กรมชลฯ จัดปฐมนิเทศ “โครงการอุโมงค์ใต้คลองบางน้ำจืด”

กรมชลประทาน จัดประชุมปฐมนิเทศ โครงการงานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด เล็งช่วยระบายน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านอุโมงค์ระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที เพิ่มประสิทธิภาพเก็บกัก-ระบายน้ำแก้มลิง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 ก.ย. ที่ห้องโชติกา โรงแรมเซ็นทรัลเพลส ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร กรมชลประทาน จัดการประชุมปฐมนิเทศโครงการงานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด จังหวัดสมุทรสาคร โดยมี นายสากล ชลคีรี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย นายอรรถพล พรหมศิริ วิศวกรที่ปรึกษา กล่าวรายงาน มีผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำท้องที่ และประชาชนเข้าร่วมการประชุม

นายสากล เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นแหล่งน้ำสายสำคัญครอบคลุมพื้นที่ตอนกลางของประเทศไทย ด้วยปริมาณฝนตกชุกในระยะเวลาอันสั้นอย่างต่อเนื่องเป็นเหตุทำให้เกิดน้ำหลาก จนแม่น้ำสาขา ลำน้ำสาขา และลำน้ำอื่น ๆ รวมทั้งช่องทางการระบายน้ำต่าง ๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ทำได้ไม่เต็มศักยภาพ คลองหลายสายยังขาดความต่อเนื่อง ระบายน้ำลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและอ่าวไทยไม่ทัน ทำให้พื้นที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

กรมชลประทาน จึงมีโครงการระบายน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาล่าสุด คือ โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การบริหารจัดการน้ำพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก (2557-2560) ได้เสนอแผนรวมการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขและบรรเทาอุทกภัย ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 

ในปี 2563 ได้มอบหมายให้ กิจการร่วมค้า PWFS JV ดำเนินการสำรวจ ออกแบบ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของแผนงานที่ 4 โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก ใน 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

ซึ่งการประชุมปฐมนิเทศโครงการ จัดขึ้นเพื่อแนะนำโครงการ และความจำเป็นในการพัฒนาโครงการ แนะนำคณะทำงาน รวมทั้งชี้แจงขั้นตอนงานสำรวจ ออกแบบของโครงการให้กับหน่วยงานราชการต่างๆ ตลอดจนประชาชนผู้สนใจและผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ

สำหรับโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง ภายในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ องค์ประกอบที่สำคัญของโครงการฯ ประกอบด้วยงาน 2 ส่วนหลัก คือ

1. งานอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด ประกอบด้วย อาคารรับน้ำต้นทาง (บริเวณคลองภาษีเจริญ), อุโมงค์ระบายน้ำ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 6 เมตร ระยะทาง 12.34 กม., สถานีสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำคลองบางน้ำจืด, ช่องทางลง (Service Shaft) และอาคารทิ้งน้ำคลองมหาชัย 

2. งานปรับปรุงคันควบคุมน้ำทะเลพร้อมอาคารประกอบ ประกอบด้วย งานปรับปรุง/ขุดลอกคลองมหาชัย ระยะทาง 18.60 กม., งานปรับปรุงคันแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย โดยออกแบบถนนลาดยางและยกระดับถนน ที่ระดับ +250 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ระยะทางประมาณ 42.50 กม., งานปรับปรุงระบบไฟฟ้า/เครื่องกล บานระบายของประตูระบายน้ำเดิม 13 แห่ง และออกแบบประตูระบายน้ำเพิ่มเติม 1 แห่ง 

ซึ่งโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด สามารถช่วยระบายน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างตอนบนได้ 60 ลบ.ม./วินาที และเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำและการระบายน้ำของพื้นที่แก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย 

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *