“สมุทรสาครพัฒนาเมือง” จับมือ “ดีป้า” ผุดโครงการมัคคุเทศก์ดิจิทัลที่ชุมชนท่าฉลอม

สมุทรสาครพัฒนาเมือง ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดตัวโครงการมัคคุเทศก์ดิจิทัลที่ชุมชนท่าฉลอม บอกเล่าประวัติเรื่องราว 25 สถานที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวทราบผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 5 มี.ค. ที่ศูนย์การท่องเที่ยวและกิจกรรมชุมชนบ้านท่าฉลอม ต.ท่าฉลอม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า จัดงานเปิดตัว “โครงการมัคคุเทศก์ดิจิทัลที่ชุมชนท่าฉลอม” โดยมี ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นประธานเปิดงาน 

มีนายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม รองประธานกรรมการ สมุทรสาครพัฒนาเมือง, นายชิงชัย บุญประคอง ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร, นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ประสานงาน อบจ. สมุทรสาคร รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ กลุ่มพลังสตรีท่าฉลอม กลุ่มอาสาพัฒนาเมืองสมุทรสาคร นักเรียนจากสถานศึกษาและประชาชนผู้สนใจในเขต ต.ท่าฉลอม เข้าร่วมงาน

สำหรับ “โครงการมัคคุเทศก์ดิจิทัลที่ชุมชนท่าฉลอม” มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำดิจิทัลคอนเทนต์ บอกเล่าประวัติเรื่องราวที่มีเสน่ห์และน่าสนใจของสถานที่ท่องเที่ยว 25 แห่งในท่าฉลอม พร้อมติดป้ายคิวอาร์โค้ดให้สามารถสแกนเปิดดูได้ในแต่ละสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ทราบถึงประวัติเรื่องราวของสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ เหมือนกับมีมัคคุเทศก์เดินทางไปด้วย รวมทั้งเพื่อให้คนในชุมชนท่าฉลอมได้เห็นถึงคุณค่าและเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันดูแลสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ดร.สุวันชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่าฉลอมเป็นชุมชนจีนที่เก่าแก่ และเป็นชุมชนประมงที่สำคัญในอดีต รวมทั้งยังเป็นสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของไทย จึงมีประวัติเรื่องราวในพื้นที่ที่มีเสน่ห์และน่าสนใจมากมาย แต่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเองโดยไม่มีมัคคุเทศก์ไม่อาจทราบถึงประวัติเรื่องราวดังกล่าวได้ “โครงการมักคุเทศก์ดิจิทัลที่ชุมชนท่าฉลอม” จะช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถทราบถึงข้อมูลดังกล่าวในรูปแบบคลิปวีดีโอของสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งได้ โดยผ่านการสแกนป้ายคิวอาร์โค้ดที่ติดไว้ตามสถานที่นั้น ๆ รวม 25 แห่ง 

ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่าฉลอมเองโดยไม่มีมัคคุเทศก์เฉลี่ยประมาณ 300 คนต่อเดือน คาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการขายสินค้าและบริการของชุมชนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ร้อยละ 5 ของรายได้จากการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ท่าฉลอมจะนำไปเข้าเป็นกองทุนพัฒนาชุมชนท่าฉลอม เพื่อไว้ใช้จ่ายในกิจกรรมหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนท่าฉลอมต่อไป 

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *