
ทีมงานประมงไทยรายวัน จัดกิจกรรม “ประมงไทยกลางแปลง” เนื่องในวันประมงแห่งชาติ เปิดเวทีเสวนาชำแหละปัญหาประมงไทย และฉายหนังกลางแปลง ผลักดันแก้กฎหมาย พ.ร.ก.การประมง ปี 58 ช่วยเหลือชาวประมงให้เกิดความยั่งยืน
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 21 ก.ย. 65 ที่ริมเขื่อนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ทีมงานประมงไทยรายวัน จัดกิจกรรม “ประมงไทยกลางแปลง” เนื่องในวันประมงแห่งชาติ ซึ่งเป็นงานเสวนาพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาของการประมงไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และการฉายหนังกลางแปลงเรื่อง “แดง พระโขนง” เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการเสวนาในหัวข้อ “สร้างประมงไทยให้ยั่งยืน : ข้อเสนอจากภาคประชาชนชาวประมง” โดยมี นายณรงค์ ชัยศิริ นายกสมาคมการประมงจังหวัดตราด, นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย, นายพรศักดิ์ แย้มกลิ่น นายกสมาคมประมงระยอง, นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ อดีตประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมฯ และนายธนกร ถาวรชินโชติ นายกสมาคมการประมงแสมสาร ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย ผศ.ดังนภสร ณ ป้อมเพชร จากโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต





โดยในการเสวนาฯ เวทีแรก มีการพูดคุยในประเด็นสถานการณ์ทั่วไปของการทำประมงในพื้นที่ต่าง ๆ ปัจจุบันมีเรือประมงจอดรอจม หรือรอขายให้กับรัฐบาลจำนวนมาก ทั้งเรือประมงขนาดเล็ก ขนาดกลาง และเรือประมงนอกน่านน้ำ เนื่องจากข้อกำหนดและใบอนุญาตออกทำการประมงที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการประมงในทุกระดับ ซึ่งกว่าเรือประมงแต่ละลำจะต่อเสร็จใช้เวลาเกือบ 2 ปี ต้องใช้ความอุตสาหะและภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นในการพัฒนา เป็นความภาคภูมิใจของชาวประมง เมื่อเวลาต่อเรือเสร็จแล้วออกไปทำประมงนำรายได้มาสู่เจ้าของเรือ มาวันนี้เห็นสภาพของเรือประมงที่จอด เป็นเรื่องที่สิ้นหวังและสู้ต่อไปไม่ไหว
รวมถึงการจัดระเบียบเรือประมงของภาครัฐที่ไม่เสมอภาค จาก พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ทำให้จำนวนเรือประมงพาณิชย์ลดลง และเรือประมงพื้นบ้านเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อวิถีพื้นบ้านของชาวประมงเปลี่ยนไป จากเดิมที่อยู่กันแบบพี่น้อง พอมีข้อกฎหมายออกมา ทุกคนต่างเอาประโยชน์จากกฎหมายมาเข้าตัวเอง โดยไม่มองว่าแต่ก่อนชาวประมงอยู่ร่วมกันอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาชาวประมง 22 จังหวัดได้เรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายฉบับนี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการบังคับให้เรือประมงติดตั้งระบบสำแดงข้อมูลตัวตนอัตโนมัติ หรือ AIS เพื่อตรวจจับน้ำมันเถื่อน และให้สามารถเข้าร่วมโครงการน้ำมันเขียวได้ ซึ่งชาวประมงมองว่าไม่เกิดประโยชน์ เพราะตรวจจับเฉพาะการเคลื่อนไหวของเรือ ไม่สามารถระบุว่าลงน้ำมันไว้กี่ลิตร และซ้ำซ้อนกับระบบติดตามตำแหน่งเรือ หรือ VMS และเรื่องของหนังสือคนประจำเรือ หรือ Seabook ที่เป็นการใช้กฎหมายยิบย่อยมากเกินไป ใช้เวลาเดินเอกสารราวครึ่งเดือน และไม่มีศูนย์ One Stop Service ทำให้ชาวประมงเกิดความไม่สะดวก เกิดการฉวยโอกาสขึ้น เมื่อทำผิดกฎหมายต้องเจอโทษปรับที่หนัก
ทั้งนี้ ข้อสรุปในการเสวนา เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทของชาวประมง เรื่องของผู้เชี่ยวชาญที่จะมาช่วยอำนวยความสะดวกให้ชาวประมง เรื่องระบบราชการ การตรากฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งชาวประมงพร้อมที่จะสนับสนุน เป็นภาคประชาชนพร้อมจับมือร่วมกันเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดก็ตาม เพราะการจะทำให้การประมงเกิดความยั่งยืน ชีวิตชาวประมง และอาชีพประมงจะต้องยั่งยืนไปจนถึงลูกหลานเช่นเดียวกัน







ต่อมาเป็นกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “แนวทางแก้ไขปัญหาอาชีพประมงและนโยบาย” โดยมีผู้แทนจาก 4 พรรคการเมืองร่วมเสวนา ได้แก่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส. บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ, นายศักดินัย นุ่มหนู ส.ส. ตราด เขต 1 พรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร, นายมีศักดิ์ ภัคดีคง อดีตอธิบดีกรมประมง และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์, นายไตรฤกษ์ มือสันทัด รองประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ชุมพร พรรคเพื่อไทย ดำเนินรายการโดย น.ส.ดลนภา นันทวโรไพร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งบนเวทีได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ที่มีปัญหาและต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งทั้ง 4 พรรคการเมืองต่างมีนโยบาย พร้อมที่จะสนับสนุนและขับเคลื่อนในการแก้กฎหมายฉบับดังกล่าว โดยใช้กลไกของรัฐสภา
นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร หนึ่งในทีมบริหารประมงไทยรายวัน เปิดเผยว่า ด้วยในวันที่ 21 กันยนยน ของทุกปี ได้ประกาศให้เป็น “วันประมงแห่งชาติ” โดยมีที่มาจากสหกรณ์การประมงจังหวัดสมุทรสาครทำหนังสือลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2525 ถึงนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เสนอให้รัฐบาลกำหนดวันประมงแห่งชาติขึ้น เพื่อให้เป็นกำลังใจในการประกอบอาชีพ และอาสาปกป้องประเทศทางด้านทะเล ต่อมาคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้วันที่ 21 กันยายนของทุกปี เป็นวันประมงแห่งชาติ แต่ทุกวันนี้การประมงเหมือนจะถดถอย จึงกลายเป็นวันที่ชาวประมงต้องออกมาแสดงพลังเพื่อต่อสู้ ขับเคลื่อน เรียกร้อง เพื่อให้ภาครัฐเห็นความสำคัญของอาชีพนี้
เพราะในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ภาคประมงไทยนับวันยิ่งถดถอย ไม่มีอะไรดีขึ้น ทั้ง ๆ ที่อาชีพนี้ช่วยเลี้ยงปากท้องคนทั้งประเทศ เป็นอาชีพกระตุ้นเศรษฐกิจ และชาวประมงก็แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือทุกอย่างตามที่ภาครัฐกำหนด แต่เงื่อนไขต่าง ๆ ก็ยังรัดอาชีพนี้ให้เดินต่อลำบากมากยิ่งขึ้น ดังนั้นทางทีมประมงไทยรายวันจึงได้มีการจัดกิจกรรมนี้ และเชื่อได้ว่า ภายหลังจากการจัดกิจกรรมนี้แล้ว จะต้องมีการขับเคลื่อนของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พี่น้องชาวประมงได้ประกอบอาชีพประมงอย่างยั่งยืนและเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง