เมียนมาเตรียมจัดเลือกตั้งล่วงหน้านอกประเทศ ณ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานฯ จ.สมุทรสาคร

ผู้ว่าฯสมุทรสาคร หารือผู้แทนสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เตรียมใช้ศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (TDCC) เป็นสถานที่จัดการเลือกตั้งล่วงหน้านอกประเทศ ระหว่าง 1-15 ต.ค. 2563

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยกับ “สาครออนไลน์” ว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้หารือกับผู้แทนสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ประกอบด้วย นายซาน เมียง โอ (U San Maung Oo) รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต, นายมอ บาลา (Maw Bala) อัครราชทูตที่ปรึกษา, พ.ต.ต.ยุ้นต์ เต็ง (Pol. Lt. Col. Nyunt Thien) ผู้รับผิดชอบศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (TDCC) และคณะ เกี่ยวกับสถานที่เลือกตั้งล่วงหน้านอกประเทศ ในการเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมา ที่ศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว จ.สมุทรสาคร

โดยทางการเมียนมา ได้กำหนดวันเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 – 15 ต.ค. 2563 โดยเลือก “ศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (TDCC)” บริเวณตลาดทะเลไทย ต.ท่าจีน อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เป็นหนึ่งในสถานที่จัดการเลือกตั้งล่วงหน้านอกประเทศ นอกจากสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ถนนสาทรเหนือ เขตบางรัก กรุงเทพฯ และสถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ต.ศรีภูมิ อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ เบื้องต้นมียอดผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศไทยประมาณ 30,000 คน ซึ่งจะต้องให้ทางคณะกรรมการเลือกตั้งเมียนมา (UEC) ตรวจสอบคุณสมบัติอีกครั้ง

นายวีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อ 2 เดือนก่อนหน้านี้ ได้มีการหารือกับผู้แทนสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทยถึงการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาฯ บริเวณตลาดทะเลไทย เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะสถานที่ดังกล่าวทางการเมียนมาเช่าไว้กับทางเอกชนให้เป็นที่ทำการ จึงไม่มีเอกสิทธิ์ทางการทูตเหมือนสถานทูตหรือสถานกงสุล ต้องขออนุญาตกับทางกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทยให้เรียบร้อยก่อน เบื้องต้นทั้งสองหน่วยงานได้รับทราบและเห็นชอบแล้ว ซึ่งทางจังหวัดสมุทรสาครยินดีและพร้อมที่จะให้มีการจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ 

โดยได้ฝากเรื่องไปยังผู้แทนสถานทูตเมียนมาฯ ให้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายการเลือกตั้งของเมียนมา กำหนดจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้แน่นหนาจนเกินไป รวมถึงการจัดกำลังดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งทางจังหวัดจะประสานกับทางตำรวจช่วยดูแลจัดระเบียบภายนอกสถานที่เลือกตั้ง และทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขช่วยดูแลในเรื่องการคัดกรอง การเว้นระยะห่าง และการสวมใส่หน้ากากอนามัยให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งหลังจากนี้ จะได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่การจัดการเลือกตั้งของทางการเมียนมา เจ้าหน้าที่รักษาความความสงบเรียบร้อยของทั้งสองประเทศ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทย เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดความสะดวกปลอดภัยของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และชุมชนชาวไทยด้วย 

นอกจากนี้ ได้ฝากไปยังคณะผู้แทนสถานทูตเมียนมาฯ ช่วยประชาสัมพันธ์ไปยังชุมชนชาวเมียนมา เชิญชวนให้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เพื่อเป็นกลไกในการดูแลส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค กระจายข่าวสาธารณสุขในชุมชนแรงงานต่างด้าว ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานต่างด้าว และจำนวนสถานประกอบการกว่า 7,000 แห่ง

ทั้งนี้ คณะกรรมการเลือกตั้งเมียนมาประกาศจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 พ.ย. 2563 โดยเป็นการลงคะแนนเลือกผู้แทนเข้าสภาแห่งชาติเมียนมา หรือปีดองซูลุตดอ (Pyidaungsu Hluttaw) ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) หรือปีตูลุตดอ (Pyithu Hluttaw) และสภาชาติพันธุ์ (สภาสูง) หรืออำโยตาลุตดอ (Amyotha Hluttaw) ดำรงตำแหน่งอยู่ในวาระ 5 ปี ปัจจุบันมีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งภายในประเทศเมียนมา 37 ล้านคน และในต่างประเทศ 4 ล้านคน 

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *