
ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์ประกาศ 2 ฉบับ สมุทรสาครกำหนด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แต่ไฟเขียวร้านอาหารนั่งทานได้ ห้างปิด 3 ทุ่ม จำกัดคนเข้าตลาด แต่ยังปิดผับบาร์ คาราโอเกะ ร้านนวด ร้านเกม สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ฟิตเนส สวนสนุก สถานีขนส่ง ด้านเชียงใหม่จังหวัดแรก มีมติต้อนรับทุกจังหวัด เว้นมาจากสมุทรสาครต้องกักตัว 14 วัน
วันนี้ (29 ม.ค.) ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์ประกาศ 2 ฉบับ ได้แก่ คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 2/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 18)
สาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดสมุทรสาครก็คือ ในข้อกำหนดได้ระบุการกำหนดพื้นที่สถานการณ์ ให้พื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่จำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง เพื่อให้การสกัดและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเป็นไปโดยรวดเร็วและเด็ดขาด ส่งผลทำให้ไม่สามารถใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาได้
สำหรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จำเป็นสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประกอบด้วย ข้อ 1 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อาศัยอำนาตตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อสั่งปิดสถานที่ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไว้เป็นการชั่วคราว หรือสั่งห้ามการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ อย่างน้อยได้แก่สถานที่ดังต่อไปนี้ สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สถานประกอบการนวดแผนไทย ตู้เกม ร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ต สนามมวย สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ยิม ฟิตเนส สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นเด็ก สวนสนุก สถานีขนส่งสาธารณะ
ข้อ 2 ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะตามข้อยกเว้นตามที่กำหนดในข้อ 2 ของข้อกำหนด (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564
ข้อ 3 ให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม ดังต่อไปนี้สามารถเปิดดำเนินการได้ ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา และการจัดระบบและระเบียบต่างๆ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ได้แก่
ก. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการและสามารถบริโภคในร้านได้ตำมปกติ โดยจัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน และการจัดสถานที่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด และให้เปิดดำเนินการไม่เกิน 21.00 นาฬิกา โดยห้ามการบริโภคสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน
ข. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถำนที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดดำเนินการได้ตามปกติแต่ไม่เกิน 21.00 นาฬิกา สำหรับร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่งชุมชน หรือสถานประกอบกำรอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดดำเนินการตำมกำหนดเวลาทำการปกติของสถานที่นั้นๆ
ค. ตลาด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดค้าส่ง ให้เปิดดำเนินการได้ โดยจำกัดจำนวนบุคคลที่อยู่ในพื้นที่และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
ง. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน สถานที่พักผู้สูงวัยเฉพาะการเข้าพักอาศัยเป็นประจำ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดดำเนินการเพื่อการให้ความช่วยเหลือตามภารกิจได้
จ. โรงงาน สถานประกอบการ ให้เปิดดำเนินการได้ตามปกติ ซึ่งเจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในสถานที่นั้นๆ ต้องจัดให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่กำหนด
ส่วนข้อ 8 การเข้มงวดกับสถานที่หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อน เพื่อให้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการสามารถยับยั้งการระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้มงวดในการเข้าตรวจสอบ สนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา สนามฝึกซ้อมหรือแข่งขัน หรือการจัดกิจกรรมอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน ซึ่งทางราชการยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการในช่วงเวลานี้
ข้อ 9 มาตรการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของจังหวัดต้นทางและจังหวัดปลายทางแล้วแต่กรณี สามารถพิจารณาอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเพื่อการทำงานข้ามจังหวัดได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเพื่อการทำงานข้ามเขตจังหวัดในแต่ละเขตพื้นที่เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
ข้อ 10 มาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การบริหารจัดการและการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการในแต่ละเขตพื้นที่จังหวัดเป็นไปอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่อาจมีความแตกต่างกันในเขตพื้นที่จังหวัด ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้วแต่กรณี สามารถเสนอต่อ ศปก. ศบค. ตรวจสอบ กลั่นกรอง และเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในระดับเขตอำเภอที่อยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของตนได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในห้วงเวลาต่างๆ
ข้อ 11 การดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าตรวจสอบการใช้อาคารสถานที่ และการดำเนินการของเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ให้เป็นไปตามแนวทางมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ มาตรการป้องกันโรค รวมทั้งกำรจัดระเบียบและระบบต่างๆ ที่ทางราชการกำหนด หากพบการกระทำที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค พนักงานเจ้าหน้าที่อาจให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม และมีอำนาจกำหนดช่วงระยะเวลา เพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งเสนอให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ มีคำสั่งปิดสถานที่ในพื้นที่รับผิดชอบไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด มีคำสั่งปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราว เมื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ มาตรการป้องกันโรค รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่างๆ ที่ทางราชการกำหนดแล้ว ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งให้สถานที่ดังกล่าวเปิดดำเนินการได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธาน ได้เห็นชอบตามข้อเสนอมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นำเสนอ โดยแบ่งพื้นที่ดูแลออกเป็น 5 ระดับ
จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เพียงจังหวัดเดียว จะให้ปิดสถานที่และเข้มงวดการควบคุมกำกับ สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สนามมวย สนามชนไก่-ชนวัว-กัดปลา บ่อน สนามพระเครื่อง กิจการอาบน้ำ อาบอบนวด สปา นวดแผนไทย โรงเรียน โรงเรียนกวดวิชา สนามเด็กเล่น สวนสนุก เครื่องเล่น ร้านเกมส์ การประชุม งานเลี้ยง กิจกรรมประเพณี การจัดแสดงสินค้า และสถานีขนส่งสาธารณะ
ขณะเดียวกัน สามารถเปิดให้บริการตลาด ตลาดนัด แต่จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและเว้นระยะห่าง, ร้านอาหารเปิดบริการได้ไม่เกิน 21.00 น.งดดื่มสุราในร้าน, ศูนย์การค้าจำกัดเวลาเปิดไม่เกิน 21.00 น., ศูนย์เด็กเล็กและสถานที่พักผู้สูงวัยเฉพาะเข้าประจำ, สถานประกอบการโรงแรมต้องมีมาตรการป้องกันโรคในองค์กร ระบบติดตามตัวของผู้เดินทางเข้าออก


ในตอนหนึ่ง นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กที่มีนายกฯ เป็นประธานเมื่อวันที่ 28 ม.ค. ได้พุ่งเป้าไปที่ จ.สมุทรสาคร เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อเป็นตัวเลขสามหลัก ประมาณ 600-700 รายต่อวัน ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอว่า จะมีรูปแบบการค้นหาผู้ติดเชื้อ ขณะนี้กำลังทำในเชิงรุก ทำให้เสียงบประมาณรายวันสูง เช่น ถ้าตรวจวันหนึ่งละ 1 หมื่นคน จะเสียวันละ 20 ล้านบาท จึงสอบถามว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่ และหากผู้ป่วยจำนวนมากจะต้องทำอย่างไร
การพูดคุยหารือสรุปว่าจะมีหลากหลายวิธี ได้แก่ ข้อ 1 ถ้าเป็นพื้นที่ใหญ่ มีทั้งหอพักและโรงงานอยู่ในที่เดียวกัน สามารถปิดกั้นให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อที่สามารถเข้าไปส่งตรวจภูมิคุ้มกัน (Rapid Test) ที่มีราคาถูกลงมา สามารถตรวจเป็นระยะได้ ถ้าเจอผลบวกให้ตรวจด้วยวิธีการสวอบ หากพบผลบวกอีกให้เข้ารับการรักษา แต่ถ้าไม่มีให้ทำงานกันไป
ข้อ 2 เป็นแบบบับเบิล เนื่องจากที่ทำงานกับที่พักอยู่คนละแห่ง ต้องหาวิธีให้ชัดเจนว่าระหว่างโรงงานกับที่พักนั้นจะเดินทางเชื่อมต่อกันอย่างไร โดยที่ไม่ต้องไปสัมผัสกับผู้อื่น แล้วจึงเข้าสุ่มตรวจ 3. เป็นโรงงานขนาดเล็ก มีคนจำนวนไม่มาก จะเข้าไปสุ่มตรวจทุก 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ที่จังหวัดสมุทรสาครเน้นหนักไปที่ อ.เมืองสมุทรสาคร ส่วนอีก 2 อำเภอ คือ อ.กระทุ่มแบน และ อ.บ้านแพ้ว อาจจะให้มีการพิจารณาปรับสีของพื้นที่ อาจให้ตั้งใจเป็นสีส้มหรือสีเขียวได้ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้ให้การพิจารณาตามลำดับเพื่อผ่อนคลาย
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งว่า นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ มีมติเลิกมาตรการควบคุมการเดินทางของบุคคลที่เดินทางเข้ามายังพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ยกเว้น จ.สมุทรสาคร ที่ยังต้องกักตัวดูอาการ 14 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ติดต่อกันมาเป็นเวลา 17 วัน และสถานการณ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ
สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ