“อนุทิน” ยก “อสม.-อสต.” ด่านหน้าเฝ้าระวังป้องกัน “โควิด-19” ในแรงงานต่างด้าว

รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ลงพื้นที่สมุทรสาคร ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ อสม. และอสต. มอบนโยบายค้นหาเชิงรุกผู้ติดเชื้อโดยวีธี Pool Sample พร้อมเยี่ยมชมศูนย์สาธารณสุขชุมชนต่างด้าว-หอพักต้นแบบต่างด้าว 

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 27 เม.ย. ที่ห้องประชุมแสงสุขเอี่ยม ชั้น 6 โรงพยาบาลนครท่าฉลอม ต.ท่าฉลอม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อริบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5, และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 

โดยมี นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, นพ.สุรพล อริยปิติพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร, นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร, หัวหน้าส่วนราชการ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) ให้การต้อนรับ 

สำหรับการลงพื้นที่ของนายอนุทินและคณะในครั้งนี้ เพื่อให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ที่ทุ่มเทเสียสละแรงกายแรงใจปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งแกนนำ อสม., อสต. ที่ทำหน้าที่เป็นนักรบด่านหน้าต้านภัยโควิด-19 ในชุมชนเพื่อประชาชนชาวไทยมาเป็นอย่างดี 

และให้นโยบายการป้องกันโรคโควิด-19 โดยการเพิ่มความเข้มขันในการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเปราะบาง เช่น แรงงานต่างด้าว เรือนจำ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อให้รวดเร็ว โดยวีธี Pool Sample เก็บตัวอย่างจากน้ำลาย นำมาตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะกับการตรวจเชิงรุก 

พร้อมกันนี้ นายอนุทิน ได้มอบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19  ให้แก่ รพ.สมุทรสาคร ประกอบด้วย หน้ากากอนามัย 10,000 ชิ้น, หน้ากาก N95 400 ชิ้น, ชุด PPE จำนวน 400 ชุด ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังบ้านเอื้ออาทรการเคหะท่าจีน หมู่ 7 ต.ท่าจีน อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เพื่อเยี่ยมชมศูนย์สาธารณสุขชุมชนต่างด้าวและหอพักต้นแบบต่างด้าว และและมอบหน้ากากอนามัย 1,200 ชิ้น, เฟซชิลด์ 200 อัน และเจลล้างมือแบบพกพา 280 หลอด ให้กับ อสต. บ้านเอื้ออาทร จ.สมุทรสาคร 

สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง มีการใช้แรงานไทยและต่างด้าวจำนวนมาก ทั้งนี้ แรงานต่างด้าวถือเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงจากสภาพความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างแออัด รูปแบบการใช้ชีวิตที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มอย่างใกล้ชิด สุขอนามัยที่เอื้อต่อการเกิดโรด ขาดความเข้าใจและการเข้าถึงข้อมูลสำคัญด้านสุขภาพจากอุปสรรคด้านภาษา จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ ดังนั้นการดำเนินการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจึงมีความจำเป็น

จากสถานการณ์โควิด-19 ของไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้เริ่มมีการเตรียมการผ่อนปรนมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ โดยจะมีการพิจารณาเริ่มผ่อนปรนตามความเสี่ยงของแต่ละจังหวัด แต่ยังต้องมีการเตรียมความพร้อมและคงระดับความเข้มข้นของมาตรการที่สำคัญอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดระลอกที่ 2 ดังเช่นประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นการค้นหาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเชิงรุกจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยง

นอกจากการค้นหาผู้ป่วยแล้ว เรื่องที่ต้องทำไปพร้อมกันคือ การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน และการส่งเสริมให้ อสม., อสต. และชุมชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันโรคอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมากรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ประสานความร่วมมือกับ อสม. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้คนไทยและต่างด้าวมีสุขภาพอนามัยที่ดีเท่าเทียมกัน มีการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน และพัฒนากฎหมายรองรับสถานะ อสต. พัฒนาหลักสูตรและมีการสร้างครูฝึก 162 คน จาก 36 จังหวัด และมีรายงานฐานข้อมูล อสต. จาก 9 จังหวัด ปัจจุบันมีจำนวน 4,145 คน เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายของแรงงาน แต่บางจังหวัดมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อ

ทั้งนี้ ในสถานการณ์โควิด-19 ได้มีการจัดระบบการทำงานเฝ้าระวังป้องกันในกลุ่มแรงงานต่างด้าว โดยทำงานประสานความร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานแรงงานจังหวัด เหล่ากาชาดจังหวัด โดยจัดระบบดำเนินการ 4 ระบบ คือ 1. ระบบปฏิบัติการป้องกันและเฝ้าระวังโรคในชุมชนต่างด้าว, 2. ระบบสนับสนุนแก่ อสม./อสต. ได้แก่ มาตรฐานการปฏิบัติงาน อุปกรณ์ป้องกันตนเอง และชุดสื่อความรู้,

3. ระบบรายงาน รวบรวมรายงานผ่านฐานข้อมูล หรือหน่วยบริการ และ 4. ระบบสื่อสาร ประสานงานและส่งต่อ ผ่าน Social Media กับสถานพยาบาล ส่งเสริมการใช้แอพฯ พ้นภัย ซึ่งมีภาษาพม่าและกัมพูชา โดยมีพื้นที่เป้าหมายคือสถานที่ทำงาน และชุมชนที่พัก และใช้วิธีเคาะประตูหอพักเชิงรุกเพื่อให้ความรู้ คัดกรองคันหากลุ่มเสี่ยง ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวและแยกสังเกตอาการ และเยี่ยมติดตามและรายงาน

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *