สุดช้ำ! แม่ค้าโอนเงินผิดเกือบ 3 แสน เข้าบัญชีสาวบุรีรัมย์ เอาไปเปย์แหลก ตร.จ่อออกหมายเรียก หายตัวลึกลับ

แม่ค้าสาวเจ้าของธุรกิจอาหารแช่แข็ง โอดใช้แอปฯ โอนเงินผิดบัญชีกว่า 2.9 แสนบาท แบงก์เจ้าของแอปฯ โยนเรื่องกันไปมาจนอายัดไว้ไม่ทัน พบไปเข้าบัญชีของสาวบุรีรัมย์กดเงินไปช้อปสนุกมือ ตามทวงมาได้แค่ 1.6 แสนบาท ที่เหลืออ้างใช้หมดแล้วขอยอมติดคุก ตำรวจเตรียมออกหมายเรียก ล่าสุดเปิดแน่บหายไปจากบ้านแล้ว

เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 15 พ.ค. 65 น.ส.วิราวรรณ ชวดพงษ์ อายุ 40 ปี ชาว ต.บางหญ้าแพรก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เจ้าของบริษัทแห่งหนึ่ง ประกอบกิจการจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็ง และวัตถุดิบหมูกระทะทุกชนิด เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว จากกรณีที่ตนเองได้โอนเงินผิดบัญชี จำนวน 293,439 บาท ไปยังบัญชีของนางเสาวณีย์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 44 ปี ชาวบ้านหนองข่า ต.เสม็ด อ.เมืองฯ จ.บุรีรัมย์ เมื่อมีการติดต่อขอเงินดังกล่าวคืนก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากนางเสาวณีย์ โดยบอกว่าได้นำเงินไปใช้ส่วนตัวแล้ว และโอนคืนกลับมาให้เพียง 39,700 บาท หรือแม้แต่การขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ธนาคารฯ ที่เป็นเจ้าของบัญชีของผู้เสียหายนั้น ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ จนทำให้การยื่นเรื่องร้องขอให้มีการติดตามเงินคืนหรืออายัติบัญชีนั้นล่าช้าไป ก่อให้เกิดความเสียหายจนต้องมีการแจ้งความร้องทุกข์ไว้ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองสมุทรสาคร

น.ส.วิราวรรณ ผู้เสียหายเล่าว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา ตนเองได้ใช้แอปพลิเคชันของธนาคารแห่งหนึ่ง ในการโอนเงินไปยังบัญชีของธนาคารอีกเจ้าหนึ่ง เพื่อจ่ายค่าเนื้อหมูให้กับนายกฤษณะ (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นคู่ค้าที่เพิ่งค้าขายด้วยกันเป็นครั้งแรก จำนวน 293,439 บาท ครั้นพอโอนเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้แจ้งไปยังคู่ค้าพร้อมกับสลิป แต่ปรากฏว่าทางคู่ค้าได้บอกว่าตนโอนเงินผิดบัญชี เพราะที่โอนไปไม่ใช่บัญชีของคู่ค้า และชื่อบัญชีก็ไม่ใช่ด้วย ตนจึงได้ทำการตรวจสอบเลขบัญชีอีกครั้ง ก็พบว่าโอนเงินผิดบัญชีจริงเพียงแค่กดเลขผิดไปตัวเดียว โดยตอนกดโอนนั้นตนเองไม่ได้ทวนซ้ำทั้งเลขบัญชี และชื่อเจ้าของบัญชี ทวนเพียงแค่จำนวนเงินที่ต้อโอน จึงทำให้เกิดความผิดพลาดในครั้งนี้ขึ้น

ซึ่งหลังจากที่ทราบว่าโอนเงินผิดบัญชีนั้น ตนก็รีบให้สามีซึ่งเป็นชื่อเจ้าของบัญชี เดินทางไปที่ธนาคารดังกล่าวทันที ส่วนตนเองติดต่อไปยังคอลเซ็นเตอร์เพื่อขอให้ช่วยอายัติจำนวนเงินในบัญชีที่โอนผิดไปไว้ก่อน แต่ทางคอลเซ็นเตอร์กลับแจ้งว่ากระทำไม่ได้ ต้องติดต่อสาขาที่เปิดบัญชีไว้เท่านั้น ขณะที่สามีได้โทรศัพท์กลับมาบอกว่า ธนาคารสาขาให้ติดต่อคอลเซ็นเตอร์เพราะรวดเร็วกว่า และยังต้องไปแจ้งความเอาหลักฐานมายืนยันกับธนาคารอีกด้วย ซึ่งทุกอย่างที่ธนาคารบอกมา ไม่ว่าจะแจ้งเจ้าหน้าที่สาขา แจ้งคอลเซ็นเตอร์ และ แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอเอกสารทางราชการนั้น ตนเองและสามีได้รีบดำเนินการอย่างเร็วที่สุด แต่สุดท้ายเมื่อนำหลักฐานตามที่ธนาคารบอกกลับมายื่นที่ธนาคารสาขาอีกครั้ง กลับได้รับคำตอบว่าไม่สามารถอายัติได้ จะต้องส่งเรื่องไปที่สำนักงานใหญ่ก่อนตามขั้นตอน

เมื่อเป็นเช่นนี้ น.ส.วิราวรรณกับสามีไม่สามารถนั่งรอเฉย ๆ ได้ จึงได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อติดต่อกับนางเสาวณีย์ หรือญาติพี่น้องให้ได้ กระทั่งสามารถติดต่อกับลูกสาวของนางเสาวณีย์ได้ พร้อมกับยอมรับว่าแม่โอนเงินมาให้จำนวน 50,000 บาท จึงเอาไปปิดค่างวดรถ 20,000 บาท เหลือเงิน 30,000 บาท ขอโอนให้ก่อนที่เหลือจะผ่อนชำระให้ ส่วนทางด้านของนางเสาวนีย์เอง ก็ได้นำเงินไปซื้อทองน้ำหนัก 1 บาท และซื้อรถจักรยานยนต์อีก 1 คัน ทางตนจึงได้ประสานขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยติดตาม จนร้านทองยอมโอนเงินคืนให้ 30,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไปนำทองมาคืนร้าน นอกจากนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นๆ ที่นางเสาวนีย์เอาเงินของตนเองไปซื้อ แต่สามารถติดตามแล้วเปลี่ยนเป็นเงินคืนมาได้รวม 150,000 บาท

หลังจากตนเอาเรื่องราวดังกล่าวไปแชร์ในเพจศูนย์แจ้งข่าวบุรีรัมย์ นางเสาวณีย์ ก็ได้โทรกลับมาหาบอกจะโอนเงินคืนให้ 55,000 บาท ที่เหลือจะขอผ่อนชำระ ซึ่งตนและสามีก็ยินยอม แต่ปรากฏว่าโอนคืนมาให้อีกเพียงแค่ 10,000 บาทเท่านั้น เมื่อโทรไปถาม กลับตอบว่าใช้เงินหมดแล้ว ส่วนที่เหลือไม่มีจะใช้ให้จึงยอมติดคุกแทน สรุปตอนนี้ตนเองได้เงินกลับคืนมาทั้งหมด 160,000 บาท ยังคงค้างอีกจำนวน 133,439 บาท โดยคงต้องหวังพึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยเร่งดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลดังกล่าว เพราะในส่วนตัวนั้นก็เชื่อว่าที่ทำมาทั้งหมดได้ให้โอกาสกับผู้ที่นำเงินของตนเองไปแล้ว แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ผิดพลาดของตนเพียงแค่คลิกตัวเลขผิดไปเพียงตัวเดียว แต่ตามกฎหมายก็ถือว่าบุคคลที่นำไปใช้มีความผิดทางอาญา 

และเรื่องนี้คงไม่ใช่แค่การเสียเงินจากความไวของระบบออนไลน์เท่านั้น แต่ยังทำให้เสียความรู้สึกจากการให้บริการของธนาคารแห่งดังกล่าวที่ตนไว้ใจเลือกที่จะฝากเงินด้วย ต่างจากที่โฆษณาไว้ว่าทันสมัย สะดวก รวดเร็วแค่ใช้ปลายนิ้วเท่านั้น แต่เมื่อเกิดปัญหากลับแก้ไขไม่ไวเหมือนอย่างตอนที่โฆษณาเพื่อให้ได้ลูกค้าเลย ซึ่งวันเกิดเหตุถ้าหากลูกค้าธนาคารยืนยันตัวตนชัดเจน ก็น่าจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนได้หรือไม่ ทั้งนี้ น.ส.วิราวรรณ บอกทิ้งท้ายด้วยว่า ตอนนี้นางเสาวนีย์ ยังคงมีโอกาสที่จะนำเงินกลับมาคืน ก็ขอให้รีบหามาคืนก่อนที่จะมีหมายเรียกไปถึงบ้าน เพราะทราบว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็เตรียมออกหมายเรียกแล้ว หากออกหมายเรียก 2 ครั้ง แล้วไม่มาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อไปก็จะกลายเป็นหมายจับแทน

ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวแจ้งว่า ที่บ้านของนางเสาวณีย์ เจ้าของบัญชีที่เงินโอนเข้า ภายในหมู่บ้านหนองข่า ต.เสม็ด อ.เมืองฯ จ.บุรีรัมย์ ล่าสุดปรากฏว่าเจ้าตัวไม่อยู่ที่บ้าน มีเพียงนายบุญชู (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 52 ปี ผู้เป็นสามีอยู่ในบ้านเพียงลำพัง เล่าว่าหลังถูกกดดันให้นำเงินมาคืน ตนก็ไม่ทราบว่าภรรยาหายไปไหน โดยเงินที่เอาไปใช้นั้นอ้างว่าเป็นเงินที่พี่สาวโอนมาให้จากการขายที่ดินมรดกของพ่อแม่แล้วนำมาแบ่งกัน ไม่ได้คิดว่าเป็นเงินที่คนอื่นโอนมาผิดบัญชีตามที่ปรากฏในข่าว ซึ่งนางเสาวณีย์ก็นำเงินในส่วนนี้ไปซื้อรถจักรยานยนต์ ทองรูปพรรณ และใช้จ่ายจนหมด กระทั่งเจ้าของบัญชีที่โอนเงินผิดโทรศัพท์มาแจ้งให้ทราบเรื่องทั้งหมด ตนยอมรับว่าตกใจมาก ๆ จากนั้นได้มีตำรวจ สภ.เมืองบุรีรัมย์ เข้ามาเชิญตัวภรรยาไปที่โรงพัก และแจ้งว่าให้รอหมายศาลจาก จ.สมุทรสาคร อีกที

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *