เล็งสร้าง “วัคซีนใจในชุมชน” ฟื้นฟูสุขภาพจิต ปชช. สมุทรสาคร ช่วงโควิด-19

ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 เข้าพบ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และคณะ เพื่อหารือแนวทางบูรณาการฟื้นฟูจิตใจให้ประชาชน ด้วยการสร้างวัคซีนใจในชุมชน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 26 พ.ค. ที่ห้องรับรอง ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และ น.ส.รัชวัลย์ บุญโฉม ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 ราชบุรี เข้าพบ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, นายเอกพร จุ้ยสำราญ ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร และนพ.สุรพล อริยปิติพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อหารือการวางแผนดำเนินงานขับเคลื่อนแนวทางการฟื้นฟูจิตใจ ในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

เนื่องด้วยทางกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ทางจังหวัดให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการดูแลสุขภาวะด้านจิตใจ และการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชนในพื้นที่ จึงได้วางแนวทางการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว ร่วมกับทางกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการสร้าง “วัคซีนใจในชุมชน” เป็นการสร้างชุมชนที่ปลอดภัย สงบ มีความหวัง และเข้าใจให้โอกาส เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนร่วมมือกันในการเผชิญกับปัญหาหรือวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ร่วมใจจัดการป้องกัน แก้ไขปัญหาจนสามารถก้าวข้ามปัญหาไปได้ อีกทั้งยังสามารถทำให้ชุมชนฟื้นตัวกลับสู่สภาพปกติในเวลาอันรวดเร็ว

โดยใช้กลไกการดำเนินการในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านหรือชุมชน (ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน อสม.) ระดับตำบล (กำนัน แพทย์ประจำตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รพ.สต.) ระดับอำเภอ (ส่วนราชการระดับอำเภอ พชอ. โรงพยาบาลระดับอำเภอ) และระดับจังหวัด (ส่วนราชการระดับจังหวัด โรงพยาบาลระดับจังหวัด) เพื่อดูแลสุขภาวะด้านจิตใจ เน้นมาตรการเชิงรุกในการให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาวะด้านจิตใจของประชาชน ปัญหาสภาวะความเครียดในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยทำหน้าที่สอดส่องดูแลความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ เพื่อดำเนินการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที 

โดยให้พิจารณาจากครอบครัวที่ประสบปัญหาที่อาจจะเป็นภาวะสุ่มเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ ได้แก่ กลุ่มเปราะบาง คือ ผู้สูงอายุและเด็กแรกเกิด,  ผู้พิการหรือผู้ป่วยติดเตียง, กลุ่มเสี่ยงและถูกแยกกักโรคหรือกักกันโรค, กลุ่มที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีความเสี่ยง, ผู้ประสบปัญหารายได้ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการป้องกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุกระดับ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีภูมิคุ้มกันทางใจ สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ได้

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *