“กรมราง” จัดประชุมเวทีสมุทรสาคร หาแนวทางแก้ “จุดตัดรถไฟ”

กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับ กปถ. จัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 5 โครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ จัดทำเป็นแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการแก้ไขอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ สำรวจทางรถไฟพื้นที่สมุทรสาคร พบทางลักผ่านมากถึง 52 จุด ขอความร่วมมือประชาชน-ท้องถิ่นไม่เปิดจุดตัดเพิ่ม

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 มี.ค. 65 กรมการขนส่งทางราง และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน หรือ กปถ. จัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 5 (จังหวัดสมุทรสาคร) โครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ The Study of Railway Crossings for Accident Prevention โดยมี นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายทยากร จันทรางศุ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง กรมการขนส่งทางราง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมการประชุม

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นการร่วมมือระหว่างกรมการขนส่งทางราง และ กปถ. เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟทั่วประเทศ จากสถิติอุบัติเหตุทางรถไฟที่ผ่านมา พบว่า บ่อยครั้งมักเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมักจะรุนแรง มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ดังนั้น บริเวณจุดตัดจึงถือเป็นจุดเสี่ยงที่ต้องเร่งแก้ไข 

โดยจากที่ได้สำรวจจุดตัดทางถนนและทางรถไฟทั่วประเทศจำนวน 2,971 แห่ง ในปี 65 พบว่ามีจุดตัดที่ถูกปิดไปแล้วประมาณ 217 แห่ง เหลือเปิดใช้งานอยู่จริงราว 2,754 แห่ง ซึ่งนับเป็นเรื่องดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวช้องได้ร่วมกันปิดจุดตัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจำนวนจุดตัดทั่วประเทศ ณ ปัจจุบัน ยังมากกว่าเมื่อปี 53 ตอนนั้นมีจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ 2,517 แห่ง สื่อได้ว่าจำนวนจุดตัดที่เกิดขึ้นใหม่มีมากกว่าจุดตัดที่ถูกปิดไป เห็นได้ชัดว่าเราปิดจุดตัดอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นต้องป้องกันไม่ให้มีจุดตัดใหม่เกิดขึ้นด้วย

จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องไม่เปิดจุดตัดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจุดตัดทางลักผ่าน ที่หน่วยงานหรือประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างกันเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่มีเครื่องกั้นถนนและไฟฟ้าส่องสว่าง ช่วงเวลากลางคืนถนนจะมืดสนิท ผู้ขับขี่มองไม่เห็นรถไฟที่กำลังเข้ามาใกล้และเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงขอความร่วมมือหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันตรวจตราทางรถไฟในพื้นที่รับผิดชอบของตน ไม่ให้เกิดจุดตัดทางลักผ่านเพิ่มมากขึ้น จุดตัดทางลักผ่านเดิมที่ไม่ปลอดภัยจำเป็นต้องปิด จุดตัดทางลักผ่านใดที่มีความจำเป็นต่อการสัญจร ให้หน่วยงานท้องถิ่นหรือเจ้าของถนนตัดผ่านทางรถไฟในพื้นที่รับผิดชอบส่งเรื่องผ่านการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาอนุญาตให้เป็นทางผ่านที่ถูกต้อง และติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยต่อไป

สำหรับโครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาจุดตัดในภาพรวมทั้งระบบ โดยมีขอบเขตของงานประกอบด้วย การจัดทำฐานข้อมูลจุดตัด และจัดทำเป็นแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการแก้ไขอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ ซึ่งแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาว ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารถไฟทางคู่ และโครงกรรถไฟความเร็วสูง พร้อมทั้งจัดทำคู่มือมาตรฐานจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์จุดตัดทางถนนและทางรถไฟให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ตลอดจนพัฒนาคู่มือในการสอบสวนสาเหตุของอุบัติเหตุเชิงลึกบริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 5 เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง โดยได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อนำมาประกอบการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาจุดตัดให้สอดคล้องกับพื้นที่ 

โดย จ.สมุทรสาคร มีทางรถไฟผ่านพื้นที่เพียงอำเภอเมืองสมุทรสาคร มีจุดตัดทางถนนและทางรถไฟรวม 75 จุด แบ่งเป็น สายวงเวียนใหญ่ – มหาชัย จำนวน 35 จุด และสายบ้านแหลม – แม่กลอง จำนวน 40 จุด โดยปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว 4 จุด คงเหลือ 71 จุด ประกอบด้วย จุดตัดต่างระดับ 3 จุด และจุดตัดเสมอระดับ 68 จุด ในจำนวนนี้มีเครื่องกั้นแล้วจำนวน 15 จุด มีป้ายจราจรแจ้งเตือน 1 จุด และมีทางลักผ่านมากถึง 52 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 69.33 ของจุดตัดทางรถไฟในพื้นที่ 

ส่วน จ.สมุทรสงคราม มีจุดตัดทางถนนและทางรถไฟรวม 11 จุด อยู่ในสายบ้านแหลม – แม่กลอง โดยปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว 2 จุด คงเหลือจุดตัดที่เป็นเสมอระดับทั้ง 9 จุด ในจำนวนนี้มีเครื่องกั้นแล้วจำนวน 8 จุด และมีทางลักผ่าน 1 จุด โดยในอนาคต จะดำเนินการปรับปรุงทางกายภาพบริเวณจุดตัดหรือยกเลิกจุดตัดที่ไม่จำเป็นและนำไปรวมใช้จุดตัดที่อยู่ใกล้เคียงแทนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดโครงการฯ ได้ที่ https://drtcrossing.com หรือเฟซบุ๊กเพจ https://www.facebook.com/DRT.Crossing โครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *