
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นำคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการตามมาตรการ Bubble & Seal คุมการระบาดโควิด-19 เผยมี 9 แห่งร่วมดำเนินการ
วันนี้ (9 ก.พ. 64) เวลา 18.00 น. นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นำคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ 2 แห่ง ในพื้นที่ ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ที่ดำเนินการตามมาตรการ Bubble & Seal ซึ่งเป็นหลักการจัดการโควิด-19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม ได้แก่ บริษัท พัทยาฟู้ด อินดัสตรี จำกัด และบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน)
โดยทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ใช้วิธีการ Bubble มีหลักการควบคุมการเดินทางของพนักงานในลักษณะที่คล้ายกันคือ ถ้าเป็นแรงงานที่พักอาศัยอยู่ตามหอพักใกล้กับบริษัท ก็จะใช้รูปแบบการเดินเท้า โดยมีผู้ถือป้ายบอกสถานที่ และถือธงนำไปกลับระหว่างห้องพักกับบริษัท ส่วนผู้ที่เดินตามก็จะเดินเป็นแถวตามกันมา ไม่มีการแวะพักระหว่างทาง แต่ถ้าเป็นแรงงานที่พักอาศัยอยู่ห่างไกลจากบริษัท ต้องอาศัยรถรับส่งคนงาน ก็จะขึ้นรถตามสายนั้น ๆ แต่ก่อนขึ้นรถจะต้องผ่านการฉีดพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ล้างมือ ตรวจสอบรายชื่อแรงงานที่ขึ้นรถแต่ละคัน และมีการเว้นระยะห่างในการนั่งด้วย



สำหรับการ Bubble นี้ จะใช้กับสถานประกอบการหรือโรงงาน ที่แรงงานพักอาศัยอยู่ภายนอก เป็นการควบคุมการเดินทางระหว่างที่ทำงานกับที่พักอาศัย จะแวะกลางทางตรงจุดไหนไม่ได้ และเมื่อถึงที่พักแล้วก็ต้องอยู่แต่ภายในเคหสถานเท่านั้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ กำนันผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งนี้เพื่อให้การป้องกันควบคุมโรคได้ผลจริง
ขณะที่มาตรการ Seal จะใช้กับสถานประกอบการ หรือโรงงาน ที่มีที่พักอาศัยให้กับแรงงานอยู่ภายในรั้วเดียวกัน เป็นการควบคุมไม่ให้คนงานออกไปนอกพื้นที่โรงงาน ส่วนการดูแลแรงงานของสถานประกอบการที่ต้องเข้าสู่กระบวนการ Bubble & Seal ทางนายจ้างก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลจัดหาเรื่องอาหาร และความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตประจำวันในช่วง 28 วัน หรือสิ้นเดือน ก.พ. ให้แก่พนักงาน หรือ ในสถานประกอบการบางแห่งก็จัดให้มีตลาดนัดขายของภายในโรงงาน โดยพ่อค้าแม่ค้าที่จะเข้ามาขายของในโรงงานได้นั้น ก็ต้องเป็นไปภายใต้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกัน คือ จะต้องได้รับอนุญาตจากทางโรงงาน ต้องมีบัตรแสดงตนเป็นผู้ขายสินค้าภายในโรงงาน และที่สำคัญคือ ต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า หลังจากที่เราเริ่มปฏิบัติการ Bubble & Seal มาได้ระยะหนึ่งตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น นโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องของ Bubble & Seal ทุกโรงงานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างที่เราเห็นก็จะมีการจัดระเบียบของการเดินทาง การใช้รถสองแถว รถบัส รวมถึงการเดินเท้าสำหรับแรงงานที่มีห้องพักอยู่ใกล้ ๆ ถือว่าเป็นการจัดระเบียบที่เหนือความคาดหมายสำหรับจังหวัดสมุทรสาคร ขณะนี้มีสถานประกอบการที่จัดระเบียบตามมาตรการ Bubble & Seal รวม 9 โรงงาน โดยเป็นโรงงานที่ใช้มาตรการ Bubble อยู่ 7 แห่ง และ มาตรการ Seal อีก 2 แห่ง
นอกจากนี้ก็ยังมีสถานประกอบการหลายแห่งที่ดำเนินการกันเองด้วยระบบเดียวกัน ซึ่งหลังจากทำมาในระยะหนึ่งเราก็มีการติดตามและรายงานผลไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) และศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เพื่อที่จะรับทราบว่า ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไรบ้าง มีความสำเร็จมากน้อยขนาดไหน รวมถึงปัญหาอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น และการสร้างความเข้าใจกับสังคมให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับมาตรการ Bubble & Seal นี้ ซึ่งเราก็ได้ติดตามประเมินสถานการณ์ทุกวัน

นายธีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มการดำเนินงาน Bubble & Seal โดยแนวทางของสาธารณสุขจังหวัดได้กำหนดไว้คือประมาณวันที่ 15 ก.พ. 64 น่าจะมีการตรวจภูมิคุ้มกันกับพนักงานที่เข้าสู่กระบวนการนี้ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้เคยตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่ผลตรวจเป็นลบหรือไม่พบเชื้อ และเมื่อตรวจภูมิคุ้มกันครั้งแรกแล้วก็นับไปอีก 14 วัน ตามระบบการควบคุมโรค ซึ่งหลังจากนั้นกระบวนการนี้ก็น่าจะจบลงในวันที่ 28 ก.พ. 64 ตามแผนการดำเนินงานที่ได้กำหนดไว้
ส่วนสถานการณ์ที่อำเภอบ้านแพ้วกับอำเภอกระทุ่มแบน ก็มีการตรวจเชิงรุกอยู่เรื่อย ๆ และจากการรายงานพร้อมทั้งผลแล็บก็ยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติมใน 2 อำเภอนี้ ส่วนการปลดล็อคนั้นต้องประเมินดูอีกที ซึ่งจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของสาธารณสุข ส่วนตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ตอนนี้ก็เหลือแค่ทางที่ผู้ประกอบการต้องมายื่นแผนกับทางจังหวัด เพื่อให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ พิจารณาว่าการปฏิบัติตามแผนนั้นถูกต้องตามหลักการของทางด้านสาธารณสุข ผู้ประกอบการมีความพร้อมหรือไม่ และความเชื่อมั่นจากผู้เข้ามาซื้อจากตลาดกลางกุ้งมากน้อยแค่ไหน สิ่งเหล่านี้ต้องมีการนำเสนอจากผู้ประกอบการในตลาดกลางกุ้งฯ ต่อไป

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ