เพลิงเผาวอดกองกระดาษรีไซเคิล โรงงานย่าน ต.นาโคก สมุทรสาคร คาด 3 วันสงบ เสียหายราว 200 ล.

เกิดเหตุเพลิงไหม้กองกระดาษรีไซเคิล ภายในโรงงานย่าน ต.นาโคก จ.สมุทรสาคร ระดมรถน้ำดับเพลิงนับสิบคันเข้าระงับเหตุ คาดใช้เวลากว่า 3 วันเพลิงจึงสงบ ส่วนความเสียหายประมาณ 200 ล้านบาท

เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 30 เม.ย. 2567 ร.ต.อ.อะลาม ครุฑจู รองสารวัตรสอบสวน สภ.บางโทรัด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้บริษัท คอวินอินดัสทรี่ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษ เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ตั้งอยู่เลขที่ 27/8-9 หมู่ 6 ต.นาโคก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ใกล้กับรอยต่อของ จ.สมุทรสงคราม จึงรีบประสานรถน้ำดับเพลิงจาก อบต.นาโคก และพื้นที่ใกล้เคียงทั้งจากจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรสงคราม รวมเกือบ 20 คัน เข้าระงับเหตุ ก่อนรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แล้วลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมกับ ว่าที่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ สิทธิโชคธรรม ผกก.สภ.บางโทรัด ร.ต.ประพันธ์ ถึกสกุล นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร นายราชศักดิ์ มากสัมพันธ์ นายก อบต.นาโคก เจ้าหน้าที่ สนง.ปภ.สมุทรสาคร ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ที่เกิดเหตุเป็นบริเวณด้านหลังนอกตัวอาคารที่ใช้สำหรับเก็บกองกระดาษเก่าที่ยังไม่ผ่านกระบวนการคัดแยก โดยเพลิงได้โหมลุกไหม้กองกระดาษรีไซเคิลอย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่ได้ช่วยกันระดมฉีดน้ำควบคุมให้เพลิงอยู่ในวงจำกัด แต่ยังไม่สามารถดับลงได้ เพราะกระดาษเก่าเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี อีกทั้งยังมีอยู่เป็นจำนวนมหาศาล จึงทำให้ยากต่อการดับลงได้โดยง่าย โดยทางนายอำเภอเมืองสมุทรสาคร ผู้บังคับบัญชาควบคุมสถานการณ์เหตุเพลิงไหม้ ได้ประสานรถแบ็คโฮเข้ามาตักคุ้ยกองกระดาษ เพื่อให้สามารถฉีดน้ำลงไปถึงข้างล่างเพื่อช่วยทำให้เพลิงสงบลงได้โดยง่ายขึ้น โชคดีที่บริเวณดังกล่าวไม่มีบ้านเรือนประชาชนอยู่ใกล้เคียง และไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด

ต่อมาเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 พ.ค. 2567 ร.ต.ประพันธ์ ถึกสกุล นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ฯ ร่วมด้วย ร.ต.ต.สัณฐิติ ธรรมใจ หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ สิทธิโชคธรรม ผกก.สภ.บางโทรัด นายราชศักดิ์ มากสัมพันธ์ นายก อบต.นาโคก นายนพพร พันธ์เพิ่มพูนกูล ผู้จัดการโรงงานฯ เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั้งจากในจังหวัดสมุทรสาคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี และพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ดับเพลิงทั้งจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม กรุงเทพฯ ราชบุรี และพื้นที่อื่น ๆ สนับสนุนกำลังทั้งรถดับเพลิง และกำลังเจ้าหน้าที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาระงับเหตุ แต่เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ภายในโรงงาน จึงไม่สามารถนำรถดับเพลิงเข้ามาได้ทั้งหมด ต้องให้บางส่วนจอดรออยู่ด้านนอก เพื่อรอสับเปลี่ยนกับรถที่อยู่ด้านใน

ในส่วนของแผนปฏิบัติการฯ เพื่อยุติเหตุไฟไหม้กองกระดาษรีไซเคิลครั้งใหญ่นี้ ทางนายอำเภอเมืองสมุทรสาคร ก็ได้ประชุมร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และได้เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ เพลิงได้ไหม้เต็มพื้นที่แล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถควบคุมบางส่วนไว้ได้  ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีเครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล 3 กิโลเมตร จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 เข้ามาเสริมเพื่อช่วยสูบน้ำจากคลองสาธารณะที่อยู่ห่างออกไป ส่งเข้าสู่ไปยังท่อฉีดน้ำดับเพลิงของรถทุกคัน ที่จะกระจายอยู่รอบทิศทาง โดยจะใช้วิธีการฉีดน้ำแบบโอบล้อม พร้อมกันนี้ก็จะมีการนำรถแบ็คโฮเข้ามาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้รถแบ็คโฮขุดคุ้ยกองกระดาษที่ถูกอัดเป็นแท่ง ให้แตกออกจากกัน แล้วเจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็ฉีดน้ำตามลงไป น้ำจะได้กระจายตัวและลงไปถึงด้านล่างทำให้การดับเพลิงมีประสิทธิผลตามที่ได้วางแผนไว้

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของหัวหน้าชุดดับเพลิงฯ คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 3 วัน ก็จะสามารถดับเพลิงทั้งหมดนี้ให้สงบลงได้ ซึ่งความยากของการดับไฟในครั้งนี้ นอกจากจะขึ้นอยู่กับปริมาณกระดาษรีไซเคิลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและกำลังของเจ้าหน้าที่ชุดผจญเพลิงที่ต้องทำงานกลางแดดที่ร้อนระอุ  อีกทั้งยังมีลมพัดมาเป็นระยะ ๆ และปริมาณน้ำด้วย แต่ถ้าได้น้ำจากคลองสาธารณะเข้ามาเติมแบบไม่มีขีดจำกัด ก็จะทำให้การฉีดน้ำเป็นไปอย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น

ส่วนเรื่องของพื้นที่ชุมชนด้านนอกโรงงานแห่งนี้ ได้สั่งการให้ทาง อบต.นาโคก จัดเจ้าหน้าที่ลงสำรวจผลกระทบที่เกิดกับชาวบ้าน ซึ่งเบื้องต้นมีบ้านเรือนประชาชนอยู่ 3 หลังคาเรือน ที่อยู่ห่างจากรั้วโรงงานออกไปประมาณ 1 กม. อาจจะมีได้รับผลกระทบในเรื่องของกลิ่นและฝุ่นละออง  โดยเฉพาะเรื่องของฝุ่นที่อาจจะฟุ้งกระจายไปได้ทั่วและไปได้ไกลกว่า 1 กม. นั้น จะต้องรอการสรุปผลจากทางเจ้าหน้าที่ อบต.นาโคกอีกครั้งหนึ่ง แต่เรื่องของมลพิษทางน้ำที่ไหลออกจากโรงงาน เชื่อได้ว่าไม่มีผลกระทบกับชาวบ้าน เพราะไม่มีคลองสาธารณะที่ติดกับโรงงาน และกระดาษรีไซเคิลเหล่านี้ก็ไม่ใช่สารเคมี แต่อย่างไรก็จะต้องมอบหมายให้ทางเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อม เข้ามาตรวจสอบต่อไป ขณะที่สาเหตุของการเกิดเพลิง ก็ต้องรอให้เจ้าหน้าที่วิทยาการจากกองพิสูจน์หลักฐานเข้ามาตรวจสอบยืนยันความชัดเจนต่อไป

ทางด้านของนายนพพร พันธ์เพิ่มพูนกูล ผู้จัดการโรงงาน เล่าว่า โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนื้อที่โดยรวมทั้งหมดราว 47 ไร่ แบ่งเป็นโซนตัวอาคารที่ใช้เป็นสำนักงานและกระบวนการผลิต 36 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 11 ไร่ เป็นพื้นที่โล่งภายนอกอาคารใช้สำหรับเก็บกองกระดาษรีไซเคิลที่รับซื้อมาจากประเทศในแถบยุโรป หลังจากนั้นก็จะนำมาคัดแยก แล้วนำมาปั่นเอาเยื่อกระดาษ แล้วอัดเป็นก้อนส่งไปขายยังประเทศต่าง ๆ เพื่อนำไปทำกระดาษประเภทต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยตรงส่วนที่เกิดเหตุเพลิงไหม้มีกระดาษรีไซเคิลทั้งหมด 26 กอง กองละประมาณ 1,000 ตัน แต่ละกองก็จะมีกระดาษรีไซเคิลอัดเป็นก้อน ๆ ถูกมัดด้วยลวด แต่ละก้อนจะมีน้ำหนักตั้งแต่ 500-1,000 กก.

ส่วนเรื่องเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในโรงงานดังกล่าว ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่พนักงานทำโอทีกันภายในตัวอาคารโรงงาน จึงไม่มีใครอยู่ตรงที่เกิดเหตุ แต่มีพนักงานเห็นว่ามีกลุ่มควันเกิดขึ้นตรงกองที่ 3 นับจากด้านหน้าเข้าไป ก็เลยช่วยกันนำถังดับเพลิงเข้าไปฉีดแล้ว แต่ไม่สามารถดับได้ จึงใช้หัวฉีดน้ำที่ทางบริษัทฯ ได้วางระบบไว้รอบทิศทาง ก็ยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้เช่นเดียวกัน เพราะว่ากระดาษเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี และไฟเกิดจากทางด้านล่างของกองกระดาษ ประกอบกับมีลมพัดมาทำให้เปลวเพลิงลุกลามกระจายตัวไปอย่างรวดเร็ว

จากนั้นทางบริษัทฯ จึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงของ อบต.นาโคก เข้ามาฉีดน้ำ แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมได้อยู่ดี ก็เลยต้องประสานขอรถน้ำดับเพลิงจากหลายพื้นที่เข้ามาช่วย ซึ่งสุดท้ายก็ไม่สามารถดับไฟลงได้ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึง ณ ขณะนี้  และยังคงลุกลามไปทั่วบริเวณจนไหม้ทั้งหมด ส่วนมูลค่าความเสียหายคาดว่าไม่ต่ำกว่า 180 – 200 ล้านบาท ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ต้องขอขอบคุณกำลังเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ได้มาช่วยกันดับเพลิงในครั้งนี้ ซึ่งทางบริษัทฯ ก็พร้อมสนับสนุนกำลังเสริมทั้งคนและเครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฯ ปฏิบัติงานได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *