ปปส. ภาค 7 ติวเข้มสื่อภาคตะวันตก รับรู้ รณรงค์ป้องกันยาเสพติด ศึกษาดูงานพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์

สำนักงาน ปปส. ภาค 7 นำเครือข่ายสื่อมวลชนภาคตะวันตก 8 จังหวัด สร้างการรับรู้ รณรงค์ ประชาสัมพันธ์งานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อมศึกษาดูงานในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งโรงงานเอสเอสไอ บางสะพาน, ชุมชนบ้านทางสาย และจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร

สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 7 หรือ สำนักงาน ปปส. ภาค 7 จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนภาคตะวันตก เพื่อสร้างการรับรู้ รณรงค์ ประชาสัมพันธ์งานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2566 และศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 26-28 ธ.ค. 2565

โดยนางมนัญญา ไวอัมภา ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์และอำนวยการ สำนักงาน ปปส. ภาค 7 พร้อมด้วย นายนพรัตน์ ไวอัมภา ผู้อำนวยการฝ่ายประสานพื้นที่ฯ, น.ส.สมศรี วัชรจังกูล ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์ข่าวและเฝ้าระวังฯ พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปส. ภาค 7 นำคณะสื่อมวลชน สื่อภาครัฐ เจ้าหน้าที่ ศอ.ปส. ในพื้นที่ภาคตะวันตก รวม 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ร่วมลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ประกอบด้วย

บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนรายแรกของประเทศไทย และผู้ผลิตเหล็กแผ่นครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งเมื่อปี 2533 ด้วยกำลังการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนสูงสุด 4 ล้านตันต่อปี และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนประเภทปรับผิวและเคลือบน้ำมันสูงสุด 1 ล้านตันต่อปี

ทางบริษัทฯ มีการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยพันธกิจบริษัทถือมั่นเสมอว่าบริษัทเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องทำร่วมกัน พัฒนาทั้งธุรกิจของบริษัท และพัฒนาสังคมควบคู่กันไป โดยใช้เงินลงทุนกว่า 10 ล้านบาทในแต่ละปี ในการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงงาน โดยเฉพาะการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน รวมถึงมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ ซึ่งทางสำนักงาน ปปส. ภาค 7 ก็ได้รับเกียรติมาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดให้กับทางบริษัทฯ ด้วย

ชุมชนบ้านทางสาย หมู่ 9 ต.ธงชัย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ริมชายทะเล มีบ้านพักไม้ไผ่ ลานกางเต้นท์ ผลิตภัณฑ์ชุมชน และกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน อีกทั้งอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญ ได้แก่ วัดทางสาย ไหว้พระ 3 แผ่นดิน (ไทย จีน พม่า) เป็นที่ประดิษฐานของ “พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ” รวมถึงพระตำหนัก พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และชายหาดบ้านกรูด โดยมีสภาผู้นำชุมชนบ้านทางสาย เป็นผู้ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ในชุมชน และวางเป้าหมายของชุมชนในอีก 10 ปีข้างหน้า

และยังมีธรรมนูญความสุขชุมชน “ฅนบ้านทางสาย” เป็นแนวทางในการบริหารจัดการชุมชน และหลักปฏิบัติในการดำเนินวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับจารีต ประเพณีวัฒธรรมของตนเอง และไม่ขัดต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เป็นสังคมแห่งการเอื้ออาทร โดยกำหนดเป้าหมายไว้ 12 ด้าน 81 ตัวชี้วัด ส่วนเรื่องปัญหายาเสพติดในชุมชน การค้ายาเป็นศูนย์ ส่วนผู้ติดยามีน้อยมาก เคยมีเด็กรายหนึ่งติดยาเสพติด แต่มีโรงพยาบาลชุมชน รวมถึงคนในชุมชนช่วยกันดูแลบำบัด ให้กำลังใจ ไม่ใช้คำพูดที่รุนแรง ปัจจุบันเติบโตและมีอาชีพที่ดี รวมทั้งมี กองทุนแม่ของแผ่นดิน รณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านและชุมชนอย่างเข้มแข็ง

จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร ชายแดนไทย-เมียนมา ต.คลองวาฬ อ.เมืองฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เดิมเป็นช่องทางธรรมชาติที่ใช้ในการเดินทางไปมาหาสู่กันของประชาชนชาวไทยและเมียนมา ตามวิถีประชาชนแนวชายแดน ภายหลังสงครามสู้รบระหว่างทหารเมียนมาและชนกลุ่มน้อยยุติลง ประชาชนทั้งสองประเทศจึงได้มีการริเริ่มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันมากขึ้นตามลำดับ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จึงได้ประกาศให้ช่องทางสิงขรเป็นจุดผ่อนปรนการค้ามาตั้งแต่ปี 2541 และมีแผนที่จะยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวรในอนาคต

ด่านพรมแดนสิงขร ประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ปฏิบัติงานภายในอาคารด่านพรมแดน (CIQ) อาทิ ด่านศุลกากรประจวบคีรีขันธ์ ตรวจคนเข้าเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 146 บูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ คอยปฏิบัติงาน ณ จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร และลาดตระเวนตามช่องทางธรรมชาติพื้นที่ชายแดน จำนวน 15 ช่องทาง ในการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และนำเข้ายาเสพติด

ปัจจุบันทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการผ่อนปรนให้เปิดด่านเฉพาะการขนถ่ายสินค้าข้ามแดนเท่านั้น แต่ยังคงระงับการเดินทางเข้าออกของบุคคลและยานพาหนะ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาทางการเมืองในประเทศเมียนมา โดยให้ผู้ประกอบการนำรถบรรทุกเข้ามาขนถ่ายสินค้า ณ จุดขนถ่ายสินค้าแนวสันแดนหน้าศาลเจ้าพ่อหินกอง ในวันจันทร์ – ศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 – 16.30 น.

โดยสินค้าที่นำเข้าจากด่านพรมแดนสิงขร ในปีงบประมาณ 2565 มูลค่านำเข้ารวม 1,140 ล้านบาท มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ปู, กุ้ง, กั้ง มีชีวิต ปูแสมดองน้ำเกลือ มูลค่านำเข้า 494 ล้านบาท รองลงมาคือ ปลาหมึกกล้วย แช่แข็ง, หอยลาย, หอยแครงมีชีวิต มูลค่านำเข้า 200.5 ล้านบาท และปลาทูสั้น, ปลาทูแขกทั้งตัว แช่แข็ง มูลค่านำเข้า 193.3 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งสินค้าอาหารทะเลส่วนหนึ่งถูกส่งไปจำหน่ายยัง จ.สมุทรสาครด้วย ส่วนสินค้าที่ส่งออกจากด่านพรมแดนสิงขร มีมูลค่ารวม 125 ล้านบาท มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ลูกกุ้งขาวมีชีวิต, กุ้งขาวแช่แข็ง มูลค่า 39.3 ล้านบาท รองลงมาคือ กระป๋องเปล่าพร้อมฝา มูลค่า 37.7 ล้านบาท และอาหารสัตว์ มูลค่า 21.6 ล้านบาท

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของโครงการศึกษาดูงานดังกล่าว เพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาช่องทางสื่อสารระหว่างสำนักงาน ปปส.ภาค 7 กับหน่วยงานภาคี ภาครัฐ ภาคเอกชน เยาวชน และประชาชนในระดับต่าง ๆ เผยแพร่สื่อด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้สามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุม กว้างขวาง รวมถึงเพื่อพัฒนาเนื้อหาสื่อที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สร้างการรับรู้ และเสริมสร้างความเข้าใจนโยบายการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2566 และนโยบายของรัฐบาล

อีกทั้งเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดระหว่างเครือข่ายสื่อมวลชนในพื้นที่ กับ สำนักงาน ปปส.ภาค 7 และให้เครือข่ายสื่อมวลชลในพื้นที่ เป็นสื่อกลางในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กับประชาชนในระดับพื้นที่ และเพื่อระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะหรือข้อคิดเห็น แนวทางเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนร่วมกับกำหนดแนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ร่วมกัน

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *