ป.ป.ช. ภาค 7 แถลงผลงาน ไตรมาส 1-2 ปี 66 – สมุทรสาครจับตาคดีทุจริตจัดซื้อช่วงโควิด

สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 7 แถลงข่าวผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1-2 ปีงบประมาณ 66 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแล้ว 22 เรื่อง ทางด้านสมุทรสาครมีตั้งเรื่องไต่สวนไว้ 18 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องจัดซื้อจัดจ้างช่วงสถานการณ์โควิด-19 พร้อมติดตามเรื่องการจัดเก็บขยะมูลฝอย โครงการรัฐที่ปล่อยร้าง บูรณาการแก้ขุดน้ำบาดาลโดยไม่ได้ขออนุญาต ฯลฯ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 มี.ค. 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 7 จัดแถลงข่าวผลการดำเนินงานสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 7 และ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดในพื้นที่ภาค 7 ไตรมาสที่ 1-2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานเทศบาลนครนครปฐม โดยมี นายหิรัณย์เศรษฐ เหยี่ยวประยูร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 7 พร้อมทั้งผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดในพื้นที่ภาค 7 รวม 8 จังหวัด (จังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี เพชรบุรี) และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน


หิรัณย์เศรษฐ เหยี่ยวประยูร

นายหิรัณย์เศรษฐ เหยี่ยวประยูร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 7 เปิดเผยว่า สำหรับผลการดำเนินงานด้านการปราบปรามการทุจริตในเขตพื้นที่ภาค 7 ไตรมาสที่ 1-2 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แบ่งออกเป็น 1. ผลการดำเนินงานในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริง โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 7 และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดในเขตพื้นที่ภาค 7 มีเรื่องกล่าวหาร้องเรียนที่อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริงทั้งหมด 879 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 203 เรื่อง คงเหลือ 676 เรื่อง เมื่อจำแนกตามประเภทคดีในสองไตรมาสแรกของปี 2566 พบว่า กลุ่มคดีที่มีจำนวนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1. การให้บริการสาธารณูปโภค (การก่อสร้างพื้นฐาน) 322 เรื่อง, 2. กระบวนการยุติธรรมและความมั่นคง 166 เรื่อง และ 3. การศึกษา 140 เรื่อง

2. ผลการดำเนินงานในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริง โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 7 และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดในเขตพื้นที่ภาค 7 มีเรื่องกล่าวหาร้องเรียนที่อยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริงทั้งหมด 263 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 22 เรื่อง คงเหลือ 241 เรื่อง เมื่อจำแนกตามประเภทคดีในสองไตรมาสแรกของปี 2566 พบว่า กลุ่มคดีที่มีจำนวนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1. จัดซื้อจัดจ้าง 71 เรื่อง, 2. การให้บริการสาธารณูปโภค (การก่อสร้างพื้นฐาน) 50 เรื่อง และ 3. กระบวนการยุติธรรมและความมั่นคง 37 เรื่อง

3. เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล ในไตรมาสที่ 1-2 ปีงบประมาณ 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 22 เรื่อง ชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัย 14 เรื่อง, ชี้มูลความผิดทางวินัย 1 เรื่อง, ชี้มูลความผิดทางอาญา 3 เรื่อง, ชี้มูลว่าร่ำรวยผิดปกติ 1 เรื่อง, ข้อกล่าวหาตกไป หรือยุติการสอบสวน 2 เรื่อง, และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 1 เรื่อง

นายหิรัณย์เศรษฐ กล่าวต่อไปว่า สำหรับคดีที่น่าสนใจของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 7 ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดแล้ว อาทิ กรณีกล่าวหาปลัด อบต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ทุจริตเรียกรับทรัพย์สินจากผู้รับจ้าง ในโครงการซ่อมแซมถนนลูกรังทางซอย 10 ของ อบต.ป่าเด็ง และกรณีกล่าวหานายก อบต.ลาดใหญ่ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม กับพวก รวม 13 คน ทุจริตในการการจัดซื้อที่ดินของ อบต.ลาดใหญ่ มีการจัดซื้อที่ดินเพื่อเป็นสถานที่ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการแถลงข่าวผลการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ทั้ง 8 จังหวัด ซึ่งในส่วนของนายนิพัฒน์ บุญสวัสดิ์ พนักงานไต่สวนระดับกลาง สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรสาคร ชี้แจงว่า ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีตั้งเรื่องไต่สวนไว้ 18 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องจัดซื้อจัดจ้างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และเป็นเรื่องที่รับดำเนินการมาจากจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งก็ได้ส่งถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะได้ทราบรายละเอียด ส่วนงานตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ มีประเด็นสงสัยต่อผู้ยื่นบัญชี 2 ราย ซึ่งได้มีการตรวจสอบยืนยัน ถ้ามีรายละเอียดเพิ่มเติมจะได้นำมาแถลงข่าวในรอบหน้า


นิพัฒน์ บุญสวัสดิ์

ส่วนเรื่องการป้องกันการทุจริต โดยเฉพาะการกำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งหน่วยงานที่กำจัดขยะใช้งบประมาณในการขนถ่ายค่อนข้างสูง บางแห่งสูงถึง 8 ล้านบาทต่อปี ลักษณะการดำเนินงานคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ้างเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งงบประมาณอาจมีการรั่วไหล เพราะไม่มีผู้ว่าจ้างตรวจสอบหน้างานด้วยขณะชั่งน้ำหนัก มีแต่ผู้รับจ้างส่งบิลให้ในแต่ละเดือน ทางกลุ่มงานป้องกันการทุจริตฯ ลงพื้นที่สำรวจเป็นเวลา 6 เดือน ประมาณ 4 แห่ง ก็พบในลักษณะนี้ จึงได้มีการรวบรวมข้อมูลเพื่อพิจารณาเป็นแนวทาง กำชับให้กับทางหน่วยงานได้ดำเนินการตรวจสอบตรงนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นโครงการศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำสมุทรสาคร ที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากผู้รับจ้างทิ้งงานไปหลังจากส่งมอบงานไป 3 งวด ทางจังหวัดสมุทรสาคาจึงดำเนินการจัดสรรงบประมาณใหม่เพื่อนำมาปรับปรุง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ส่วนโครงการอาคารศูนย์การท่องเที่ยวปากน้ำท่าจีน ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อจำหน่ายสินค้าโอทอปถูกปล่อยทิ้งร้าง โครงการตลาดสดเทศบาลนครอ้อมน้อย (ตลาดคลังทองซิตี้) สร้างเสร็จแล้วแต่ไม่มีผู้ค้าขายปล่อยทิ้งร้างไว้ และโครงการสร้างท่าเทียบเรือของเทศบาลตำบลสวนหลวง ซื้อที่ดินแล้วปล่อยไว้เป็นเวลาหลายปีแต่ไม่ดำเนินการ เป็นต้น ซึ่งทางสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรสาคร ก็จะติดตามเรื่องเหล่านี้ต่อไป

นายนิพัฒน์ ยังได้กล่าวถึงเรื่องของน้ำบาดาล ที่มีหน่วยงานดำเนินการขุดเจาะโดยไม่ขออนุญาตจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ทำให้เกิดดินทรุด สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรสาคร จึงได้บูรณาการกับทางจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อนำเอาบ่อน้ำบาดาลที่ยังไม่ขออนุญาตอย่างถูกต้องเอามาเข้าระบบทั้งหมด ขณะนี้ทำไปได้เกือบครบทั้งจังหวัดแล้ว รวมถึงเรื่องเรือบรรทุกน้ำมันระเบิดที่ จ.สมุทรสงคราม มีข่าวว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ประกันสังคมไปแอบอ้างเพื่อเรียกประโยชน์จากการช่วยเหลือเรื่องเงินเยียวยาแก่ผู้ประสบภัยชาวเมียนมา ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ จ.สมุทรสาคร จากการตรวจสอบพบว่าเป็นการแอบอ้าง และได้มีการประสานระหว่างสถานทูตเมียนมาและสำนักงานประกันสังคมฯ เพื่อจ่ายค่าเยียวยาแก่ผู้ประสบภัยชาวเมียนมาแล้ว

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *