“ส.ส.จอมขวัญ-นายกฯลือชา” ร้อง กมธ.อุตสาหกรรม แก้ปัญหาโรงงานปล่อยมลพิษ

ส.ส.สมุทรสาคร เขต 3 และนายกเทศมนตรีตำบลบางปลา ยื่นหนังสือต่อ ปธ.กมธ.การอุตสาหกรรม ร้องเรียนโรงงานในพื้นที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และก่อมลพิษทางอากาศและทางเสียง

วันนี้ (17 มิ.ย.) เวลา 09.20 น. ที่รัฐสภา น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส. สมุทรสาคร เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ และนายลือชา โพธิ์อบ นายกเทศมนตรีตำบลบางปลา จ.สมุทรสาคร ยื่นหนังสือต่อนายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ ส.ส. อุบลราชธานี เขต 1 พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร และนายประทวน สุทธิอำนวยเดช ส.ส. ลพบุรี เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ  ได้รับเรื่องร้องเรียนโรงงานอุตสาหกรรมในเขต จ.สมุทรสาคร ที่ลักลอบปล่อยน้ำเสีย รวมทั้งปล่อยมลพิษทางอากาศและทางเสียงด้วย

สืบเนื่องจากนายลือชา โพธิ์อบ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบางปลา ได้รับแจ้งข้อร้องเรียนจากประชาชน กรณีโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียหรือน้ำทิ้งออกนอกพื้นที่โรงงานลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ สร้างความเดือดร้อนและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นสิบปี ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน มีข้อสงสัยว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดไม่ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง ไม่มีการจัดการขั้นเด็ดขาด ปล่อยให้ปัญหาสะสมทวีคูณมากขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันน้ำเน่าเสียทุกคลอง จึงขอให้คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ประสานไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังให้มีผลชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม

โดย นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ในนามประธาน กมธ.การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายกเทศมนตรีตำบลบางปลา และ ส.ส. สมุทรสาคร เขต 3 ที่กรุณานำเรื่องเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนชาวสมุทรสาคร มาแจ้งให้กับ กมธ.การอุตสาหกรรม ทราบ ก็จะเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น กมธ.การอุตสาหกรรมฯ จะต้องลงไปตรวจสอบก่อน

ขณะที่ นายประทวน สุทธิอำนวยเดช รองประธาน กมธ.การอุตสาหกรรมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ แจ้งว่าใน จ.สมุทรสาคร มีโรงงานมากกว่า 7,000 แห่ง และมีอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่นายกเทศมนตรีตำบลบางปลา และ ส.ส. สมุทรสาคร เขต 3 ที่ได้มายื่นเรื่องดังกล่าว ก็จะรีบลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกโรงงานในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ 7-8 แห่ง ที่สามารถรวบรวมข้อมูลให้ได้

แต่ภาพรวมในจังหวัดสมุทรสาคร ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฯ ฝ่ายปกครอง คือผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เป็นแม่ทัพใหญ่ ดูแลเรื่องทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน ปัญหาหน้าที่โดยตรงก็จะเป็นสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม

จากการร้องเรียนดังกล่าว กมธ.การอุตสาหกรรมฯ จะลงพื้นที่เอ็กซ์เรย์ทุกโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ที่ก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม จากประเด็นที่ร้องเรียนหนักไปทางปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำท่าจีนและคลองสาขา ซึ่งปัญหาทั้งมวลถ้ามีการแก้ไขอย่างจริงจังตามกฎหมายโรงงานก็สามารถแก้ไขได้

จากหนังสือร้องเรียนแจ้งว่าหน่วยงานของรัฐไม่เข้มงวดและไม่ปฏิบัติ หลักการคือว่าทางภาครัฐเองก็เห็นใจเพราะว่ามีบุคลากรน้อย แต่ถึงมีบุคลากรน้อยก็ควรมีเทคนิคในการกำกับดูแล ต้องมีการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะท้องที่ต้องให้ความร่วมมือ จะต้องสร้างกลไก มีทฤษฎีและหลักการในเรื่องการกำกับดูแล เช่น โครงการธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วมทางด้านไตรภาคี คือ ผู้ประกอบการ ประชาชนในพื้นที่ และภาคราชการ สามส่วนนี้ต้องผสมผสานกัน ร่วมด้วยประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงเป็นตาสัปปะรดคอยชี้เบาะแสและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและเอาจริงเอาจัง โรงงานที่อยู่ภายใต้กฎหมายโรงงานก็จะต้องปฏิบัติไปตามเงื่อนไข ประเด็นการปล่อยน้ำทิ้งลงสู่ลำคลองจะต้องได้รับอนุญาต หรือแจ้งทางออนไลน์โดยตรงมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม

เพราะฉะนั้นปัญหาที่แจ้งมาว่ามีการลักลอบปล่อยน้ำเสียต้องดูรายละเอียด ทั้งนี้ ต้องแจ้งประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกอบการว่า กมธ.การอุตสาหกรรมฯ เอาจริงเอาจัง ขอให้ประชาชนสบายใจได้เมื่อมายื่นเรื่องดังกล่าว เราจะลงพื้นที่และเข้าไปตรวจสอบกำกับดูแลในส่วนนี้ เพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *