
โฆษกรัฐบาลฯ เชิญชวน แท็กซี่หรือวินมอเตอร์ไซค์ อายุเกิน 65 ปี ในพื้นที่ 29 จังหวัด ลงทะเบียนจองคิวรับเงินเยียวยาในระบบ สะดวกรับบริการ ลดความแออัด ก่อนต้องยืนยันตัวตนด้วยตัวเองที่ขนส่ง เริ่ม 25 ต.ค. นี้
วันนี้ (24 ต.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 และประกอบอาชีพขับรถอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด
แบ่งออกเป็นผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ประกอบอาชีพขับรถใน 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา จะได้รับเงินช่วยเหลือ 10,000 บาทต่อคน
ส่วนผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ประกอบอาชีพขับรถใน 16 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน
ความคืบหน้าขณะนี้ กรมการขนส่งทางบก เปิดให้ผู้ขับรถแท็กซี่และวินมอเตอร์ไซค์ที่เข้าเงื่อนไข มีรายชื่อในฐานข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก แบ่งเป็นผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) ประมาณ 12,000 คน และผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ (วินมอเตอร์ไซค์) ประมาณ 3,000 คน สามารถลงทะเบียนจองคิวรับบริการได้แล้ว ถึงวันที่ 5 พ.ย. 64 ผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th
ซึ่งตั้งแต่เปิดให้ลงทะเบียนไปเมื่อ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา มีแท็กซี่หรือวินมอเตอร์ไซต์จองคิวผ่านระบบแล้วประมาณ 7,000 คน ถือเป็นการช่วยอำนวยความสะดวก และลดความแออัดตามมาตรการด้านสาธารณสุข ก่อนเปิดให้เดินทางมาลงทะเบียนด้วยตัวเองเพื่อยืนยันตัวตนและตรวจสอบเอกสารในวันที่ 25 ต.ค. นี้

นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่จองสิทธิ์ในระบบแล้ว ผู้ขับรถแท็กซี่และวินมอเตอร์ไซค์ต้องเดินทางมาลงทะเบียนด้วยตนเอง เป็นการยืนยันศักยภาพในการขับรถสาธารณะเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ ระหว่างวันที่ 25 ต.ค.-5 พ.ย. 64 ณ อาคาร 6 ชั้น 7 กรมการขนส่งทางบก, กลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-4 และกลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ
โดยขอให้เตรียมเอกสารให้พร้อม ได้แก่ ใบคำขอเพื่อรับสิทธิช่วยเหลือ (ณ จุดลงทะเบียน) บัตรประจำตัวประชาชน ใบอนุญาตขับรถสาธารณะ บัตรประจำตัวผู้ขับรถสาธารณะ กรณีรถเช่า ต้องมีข้อมูลทะเบียนรถที่เช่าขับและผู้ให้เช่ารถได้
โดยกรมการขนส่งทางบก จะทำการตรวจสอบข้อมูลจากผู้ให้เช่าก่อนรับสิทธิ รถที่ใช้ประกอบอาชีพต้องชำระภาษีครบถ้วน สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือ จะจ่ายผ่านบัญชีพร้อมเพย์ เฉพาะการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประจำตัวประชาชน แบ่งเป็น 2 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 8-12 พ.ย. 64 สำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะและรถแท็กซี่ส่วนบุคคล และรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 พ.ย. 64 สำหรับรถแท็กซี่ที่เช่าขับ
สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ