สมุทรสาครชื่นชม “นายกวัฒนา” ยกโรงงานใหม่ 50 ล้านบาท ตั้ง รพ.สนาม ทุ่มอีก 8 ไร่ สร้างเพิ่ม 1,000 เตียง

เตรียมเปิด รพ.สนาม “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร” วัฒนาแฟคตอรี่ รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เบื้องต้น 140 เตียง ด้านนายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ เผยทุ่มสุดตัว ยกที่ดิน 8 ไร่ สร้างเพิ่ม 1,000 เตียง หากไม่พอเพิ่มได้เต็มพิกัด 100 ไร่

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่วัฒนาแฟคทอรี่ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เพื่อติดตามความคืบหน้าการสร้าง “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร” แห่งที่ 3 พร้อมกับ นายวัฒนา แตงมณี นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ ซึ่งเป็นผู้มอบอาคารโกดังโรงงาน 2 หลัง บนเนื้อที่เกือบ 5 ไร่ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท ให้เป็นโรงพยาบาลสนาม หรือ ศูนย์ห่วงใยคนสาคร เพื่อนำผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร มากักตัวอยู่ที่นี่เป็นระยะเวลา 14 วันหรือจนกว่าหาย ตามมาตรการที่กำหนดไว้ 

โดยพบว่า มีการนำเตียงนอนมาลงในพื้นที่เต็มอัตรา 140 เตียง พร้อมกับเครื่องนอน หมอน ผ้าห่ม ส่วนห้องสุขา-ห้องอาบน้ำ ก็ได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คงเหลือแต่การจัดพื้นที่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ ที่จะเข้ามาดูแลผู้ติดเชื้อภายในศูนย์ฯ แห่งนี้ ซึ่งหลังจากการจัดระบบที่นอนภายในเรียบร้อยแล้ว บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ก็จะเข้ามาดำเนินการในเรื่องของการวางระบบ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อต่อไป 

สำหรับศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 3 มีโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบทางด้านแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ คาดว่าอีก 1–2 วันนี้ ก็จะสามารถนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากในชุมชนเข้ามากักตัวได้ โดยจะสามารถรองรับได้โกดังละ 140 คน รวมทั้ง 2 โกดัง ประมาณ 280 – 300 คน

นายวัฒนาฯ ยังบอกอีกว่า นอกจากโกดัง 2 หลังนี้แล้ว ตนยังจะได้สร้างโรงพยาบาลสนาม บนเนื้อที่ 8 ไร่ ภายในโครงการวัฒนาแฟคตอรี่ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้ออีก 1,000 เตียง โดยใช้ทั้งเงินส่วนตัว และส่วนหนึ่งก็ได้รับการสนับสนุนมาจากเพื่อน ๆ ผู้ใจบุญใจกุศล และมูลนิธิต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการสร้างโรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียงนี้ด้วย อีกทั้งยังได้ความร่วมมือจาก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการสภาความมั่นคงแห่งชาติ จัดกำลังคนมาช่วยดำเนินการ สร้างโรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียง ซึ่งก็ได้เร่งทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 10 วันข้างหน้า โดยขณะนี้ได้มีการออกแบบเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย  และอยู่ระหว่างการปรับหน้าดิน ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างตามแบบแปลนที่วางไว้  ส่วนงบประมาณการก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 5 ล้าน

นายวัฒนา ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ในวันนี้ตนเห็นว่าพี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสาครต้องหันมาร่วมมือกันในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ส่วนของตนนั้นหากโรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียง ไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ตนก็ยินดีที่จะสร้างเพิ่มให้อีก หรือถ้าจะต้องสร้างจนเต็มพื้นที่ 100 ไร่ที่เหลืออยู่นี้ก็ยินดี เพื่อให้จังหวัดสมุทรสาครมีที่รองรับผู้ติดเชื้อโควิด- 19 เพราะในสภาวะเช่นนี้ แม้ตนจะสร้างโรงงานไปก็คงไม่มีใครมาซื้อ ดังนั้นจึงหันมาทำโรงพยาบาลสนาม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม และจังหวัดสมุทรสาครจะดีกว่า โดยการทำครั้งนี้ตนทำด้วยหัวใจ ไม่มีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง เช่นเดียวกันสำหรับผู้ที่พอจะมีกำลังทรัพย์ สิ่งของ หรือสถานที่ ซึ่งพอจะสามารถช่วยเหลือจังหวัดสมุทรสาครได้ ไม่ว่าจะทางใดก็ทางหนึ่ง ก็อยากจะให้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ก่อนที่จะแพร่ระบาดมากไปกว่านี้

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *