
ที่ประชุม ศบค. เผยนายกฯ ให้ 5 จังหวัด “สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด” ใช้คำว่า “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” กว่าพื้นที่สีแดง 23 จังหวัดที่เหลือ ใช้สีแดงเลือดหมูเป็นสัญลักษณ์ ย้ำไม่ได้เป็นการเล่นคำ แต่ต้องการอำนวยความสะดวก ช่วงต้องเผชิญกับโรคติดต่อ ด้านรองนายกฯ แจงยังอยู่ในมาตรการระยะที่ 1
วันนี้ (5 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงรายละเอียดการประชุมของ ศบค.ชุดใหญ่ เมื่อวานนี้ ถึงกรณีที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เสนอให้ล็อกดาวน์ 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด นั้น คณะกรรมการ ศบค. แจ้งว่า พื้นที่ที่มีการระบาดอย่างหนัก รมช.สาธารณสุข ก็ได้เสนอว่าอยากจะให้ทั้ง 5 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดกว่าพื้นที่สีแดง เพิ่มมาตรการในการคุมการเดินทางให้มากขึ้นกว่านี้อีก เพราะมาตรการเดิมที่ผ่านมา ทราบว่าบุคคลที่ติดเชื้อมาจากการละเล่น (การพนัน) แล้วย้ายที่เล่นมากมายหลายที่ เพราะฉะนั้นการตรวจตอนนี้จะต้องเข้มงวดมากขึ้น และต้องใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เช็กกันทุกคน ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. ขอใช้ชื่อว่า “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” จำกัดกรอบให้ได้ 5 จังหวัด คนที่อยู่ใน 5 จังหวัดนี้ หรือคนที่จะเดินทางไปใน 5 จังหวัดนี้จะได้รับความไม่สะดวกมากยิ่งขึ้นในช่วงเวลานี้ เพื่อที่จะควบคุมโรคนี้ให้ได้ เน้นย้ำแผนที่มาตรการในรูปแบบเดิม แต่จะระบายสีแดงเลือดหมู คือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
เมื่อถามว่า พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ถือเป็นการล็อกดาวน์หรือเปล่า และแตกต่างจาก 23 จังหวัดที่เหลือหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เราจะไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์ เพราะตอนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามออกนอกเคหะสถาน 22.00-04.00 น. ห้ามมีการเดินทาง ขนส่งก็หยุด สนามบินก็หยุด ถ้าล็อกดาวน์คือภาพเต็มชุดทั้งหมด แต่ตอนนี้ยังมีการเดินทางด้วยขนส่งได้แต่ต้องตรวจ ต้องมีมาตรการ คนที่จะไปนั่งก็เดินทางได้แต่ยุ่งยากหน่อยต้องโหลดแอปฯ หมอชนะ หรือเช็กอินด้วยไทยชนะ มีความยุ่งยากในการเดินทาง จะต้องไปเจอด่านสกัด นี่ไม่ใช่การล็อกดาวน์ แต่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
“ไม่ได้เป็นการเล่นคำ ต้องการอำนวยความสะดวกในช่วงเวลาที่เราต้องเผชิญกับโรคติดต่อเท่านั้น ล็อกดาวน์ไม่ได้มีการพูดคุยกันเลย แต่พื้นที่ 5 จังหวัดจะถูกเข้มงวดยิ่งไปกว่า 23 จังหวัดที่เหลือ เพราะจะต้องตั้งจุดตรวจมากยิ่งขึ้น โหลดแอปหมอชนะ ติดตามรถทุกคัน รถบัสทุกคันต้องเช็กทุกคน จะละเอียดมากขึ้น เพราะบ่อนนั่นบ่อนนี่ พฤติกรรมของคน ไม่ใช่เล่นที่เดียวแล้วเลิก เขาย้าย ที่นี่เสีย มีความคิดอยากจะไปได้ที่อื่น ก็เลยนั่งรถไปเล่นที่อื่น ก็เลยเกิดการเคลื่อนย้ายกันอยู่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นระหว่างสาธารณสุขเห็นเหตุ ฝ่ายปกครองเข้าใจ เพราะฉะนั้นปิดเป้าหมายให้ได้ คำว่าสถานที่ลักลอบเล่นการพนัน ต้องตรวจเข้ม ต้องไม่มี ส่วนการจะเคลื่อนย้ายต้องลำบากเข้าไว้หน่อย ตรงนี้ไม่ใช่ล็อกดาวน์ แต่เป็นการทำให้เกิดความเข้มงวดขึ้นมา เป็นการออกแบบมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องไม่เดือดร้อน จังหวัดที่มีความเสี่ยงของโรคสูงก็ต้องเดือดร้อนกันหน่อย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า “ไปอ่านเอาให้เข้าใจ ว่าอะไรคือล็อกดาวน์ ไม่ล็อกดาวน์”
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะเข้มข้นมาตรการใน 5 จังหวัดดังกล่าว แต่ไม่ถึงกับเข้มข้น 100% จึงไม่เหมือนกับการล็อกดาวน์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา รายละเอียดจะมีการแถลงภาพหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. และในที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการประกาศเคอร์ฟิว โดยนายกรัฐมนตรีใช้คำว่าระยะที่ 1 คือขณะนี้ ซึ่งการแพร่ระบาดยังช้าอยู่ ควบคุมได้อยู่ก็จะใช้มาตรการเดิม แต่หากไปถึงจุดหนึ่งที่จะกลายเป็นระยะที่ 2 อาจต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้น โดยไม่ได้ยึดกรอบเวลาแต่ยึดที่สถานการณ์ หากพื้นที่สีแดงพื้นมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และพื้นที่สีส้ม สีเหลืองเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีแดงมากขึ้น การแพร่ระบาดของเชื้อทวีความรุนแรงก็ต้องประเมินสถานการณ์ และมีโอกาสเพิ่มมาตรการเข้มข้นมากกว่าระยะที่ 1
“ขอใช้คำสั้นๆ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการใช้มาตรการระยะที่ 1 ซึ่งมีความหนักเบา แต่ละพื้นที่สลับกันไป เมื่อครั้งโควิด-19 ระบาดใน 1 ปีที่ผ่านมา อำนาจจะเข้ามาอยู่ที่ ศบค. ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ครั้งนี้เราคืนอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพียงแต่มีข้อความให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมั่นใจว่าจะไม่ถูกฟ้อง และได้รับการคุ้มครอง โดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปคุ้มครองให้ออกคำสั่ง แต่ไม่ได้สั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปัญหาที่ตามมาคือความลักลั่นในแต่ละพื้นที่ โดยในระยะที่ 1 ให้เป็นเช่นนี้ไปก่อน ปัญหานี้ในที่ประชุม ศบค. ก็มีการพูดถึงคงต้องปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไประยะหนึ่งแล้วค่อยปรับเข้าไปสู่มาตรฐานเดียวกันในระยะที่ 2 เป็นการเรียกอำนาจกลับคืนมาเป็นของนายกฯ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่า มาตรการต่างๆ กระทบกับภาคเอกชนรัฐบาลมีเงินเพียงพอในการเยียวยาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการพูดถึงในส่วนนั้น
สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ