ย้ายผู้ติดเชื้อโควิดเข้า “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร” วัดโกรกกราก วันแรก

ศูนย์ห่วงใยคนสาคร (วัดโกรกกราก) รับผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันแรก 30 คน ด้านรองผู้ว่าฯ เสนอสร้างพื้นที่กักกันโรคภายในสถานประกอบการของตนเอง ให้การควบคุมโรคผ่านไปด้วยดี

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 31 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์ห่วงใยคนสาคร (วัดโกรกกราก) ต.โกรกกราก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ได้เริ่มมีการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ หรืออาการไม่รุนแรงมากนัก จำนวน 30 คน เข้ามาพักอยู่ภายในศูนย์ฯ จนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อ และมีภูมิคุ้มกันหรือแอนตี้บอดี้ จึงจะได้กลับออกไปใช้ชีวิตตามปกติ เบื้องต้นภายในศูนย์ฯ แห่งนี้ ได้จัดเตียงสนามรองรับผู้ติดเชื้อไว้จำนวน 140 คน มีนายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ใหญ่

พร้อมกันนี้ก็ได้มี คำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร เรื่อง จัดตั้งสถานที่ป้องกันและควบคุมโรคตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อใช้บริเวณสถานที่ปฏิบัติธรรมของวัดโกรกกราก เป็นที่จัดตั้ง “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร (วัดโกรกกราก)” โดยห้ามบุคคลใดที่ไม่ได้รับอนุญาต เข้าไปหรือออกจากสถานที่ดังกล่าว เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรค ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ มีโทษตามนัยมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ในส่วนของตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาครนั้น จะต้องวางแนวทางและมาตรการในการดำเนินงานเพื่อให้เริ่มเปิดหลังจากปีใหม่ไปแล้วให้ได้ แต่ยังไม่สามารถกำหนดวันที่ชัดเจนได้ ก็ต้องรอฟังคำสั่งจากทางรัฐบาล หรือ ศบค.อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็จะต้องเป็นไปให้เร็วที่สุด อาจจะประมาณวันที่ 4 – 5 ม.ค. ส่วนการตรวจผู้ที่อยู่ในตลาดกลางกุ้งฯ นั้น ได้ดำเนินการใน 2 รูปแบบควบคู่กันไป คือ การตรวจหาเชื้อ กับ ตรวจภูมิคุ้มกัน ซึ่งทุกคนต้องได้รับการตรวจอย่างครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ โดยมีฐานข้อมูลจากระบบของ ตม.ที่เข้ามาดำเนินการ ทำให้สามารถระบุตัวตนได้ชัดเจน

ด้านนายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร บอกว่า ภาพรวมของโรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์ห่วงใยคนสาคร ที่ศูนย์วัดโกรกกราก ก็มีความพร้อมและทางเราได้นำคนเข้าแล้ว โดยคนเหล่านี้เป็นผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และถ้ามีอาการป่วยหนักก็จะส่งโรงพยาบาล ขณะที่สนามกีฬากลางจังหวัด มีความพร้อม 95 เปอร์เซ็นต์ รอการนำเตียงมาลงให้ครบจำนวน ซึ่งตอนนี้มีอยู่กว่า 300 เตียง และอยู่ระหว่างการจัดหาเพิ่มเพื่อให้ครบ 540 เตียง ส่วนที่ศูนย์ฯ วัฒนาแฟคทอรี่ ใน ต.พันท้ายนรสิงห์ รองรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 200 กว่าคน มีความพร้อมราว 70 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องดำเนินการเรื่องห้องน้ำ และห้องอาบน้ำ ที่จะต้องเป็นไปตามระบบการควบคุมโรค

นายสุรศักดิ์ฯ กล่าวอีกว่า สำหรับศูนย์ห่วงใยคนสาคร จะต้องมีการเพิ่มเติมอีกกี่แห่งนั้น ก็ต้องมีการประเมินสถานการณ์รายวันก่อน แต่ทั้งนี้ทางจังหวัดก็ต้องเตรียมการจัดหาสถานที่ที่มีความพร้อมไว้ ให้สามารถเข้าไปดำเนินการจัดตั้งได้เลย ซึ่งถ้าเป็นที่ดินว่างเปล่าไม่มีตัวอาคาร จะทำให้เกิดความยากลำบากในการตั้งเต็นท์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ แต่ถ้าเป็นโรงงาน หรือโกดังขนาดใหญ่ ก็ช่วยให้การทำงานสะดวกมากขึ้น และเร็วขึ้นด้วย

ซึ่งนอกจากทางจังหวัดจะได้ดำเนินการจัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาครเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว ยังได้มีความพยายามในการดำเนินโครงการยกระดับโรงงาน หรือสถานประกอบการให้ทำพื้นที่ของตนเองเป็น Quarantine หรือ พื้นที่กักกันโรคสำหรับแรงงานของสถานประกอบการนั้น ๆ ที่ตรวจพบเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ซึ่งขณะนี้มีสถานประกอบการ 2 แห่งเข้าร่วมโครงการแล้ว และหลังจากนี้ก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบความพร้อม ก่อนที่จะนำผู้พบเชื้อให้เข้าไปอยู่ได้ ในการนี้จึงขอความร่วมมือทั้งจากภาคเอกชน และสถานประกอบการต่าง ๆ หากมีพื้นที่ที่สามารถดำเนินการจัดตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาคร หรือปรับให้เป็น  Local Quarantine ในสถานประกอบการได้ ก็ขอให้ความร่วมมือกับทางจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อการดำเนินงานด้านการควบคุมโรคโควิด 19 ให้ผ่านพ้นลุล่วงไปด้วยดี

สำหรับบรรยากาศของการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ เข้ามาที่ศูนย์ห่วงใยคนสาคร (วัดโกรกกราก) นี้ ก็พบว่า ในวันแรกมีการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ ที่ค้นพบในชุมชนและสถานประกอบการเข้ามาทั้งหมด 30 คน โดยรถกระบะ 3 คัน ซึ่งเมื่อรถมาถึงหน้าประตู 1 ก็จะให้รถถอยหลังเข้าไป จากนั้นจึงส่งผู้ที่จะเข้ามาพักอาศัยให้ลงจากรถ แล้วทุกคนก็จะต้องผ่านการฉีดพ่นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อก่อน แล้วก็เข้าไปรับฟังการปฏิบัติตนภายในศูนย์ฯ จากบุคลากรทางการแพทย์และล่าม ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายใน โดยไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปอย่างเด็ดขาด ส่วนภายนอกก็มีทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ คอยตรวจตราความสงบเรียบร้อยตลอด 24 ชั่วโมง

อีกทั้งยังมีการกั้นพื้นที่ทางเข้า – ออก ไม่ให้รถหรือคนที่มาออกกำลังกายผ่านบริเวณด้านหน้าศูนย์ฯ ทางด้านการดูแลผู้ป่วยภายในของศูนย์ฯ แห่งนี้ ได้มีการนำระบบเทเลเมดิซีน หรือระบบการแพทย์ระยะไกล มาใช้ในการให้ยาตามอาการ ตรวจรักษาและเฝ้าดูอาการของผู้ติดเชื้ออีกด้วย โดยบุคลากรทางการแพทย์จะเฝ้าดูอยู่ด้านหน้าศูนย์ฯ ผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ในเต็นท์สำนักงานอาคารแพทย์ หากเห็นใครมีอาการผิดปกติก็จะรีบเข้าให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เป็นการลดอัตราความเสี่ยงจากการสัมผัส ซึ่งเป็นศูนย์ฯ แรก และศูนย์เดียวในขณะนี้ ที่มีการนำระบบเทเลเมดิซีน หรือระบบการแพทย์ระยะไกลมาใช้

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *