กรมทางหลวงลุยสำรวจ-ออกแบบ แก้ปัญหาจราจรบน ถ.เพชรเกษม ช่วงอ้อมน้อย-สามพราน

กรมทางหลวง ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา จัดการประชุมปฐมนิเทศโครงการสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจร บนทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงอ้อมน้อย-สามพราน เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น เพิ่มโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่สมุทรสาคร-นครปฐม  

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 พ.ย. 64 ที่ห้องประชุมชั้น 5 สำนักงานเทศบาลนครอ้อมน้อย ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร กรมทางหลวง ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา จัดการประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจร บนทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงอ้อมน้อย-สามพราน เวทีพื้นที่ จ.สมุทรสาคร โดยมีนายยอดเพ็ชร วัฒนดิเรก รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย นายบุญชู นิลถนอม นายกเทศมนตรีนครอ้อมน้อย รวมถึงผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมการประชุม ทั้งในสถานที่ประชุมและผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ZOOM Cloud Meetings

นางศิริลักษณ์ ศิริพรบุญญา ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวรายงานว่า ปัจจุบันทางหลวงหมายเลข 4 หรือถนนเพชรเกษม ช่วงอ้อมน้อย-สามพราน เกิดปัญหาการติดขัดของการจราจร โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เนื่องจากบริเวณสองข้างทางมีชุมชนหนาแน่น มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งพื้นที่ธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ทำให้เกิดความไม่สะดวกและเกิดความล่าช้าในการเดินทาง อีกทั้งทางหลวงสายนี้ยังมีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ในการขยายถนน จึงจำเป็นต้องมีแผนรองรับเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

ส่วนปัญหาการจราจร ที่พบส่วนใหญ่เกิดจากปริมาณรถที่เพิ่มมากขึ้น ปริมาณจราจรหนาแน่นตามแนวเส้นทางเพราะเป็นแหล่งชุมชนสองข้างทาง บางช่วงมีการจอดรถช่องจราจรด้านซ้ายสุดทำให้ประสิทธิภาพของการจราจรลดลง และตามซอยต่าง ๆ ช่องจราจรในซอยที่แคบและมีจุดตัดทางแยกติดตั้งสัญญาณไฟจราจร 3 แห่ง คือ สามแยกสัญญาณไฟซอยเพชรเกษม 99 สี่แยกวัดเทียนดัด และสามแยกซอยวัดโรมัน ซึ่งประสบปัญหาจราจรติดขัดสะสมอย่างมากในชั่วโมงเร่งด่วน มีท้ายแถวบริเวณทางแยกค่อนข้างยาว และก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ลดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางในพื้นที่ และเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางของผู้ใช้เส้นทางทั่วไปที่ใช้ถนนเพชรเกษม ช่วงอ้อมน้อย-สามพราน กรมทางหลวง จึงมีการพิจารณาสำรวจและออกแบบเพื่อเตรียมการปรับปรุงแก้ไขปัญหาการจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น และยังเพิ่มโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และนครปฐม ให้มีการเดินทางที่สะดวกยิ่งขึ้น

กรมทางหลวง จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท พี.วี.เอส.-95 คอนซัลแต้นซ์ จำกัด และบริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินงานศึกษาสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจร บนทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงอ้อมน้อย-สามพราน เพื่อจัดทำแบบรายละเอียดและรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 360 วัน ทั้งนี้ กรมทางหลวง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงได้กำหนดให้มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการศึกษาโครงการ

โดยการประชุมปฐมนิเทศโครงการในครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของโครงการ ให้ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียจากโครงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการศึกษาของโครงการ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาใช้พิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด

สำหรับที่ตั้งโครงการดังกล่าวอยู่บนถนนเพชรเกษม เริ่มตั้งแต่ กม.25+000 บริเวณแยกอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ถึง กม.31+000 ในเขตพื้นที่ ต.ยายชา อ.สามพราน จ.นครปฐม ระยะทางประมาณ 6 กม. พื้นที่ศึกษาโครงการระยะ 500 ม. จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบล 2 อำเภอ 2 จังหวัด ซึ่งแนวคิดเบื้องต้นของโครงการ มีทั้งพิจารณาออกแบบปรับปรุงจุดตัดทางแยก เช่น สะพานข้ามแยก ปรับเฟสสัญญาณไฟจราจร ปรับปรุงเพิ่มช่องจราจรให้สอดคล้องกับปริมาณรถ รวมไปถึงพิจารณาปรับปรุงรูปแบบจุดกลับรถ และจำนวนจุดกลับรถในพื้นที่โครงการให้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านจราจร ตลอดจนพิจารณาเพิ่มจำนวนช่องจราจร โดยลดขนาดของทางเดินเท้าเดิมภายในพื้นที่เขตทางหลวง ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ https://www.highway4-omnoi-sampran.com/

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *