วงการลูกทุ่งไทยสุดเศร้า! สิ้นครูเพลงชื่อดัง “ฉลอง ภู่สว่าง” ชาวบางโทรัด สมุทรสาคร

ครูเพลงลูกทุ่งชื่อดัง “ฉลอง​ ภู่สว่าง” เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้าน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ หลังจากป่วยด้วยโรคมะเร็ง เปิดประวัติเป็นชาว ต.บางโทรัด จ.สมุทรสาคร แต่งเพลงให้กับศิลปินต่าง ๆ จนโด่งดังมากมาย ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน ปี 2521 และอื่น ๆ รวมถึงยกย่องให้เป็น “คนดีศรีสาคร” ในปี 2546 ด้วย  

วันนี้ (29 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจนภพ จบกระบวนวรรณ นักแต่งเพลงและนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง ได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ถึงบรมครูนักแต่งเพลงลูกทุ่งชื่อดัง ฉลอง ภู่สว่าง ชาว จ.สมุทรสาคร ล่าสุดได้เสียชีวิตลงในวัย 83 ปี โดยมีใจความว่า ได้รับข่าวสารแจ้งมาว่า ครูฉลอง ภู่สว่าง อายุ 83-84 ปี ป่วยโรคมะเร็ง จากไปอย่างสงบที่บ้าน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ตั้งศพสวดที่บ้านเลขที่ 111/1 หมู่ 1 ต.ยางเนิ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่

ข้าวเกรียบเพลงเก่า/เสียงศิลปิน ของ เจนภพ จบกระบวนวรรณ ขอกราบแทบเท้า ปราชญ์ศิลปินชาวบ้าน-ราชาเพลงต่อว่าต่อขานผู้หญิง ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองไทย บรมครูฉลอง ภู่สว่าง คนปิดทองหลังพระที่สมถะที่สุด เรียบง่ายที่สุด และ ไม่ง้อรางวัลเกียรติยศอย่าง ศิลปินแห่งชาติ เพราะชาติมัวมะงุมมะงาหราจนครูบาอาจารย์ระดับปราชญ์ของแผ่นดินสิ้นใจไปจนแทบจะหมดวงการแล้ว ชาติก็ยังมองไม่เห็น ยังไม่ตระหนักในคุณค่าที่แต่ละท่านได้สร้างสรรค์งานมาเป็นเวลาช้านาน ทิ้งท้ายว่า ฉลอง ภู่สว่าง ตายแล้ว!!!!! ครูของคนลูกทุ่งจากไปอีก 1 ท่านแล้วครับ

สำหรับประวัติของ ฉลอง ภู่สว่าง เกิดเมื่อปี 2481 ที่ ต.บางโทรัด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เรียนหนังสือจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนเมืองสมุทรสาคร ในวัยเด็กมีฐานะทางครอบครัวยากจน ต้องออกมาทำนาเกลือ รับจ้างเดินเรือขนส่งเกลือไปขายที่กรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งอายุประมาณ 14 ปี เรือเกลือได้ไปจอดค้างคืนที่ท่าน้ำวัดแหลมสุวรรณาราม ต.ท่าฉลอม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ซึ่งคืนนั้นมีงานวัด ครูฉลองได้ไปดูวงดนตรี “คณะบางกอกแมมโบ” เห็นนักดนตรีสวมสูทเป่าแซกโซโฟนแล้วเกิดแรงบันดาลใจ เมื่อกลับมาบ้านจึงได้ฝึกหัดดนตรีและทดลองเป่าแซกโซโฟนเมื่อมีโอกาส และเข้าร่วมการประกวดขับร้องเพลงตามงานต่าง ๆ ได้รับรางวัลชนะเลิศหลายครั้ง

จนอายุครบเกณฑ์ทหาร ครูฉลองก็ได้ไปรับใช้ชาติ 2 ปี ประจำกองดุริยางค์ทหารเรือ เริ่มฝึกเป่าแซกโซโฟนและได้เรียนโน้ตเพลงจนสามารถร้องเพลงแต่งเพลงและเล่นดนตรีได้บ้างพอสมควร เมื่อปลดประจำการแล้วก็ไปสมัครอยู่กับคณะรำวงดาราน้อยที่ จ.ชลบุรี อยู่กับวงดนตรีได้ 5 ปี ก็กลับมาอยู่บ้านเกิดที่บางโทรัดระยะหนึ่ง แล้วกลับไปเล่นดนตรีวนเวียนตามคณะต่าง ๆ สร้างสมประสบการณ์ ครูฉลองเขียนเพลงอย่างจริงจังเมื่ออายุ 21 ปี เพลงแรกคือ “ลาก่อนความโกหก” ให้ ระพิน ภูไท ขับร้อง ได้รับความนิยมพอสมควร แจ้งเกิดทั้งนักร้องและนักแต่งเพลง จากนั้นก็ได้เริ่มแต่งเพลงต่าง ๆ อาทิ ปีวอกหลอกพี่ เอาคำว่ารักของเธอคืนไป สระบุรีร้องไห้ ฝนพรำที่อัมพวา คิดถึงพี่หน่อย คุณนายโรงแรม ฯลฯ

นอกจากนี้ ครูฉลองได้แต่งเพลงให้กับศิลปินอีกหลายคนจนโด่งดัง ตัวอย่างเช่น “เจ้าซินอนกอดไผ” “ไก่นาตาฟาง” ให้กับจีระพันธ์ วีระพงษ์, “หยุดก่อนคนจน” “กัมพูชาที่รัก” ให้กับภูษิต ภู่สว่าง, “รอทั้งปี” ให้กับน้ำอ้อย พรวิเชียร, “หน้าไม่ทันสมัย” “ผู้หญิงหน้าเงิน” “ปูไข่ไก่หลง” ให้กับชายธง ทรงพล, “จูบไม่หวาน” “อ้อนจันทร์” “พายงัด” ให้กับศรชัย เมฆวิเชียร รวมถึงแต่งเพลงให้กับ 2 ราชินีเพลงลูกทุ่งไทย “สุนารี ราชสีมา” และ “พุ่มพวง ดวงจันทร์”

 ครูฉลอง ภู่สว่าง ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย อาทิ รางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน ในปี 2520 จากเพลง “อ้อนจันทร์”, รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 1 ครั้ง ในงานกี่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ปี 2521, ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 3 ครั้ง, ได้รับรางวัลกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ปี 2532 จากเพลง “คุณนายโรงแรม” และ “อ้อนจันทร์” และได้รับรางวัลกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ปี 2534 จากเพลง “ปูไข่ไก่หลง” รวมถึงได้รับการประกาศเกียรติคุณจากสภาวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสาคร ให้เป็น “คนดีศรีสาคร” ปี 2546 สาขาการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ / ขอบคุณข้อมูลจาก
อ.เจนภพ จบกระบวนวรรณ และ อ.สมพงษ์ เชาวน์แหลม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *