
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร มีมติเห็นชอบให้โรงงานหรือสถานประกอบการ ยกเลิกการทำ FAI แต่ต้องตรวจ ATK เป็นระยะ ร้อยละ 20 ของ พนง. รวมถึงก่อนขอยกเลิกต้องตรวจ ATK พนง. หากพบติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 10 จึงจะได้รับการพิจารณา แต่ถ้าพบติดเชื้อร้อยละ 20 ต้องทำ FAI ต่อไป
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีนายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานฯ ได้มีการหารือพิจารณาเรื่องของการประกาศยกเลิกการใช้พื้นที่ในสถานประกอบการที่จัดทำโรงพยาบาลสนามในโรงงานหรือสถานประกอบการ หรือ FAI (Factory Accommodation Isolation) ซึ่งแต่สถานประกอบการที่จะขอยกเลิกได้นั้นต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติ 3 ข้อ คือ 1. สถานประกอบการต้องมีการสุ่มตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) เป็นระยะ อย่างน้อยร้อยละ 20 ของพนักงานทั้งหมด, 2. สถานประกอบการที่จะขอยกเลิกทำ FAI ได้นั้น จะต้องตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK พนักงานก่อน หากพบผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของพนักงานทั้งหมด จึงจะได้รับการพิจารณาให้ยกเลิก FAI ได้ และ 3. หากสถานประกอบการใดตรวจพบเชื้อเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ จะยังคงต้องมี FAI ต่อไป

และในการตรวจ ATK เพื่อขอยกเลิกการทำ FAI นั้น จะต้องมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอเข้าไปร่วมสังเกตการตรวจด้วย จากนั้นให้สถานประกอบการ ส่งรายงานผลการตรวจไปยังแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร แล้วนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ เพื่อออกคำสั่งประกาศยกเลิกการจัดทำ FAI ให้แก่สถานประกอบการนั้น ๆ ต่อไป

นายชาธิป ตั้งกุลไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า หลังจากที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ใน จ.สมุทรสาคร เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทางภาคเอกชนโดยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กับหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้เสนอขอให้ที่ประชุมพิจารณาเพื่อยกเลิกการจัดทำ FAI ในโรงงานขนาดกลางลงมา ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ Factory Sandbox เพราะที่ผ่านมาในช่วงที่เกิดวิกฤติการระบาดอย่างรุนแรงตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน เม.ย. นั้น ทางสถานประกอบการที่มีแรงงานมากกว่า 50 คนขึ้นไป ก็ได้ให้ความร่วมมือจัดทำ FAI แม้จะเป็นการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ
ประกอบกับเรื่องของการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติก็ครอบคลุมแล้วเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจากหลายๆ ปัจจัยที่ปรากฏ เช่น การลดลงของผู้ติดเชื้อที่เข้าสู่การกักตัวใน FAI การลดลงของผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลหลัก ผู้ติดเชื้อในศูนย์พักคอยคนสาคร หรือ CI หรือแม้แต่ในโรงพยาบาลสนาม ศูนย์ห่วงใยคนสาคร ล้วนแต่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องขอยกเลิกการทำ FAI เพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่บุคคลภายนอกได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งในที่ประชุมครั้งนี้ก็เห็นชอบที่จะยกเลิกการจัดทำ FAI แต่สถานประกอบการต้องทำตามข้อกำหนดในเรื่องของการตรวจ ATK อย่างเคร่งครัด ด้วยการดำเนินการตามขั้นตอนที่คณะกรรมการโรคติดต่อจะประกาศให้ทราบรายละเอียดอย่างเป็นทางการต่อไป

นายชาธิป กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจ ATK ในสถานประกอบการนั้น เป็นเรื่องที่ดี ที่สถานประกอบการควรกระทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะตอนนี้ต้นทุนชุดตรวจ ATK ก็ถูกลงมาก ผู้ประกอบการสามารถจัดซื้อมาตรวจได้ ซึ่งการตรวจเป็นระยะก็ช่วยสกัดการแพร่กระจายเชื้อในสถานประกอบการ ทำให้สามารถเดินหน้ากระบวนการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าพบผู้ติดเชื้อทีละเล็กน้อย ก็ทำให้รับมือได้ทัน ดีกว่าไม่ตรวจแล้วพบการระบาดในวงกว้าง อีกทั้งการตรวจ ATK นี้ ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยจากโรคโควิด 19 และแสดงออกซึ่งศักยภาพของสถานประกอบการด้วย
สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง