ส.แม่บ้านตำรวจ เดินหน้าโครงการ “ครอบครัวตำรวจ เราไม่ทิ้งกัน” ช่วยเด็กพิเศษ บุตร ขรก.ตำรวจ

สมาคมแม่บ้านตำรวจ ร่วมกับ ชมรมแม่บ้านตำรวจภูธรภาค 7 เดินหน้าโครงการ “ครอบครัวตำรวจ เราไม่ทิ้งกัน” เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเด็กพิเศษ พร้อมมอบเงินช่วยเหลือบุตร ขรก. ตำรวจที่เป็นเด็กพิเศษ 3 ราย

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 เม.ย. 2568 ที่ห้องประชุม ชั้น 3 ตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร สมาคมแม่บ้านตำรวจ ร่วมกับ ชมรมแม่บ้านตำรวจภูธรภาค 7 จัดกิจกรรมเยี่ยมเยียนและขับเคลื่อนโครงการ “ครอบครัวตำรวจ เราไม่ทิ้งกัน” (ด้านเด็กพิเศษ) เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของบุตรข้าราชการตำรวจ ที่เป็นเด็กพิเศษ พร้อมทั้งสนับสนุนให้สามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี

โดยมี นางอาภิพร ชูวงศ์ อุปนายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ พร้อมด้วย นางลภัทธิดา จินตกานนท์ กรรมการบริหารสมาคมแม่บ้านตำรวจ นางจิดาภา ปุระธนานนท์ รักษาการประธานชมรมแม่บ้านตำรวจภูธรภาค 7 พล.ต.ต.ชมชวิณ ปุระธนานนท์ รอง ผบช.ภ.7 พล.ต.ต.ธีระเดช อธิภัคกุล ผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร และผู้แทนจากสมาชิกแม่บ้านตำรวจแต่ละจังหวัดของตำรวจภูธรภาค 7 เข้าร่วม

ในการนี้ อุปนายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ ได้ให้เกียรติบรรยายพิเศษ และมอบเงินช่วยเหลือบุตรข้าราชการตำรวจที่เป็นเด็กพิเศษ 3 ราย คือ ด.ญ.ณัฐวรรณ บุญปก นายณัฐชนนท์ ศรีคําน้อย และนายเจนณรงค์ สีแก้ว โดยได้รับเงินจากสมาคมแม่บ้านตำรวจ รายละ 3,000 บาท และจากตำรวจภูธรภาค 7 รายละ 5,000 บาท

นางอาภิพร ชูวงศ์ อุปนายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่เราได้มาประชุมหารือร่วมกัน เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานของ โครงการ “ครอบครัวตำรวจ เราไม่ทิ้งกัน” ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความห่วงใยต่อคุณภาพชีวิต การดูแลเป็นพิเศษ ของครอบครัวข้าราชการตำรวจ โดยเฉพาะผู้ที่มีบุตรพิการทางสมอง หรือร่างกาย ที่จำเป็นต้องได้รับแนวทางในการดำเนินงาน

ซึ่งโครงการนี้ ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1. บทบาทของผู้พิการและครอบครัว ที่เล็งเห็นความสำคัญของโครงการ และความเข้าใจในศักยภาพของตนเอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการวางแผนความช่วยเหลือ โดยเฉพาะการใช้ สิทธิตามมาตรา 35 เพื่อการสนับสนุนด้านอาชีพ 2. บทบาทของสมาชิกชมรมแม่บ้านตำรวจ อันจะเป็นกลไกสำคัญในการประสานงานระหว่างครอบครัวผู้พิการและผู้ประกอบการ เพื่อร่วมกันหาแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

และ 3. บทบาทของผู้ประกอบการ ที่ต้องมีความเข้าใจในสภาพความพิการ และการให้โอกาสในการจ้างงานอย่างเหมาะสม คือหัวใจของความยั่งยืนของโครงการนี้ โดยจะดำเนินงานผ่านช่องทางของกฎหมาย ทั้งมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติมฯ นอกจากนี้โครงการยังเน้นการสำรวจข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อออกแบบแนวทางการช่วยเหลือเป็นรายบุคคล ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการส่งเสริมการจ้างงาน หรือการสนับสนุนการสร้างอาชีพ    

“การพบกันในวันนี้ไม่เพียงเพื่อเยี่ยมเยียนหรือมอบสิ่งของเท่านั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อน “โอกาส” ให้กับสมาชิกในครอบครัวตำรวจที่มีข้อจำกัด ให้สามารถลุกขึ้นยืนได้อย่างมั่นคง ด้วยอาชีพ มีคุณภาพชีวิต และมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” นางอาภิพร กล่าวทิ้งท้าย

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *