีปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 3 ล้านตันต่อปี แต่ระบบบำบัดและกำจัดที่มีอยู่สามารถรองรับได้ไม่เกินร้อยละ 50 ที่ส่วนเหลือจึงมีความเสี่ยงต่อการจัดการที่ไม่ถูกต้อง และเป็นสาเหตุของการลักลอบทิ้งในพื้นที่ต่าง ๆ

จากสถิติการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมในรอบ 5 ปี (2556 – 2560) ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่ามีการลักลอบทิ้งจำนวน 32 ครั้ง และยังไม่มีแนวโน้มลดลง ส่วนใหญ่เกิดเหตุในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง และจากข้อมูลสถิติรายจังหวัด พบว่า จ.ชลบุรี มีสถิติการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมสูงสุด รองลงมาคือระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ตามลำดับ

โดยสถิติการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ในช่วง 3 ปี (2559-2562) เกิดขึ้นจำนวน 9 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการลักลอบทิ้งกากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมจำพวกถังและภาชนะบรรจุสารเคมี กากน้ำมันดำ และกากตะกรันอลูมิเนียมที่ทิ้งในพื้นที่เอกชน บ่อขยะและที่รกร้าง

ปัจจุบันพบว่ามีผู้ประกอบการจากประเทศจีนย้ายฐานการผลิตเข้ามาตั้งในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นโรงงานคัดแยกหรือแปรรูปวัสดุเหลือใช้ และโรงหลอม ซึ่งจะมีการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ใช้แล้ว และวัสดุรีไซเคิลจำพวกพลาสติกต่าง ๆ จากการสำรวจพบว่าโรงงานหลายแห่งยังไม่มีระบบการจัดการกากของเสียอันตรายที่เหลือจากกระบวนการผลิตอย่างถูกต้อง จึงมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

ทั้งนี้ แนวทางหนึ่งที่สามารถลดผลกระทบจากปัญหามลพิษจากการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม คือ การกำกับดูแลโรงงานและสถานประกอบการ การให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหามลพิษจากการลักลอบทิ้ง การสังเกตและจำแนกชนิดกากของเสีย เครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจสอบ แนวทางในการบำบัดและกำจัดกากของเสียและการประเมินการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย ให้แก่เจ้าหน้าที่และเครือข่ายหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งภาคเอกชน อาสาสมัคร และภาคประชาชน รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและป้องกันการลักลอบทิ้งในพื้นที่เสี่ยง และสนับสนุนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนตำบล

กรมควบคุมมลพิษ จึงได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ พัฒนาองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานประกอบการ อาสาสมัคร และประชาชน และเป็นการส่งเสริมภาคีเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย ในระดับจังหวัดและระดับชุมชน เพื่อสร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ ในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายในชุมชน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *