เปิดใจก่อนเกษียณอายุ นพ.โมลี วนิชสุวรรณ ผอ.รพ.สมุทรสาคร “ขอฝากโรงพยาบาลเป็นสมบัติของทุกคน”

สิ้นเดือนกันยายนของทุกปี จะเป็นช่วงที่ข้าราชการอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเกษียณอายุ ในปี 2562 หนึ่งในนั้นคือ นพ.โมลี วนิชสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร ซึ่งบริหารสถานพยาบาลแห่งนี้ยาวนานกว่า 30 ปี พัฒนาจากโรงพยาบาลทั่วไป ก้าวสู่โรงพยาบาลศูนย์ รองรับผู้ป่วยทั้งในจังหวัดสมุทรสาครและพื้นที่ใกล้เคียง

จากแพทย์หนุ่มชาวจังหวัดสตูล สำเร็จการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทางด้านตจวิทยา (ผิวหนัง) ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ารับราชการด้านบริหาร ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา

นพ.โมลี พัฒนาโรงพยาบาลสมุทรสาครให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นจากแพทยสภาในสาขานักบริหาร ประจำปี 2561 จากผลงานการปฏิบัติหน้าที่ในการทำงานบริการโรงพยาบาล และการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ ดูแลสุขภาพแบบครบวงจร ป้องกันโรคระบาดต่างๆ

“สาครออนไลน์” มีโอกาสเปิดใจ นพ.โมลี ถึงการพัฒนาโรงพยาบาลในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการผลักดัน “ศูนย์โรคหัวใจ” และ “ศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคมะเร็ง” พร้อมทั้งสิ่งที่อยากจะฝากไปถึงผู้บริหารโรงพยาบาลชุดต่อไปที่จะเข้าสานต่อ เพื่อให้โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวสมุทรสาคร

นพ.โมลี กล่าวว่า เดิมโรงพยาบาลสมุทรสาครเป็นโรงพยาบาลทั่วไป โดยภาพรวมจะดูแลผู้ป่วยในระดับจังหวัด มีความพยายามที่จะพัฒนาเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งจะดูแลผู้ป่วยในระดับเขต มีศักยภาพรองรับการส่งผู้ป่วยที่ยุ่งยากและซับซ้อนจากโรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียงได้

“ถ้าทำตรงนี้ได้ คนที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาครจะได้ประโยชน์ เพราะโรคที่รักษายากและต้องใช้ความเชี่ยวชาญของแพทย์ เครื่องมือที่ซับซ้อนสูงๆ ทำไม่ได้ ต้องส่งต่อ คนไข้ก็เสียโอกาส บางโรคก็รอไม่ได้ ยิ่งส่งต่อคนไข้ยิ่งแย่ ก็เลยพยายามพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลแห่งนี้ไปให้ไกลที่สุด ให้ดีที่สุด ทำโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนได้”

• “ศูนย์โรคหัวใจ” ผ่านมาแล้ว 1 ปี ช่วยชีวิตคนได้มาก

โครงการที่ทำไปแล้ว คือ ศูนย์โรคหัวใจ โดยเฉพาะสวนหัวใจคนไข้ที่เส้นเลือดหัวใจตีบ ต้องใช้เครื่องมือ ขณะนี้เปิดดำเนินการมาแล้ว 1 ปี มีผลตอบรับดี วันหนึ่งมีผู้ป่วยมาใช้บริการ 6-8 ราย ช่วยชีวิตคนได้เยอะ บางคนหัวใจหยุดเต้น ช่วยกันฟื้นจนกลับบ้านได้ ถ้าไม่มีเครื่องมือนี้ส่งต่อไม่ทันแน่นอน ถือเป็นโอกาสของคนที่นี่

“ที่น่ายินดี คือ โครงการนี้พอคหบดี ข้าราชการ และประชาชน ทราบว่าโรงพยาบาลจะทำเรื่องการสวนหัวใจ ก็ช่วยเหลือโครงการนี้คนละไม้คนละมือ สนับสนุนทั้งทุนทรัพย์หรือจัดทำโครงการ เช่น ทอดผ้าป่า กิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศล จัดแรลลี่ จัดคอนเสิร์ต บางคนหาเงินให้เลย ทำให้โรงพยาบาลนี้แทบไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน”

สำหรับงบประมาณก่อสร้างศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสมุทรสาคร นพ.โมลี กล่าวว่า ตั้งไว้ 100 ล้านบาท ขณะนั้นยังขาดอยู่ 40-50 ล้านบาท จึงใช้วิธีให้บริษัทเอกชนลงเครื่องมือให้ โรงพยาบาลจ่ายเงินเป็นรายเคส เพราะกว่าเงินจะครบต้องใช้เวลา ทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เกิดความรู้สึกว่าถ้าทำอะไรดีๆ คนก็จะช่วย

• พัฒนา รพ.นครท่าฉลอม “ศูนย์รักษาโรคมะเร็ง” แห่งที่ 2 ในเขตสุขภาพที่ 5

อีกโครงการหนึ่ง คือ ศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยาก เพราะปกติโรงพยาบาลทุกแห่งจะมีรังสี ซึ่งใช้เครื่องฉายรังสีเพื่อวินิจฉัยโรค เช่น เอ็กซเรย์ปอด เอ็กซเรย์กระดูก แต่รังสีรักษา คือรังสีที่มีพลังงานรังสีสูงมาก เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ปัจจุบันคนเป็นมะเร็งจำนวนมากที่ต้องฉายแสงไม่มีที่ไป

ผู้ป่วยในเขตสุขภาพที่ 5 ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือกว่า 1 พันราย ไม่มีที่ฉายแสงภายในเวลาที่กำหนด ทั้งที่ช่วงเวลาหลังผ่าตัดเสร็จ ช่วงเวลาพักฟื้นภายใน 1-2 เดือนต้องไปฉายแสง เรียกว่าช่วง Golden Period เป็นช่วงที่มีโอกาสเซลล์มะเร็งจะถูกทำลายหมด หากปล่อยไว้เซลล์มะเร็งก็จะกลับมาลุกลามอีก

ในเขตสุขภาพที่ 5 มีเครื่องรังสีรักษาเพียงแห่งเดียว คือ โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ซึ่งมีผู้ใช้บริการต้องรอคิวยาว สำหรับโรงพยาบาลสมุทรสาคร มีมูลนิธิโรงพยาบาลนครท่าฉลอม โดยนายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม รองประธานมูลนิธิ (เจ้าของกลุ่มบริษัทชัยนาวีห้องเย็น) บริจาคอาคารให้ 400 ล้านบาท และรับปากว่าจะหางบประมาณมาทำให้

โดยจะใช้โรงพยาบาลนครท่าฉลอมเป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคมะเร็ง เพราะต้องสร้างอาคารแยกต่างหาก มีกำแพงหนาประมาณ 1.5 เมตรเพื่อป้องกันรังสี และซื้อเครื่องยิงเซลล์มะเร็งประมาณ 100 ล้านบาท ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ อยู่ในระหว่างการทดสอบด้านรังสี และความปลอดภัยสูงสุด คาดว่าในอีกไม่กี่เดือนจะเปิดให้บริการได้

นพ.โมลี กล่าวว่า ต้องขอบคุณมูลนิธิโรงพยาบาลนครท่าฉลอม และนายสุวันชัยที่เข้ามาช่วยเหลือ พยายามหางบประมาณอยู่ ความจริงเขาจะไม่ทำก็ได้ แต่มีความรู้สึกว่าเขาอยากทำให้ ทางโรงพยาบาลก็ช่วยเต็มที่ และต้องรับผิดชอบในการหาบุคลากรมาลงซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งหายากมาก กรมการแพทย์ก็สนับสนุนบุคลากรมาให้

“ถือเป็นโอกาสของคนที่นี่ อย่างน้อยเป็นมะเร็งจำเป็นต้องฉายแสง จะได้มีที่ทำเลย ไม่ต้องรอ ไม่ต้องวิ่งไปหาทั่ว บางทีมันต้องยิง ต้องยิง 30 วัน ไปยิงที่กรุงเทพฯ ก็ต้องไปทุกวัน แล้วคนจนมีโอกาสที่ไหนที่จะไปทุกวัน ถ้าอยู่ที่นี่ได้ เขาก็จะยิงได้ทุกวันโดยที่เขาไม่เดือดร้อน ตอนนี้เครื่องเสร็จหมดแล้ว กำลังทดสอบความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งคนที่เดินข้างนอกไม่ได้รับอันตราย”

• ให้เอกชนช่วย “ศูนย์ไต” แก้ปัญหาบุคลากร ลดความเสี่ยงคนไข้ตกค้าง

นอกจากนี้ยังมีศูนย์ไต เดิมตอนที่มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหม่ๆ มีแค่ 7 เครื่อง เพราะต้องขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ต่อ 1 เครื่อง ซึ่งขาดแคลนพยาบาลอยู่แล้ว ทำให้คนไข้รอคิวประมาณ 60 คน ซึ่งไตไม่สามารถกำจัดของเสียได้ ของเสียค้างในเลือดเยอะๆ สักพักคนไข้จะไม่รอด การจะล้างของเสียออกไปจะต้องล้างไตสัปดาห์ละ 2 วัน

ทั้งนี้ เครื่องล้างไตเครื่องหนึ่งทำงานได้จำกัด คนหนึ่งต้องล้างไตประมาณ 3-4 ชั่วโมง วันหนึ่งทำได้ 2 รอบ ทำให้คนไข้ตกค้างเยอะ การเพิ่มเครื่องทำได้ไม่ยาก แต่เจ้าหน้าที่เพิ่มยากมาก ถ้าขอเครื่องเพียงอย่างเดียวมีคนบริจาคเยอะ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ความเสี่ยงคนไข้ก็เกิดขึ้น

ขณะนี้ให้เอกชนมาช่วยทำ โดยลงเครื่องแล้วโรงพยาบาลจ่ายเป็นรายเคส โดยเพิ่มเครื่องให้อีก 21 เครื่อง คนไข้ที่รอคิวก็หายหมดเลย เพราะตั้งเป้าว่า ถ้าวันที่คนไข้จำเป็นต้องทำก็ต้องทำ ไม่นับรวมเครื่องเดิมที่ยังต้องล้างไตคนไข้เก่าไปเรื่อยๆ เพราะต้องล้างไตตลอดชีวิต ซึ่งคนไข้ตามสิทธิ์ที่มีอยู่ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม โรงพยาบาลรับผิดชอบ

“การให้เอกชนมาช่วยศูนย์ไต ทำให้ไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องตกละประมาณ 4 แสนบาท ไม่ต้องจัดหาพยาบาลและเจ้าหน้าที่ ใช้แค่พื้นที่ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่แก้ปัญหาระบบราชการที่ขาดแคลนกำลังคนได้ ซึ่งเรื่องล้างไตก็มีเกือบทั้งประเทศที่ใช้เอกชนภายนอก”

ถามถึงเรื่องบุคลากร นพ.โมลี กล่าวว่า ที่นี่มีลูกจ้างมากกว่าข้าราชการ โดยมีข้าราชการราว 800 คน ลูกจ้างประมาณ 1,400 คน ถ้ารอกำลังคนของรัฐก็ต้องตรวจคนไข้รีบๆ ความเสี่ยงจะตกไปอยู่ที่คนไข้ เราก็เลยจ้างแพทย์ 20 คน แม้จะเสียค่าใช้จ่ายเยอะ แต่ได้ผู้เชี่ยวชาญและคนไข้ได้ประโยชน์ ล่าสุดได้ผู้เชี่ยวชาญด้านเลือดมาคนหนึ่ง

• “ทีมเวิร์ค” หัวใจสำคัญในการบริหาร

เมื่อถามถึงความภาคภูมิใจที่สุดในการบริหารโรงพยาบาลที่ผ่านมา นพ.โมลี กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้มาทำงานที่นี่ รู้สึกว่ามันเป็นโอกาส เจ้าหน้าที่ค่อนข้างจะดีมาก ตั้งใจทำงาน และมีความเป็นทีมที่ดีมาก ประชาชนและคหบดีรักโรงพยาบาล ทำให้สิ่งที่ฝันอยากทำโรงพยาบาลนี้ที่ดีที่สุด มีความเชี่ยวชาญ ทำโรคยากๆ ได้ดีที่สุดกลายเป็นจริง ถ้าผมไปอยู่ที่อื่น คงจะทำไม่ได้มากขนาดนี้ แต่ที่นี่เจ้าหน้าที่ดีมาก ประชาชนดีมาก

หลักการบริหารโรงพยาบาลจะเน้นความเป็นทีม เพราะผู้อำนวยการเพียงคนเดียวคงไม่สามารถทำอะไรได้ โดยเฉพาะวงการแพทย์ การตรวจคนไข้ 1 คน ต้องใช้ความเชี่ยวชาญแต่ละคนสูงมาก โรคเบาหวานคนหนึ่ง โรคหัวใจคนหนึ่ง ซึ่งต้องมีความเชี่ยวชาญสูงมาก และแพทย์คนเดียวทำไม่ได้ ต้องมีทีมพยาบาล ทีมโภชนากร ทีมกายภาพ บุรุษพยาบาล ผู้ช่วยเต็มไปหมดที่ต้องเป็นทีมที่ดี

“ในการทำงานของโรงพยาบาล ความเป็นทีมสำคัญที่สุด ที่จะทำงานให้ได้มีประสิทธิภาพ ถ้าทีมไม่ดี ความเสี่ยงจะตกที่คนไข้ มีโอกาสที่จะเสี่ยงผิดพลาด เพราะเป็นเรื่องซับซ้อนมาก การให้ยา ให้สารอาหารเข้าไปที่คนไข้ ความผิดพลาดนิดเดียว หมายถึงชีวิตหรือความพิการของคนที่เรารัก เพราะฉะนั้น ทำให้ลดความเสี่ยงมากที่สุด ต้องสร้างทีมที่ดีที่สุดขึ้นมา ที่นี่มีทีมที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าทีมทางด้านสมอง ด้านหัวใจ ด้านอายุรกรรม ด้านผ่าตัด”

• ลุ้นปีงบประมาณ 63 “ที่จอดรถ 600 คัน” แก้ปัญหาแออัด

ส่วนปัญหาของโรงพยาบาลในปัจจุบัน นพ.โมลี กล่าวว่า โรงพยาบาลมีพื้นที่จำกัดประมาณ 30 ไร่ ขาดที่จอดรถ และที่พักเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องอยู่เวร ขณะนี้ได้ของบประมาณก่อสร้างที่จอดรถ 600 คัน กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณแล้ว รอผ่านสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะอนุมัติในปีงบประมาณ 2563

ลักษณะจะเป็นอาคารจอดรถ 600 คัน อยู่ด้านหลังโรงพยาบาล และทำ Cover Way ไปยังอาคารต่างๆ ซึ่งจะระบายที่จอดรถได้เยอะ ที่ผ่านมาคนไข้บางคนมาจอดรถ ส่งญาติมาถึงแผนกอายุรกรรมก็เสียชีวิตแล้วเพราะไม่ทัน ถ้ามีที่จอดรถก็สะดวกขึ้น ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องไปนอนข้างนอก เวลาอยู่เวรก็มาทำงานทันที

นอกจากนี้ กำลังเขียนแบบก่อสร้างอาคาร 15 ชั้น โดยทุบตึกเก่าทิ้ง เพื่อแก้ปัญหาความแออัด และความเชี่ยวชาญเฉพาะโรคจะต้องใช้พื้นที่ ห้องผ่าตัดโรคหัวใจจะต้องใหญ่กว่าห้องผ่าตัดทั่วไป ห้องไอซียูก็ต้องเพิ่ม เพราะว่าคนไข้มีความซับซ้อนขึ้น จำเป็นต้องอยู่ห้องไอซียู สิ่งเหล่านี้ต้องใช้พื้นที่ งบประมาณ บุคลากรและความเชี่ยวชาญ

• ย้ำโรงพยาบาลเป็นสมบัติของทุกคน ขอโทษประชาชนที่ไม่สบายใจ

ใกล้จะเกษียณอายุราชการ ถามว่ามีอะไรที่จะฝากสานต่อเป็นพิเศษ นพ.โมลี กล่าวว่า ในส่วนเจ้าหน้าที่พยายามย้ำว่าให้ทำงานเป็นทีม ไม่ว่าคนไหนจะเข้ามา ทีมสำคัญที่สุด ถ้ามีทีมที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าใครมางานต้องเดินหน้าต่อได้ อย่าให้การทำงานขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการคนเดียว ไม่อย่างนั้นงานก็จะไปต่อไม่ได้ เผลอๆ งานก็ดรอปลง

ส่วนการแก้ปัญหารอจ่ายเงินเพื่อเจาะเลือด จะให้ทีมลงไปดูแล ซึ่งมีคนไข้กลุ่มหนึ่งที่ใช้สิทธิการรักษา เช่น หลักประกันสุขภาพล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายเงินอยู่แล้ว ก็จะให้ไปเจาะเลือดเลย จะแก้ไขตรงนี้ให้

นอกจากนี้ ยังฝากประชาชนอดทน เพราะขณะนี้คนไข้เยอะ บางทีการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ทำให้ไม่สบายใจเพราะคนไข้เยอะ อยู่เวรดึก ร่างกายไม่สดชื่น ง่วงนอน บางทีก็หลุดสิ่งที่ไม่ควรพูดออกไป ต้องกราบขอโทษด้วยว่า จริงๆ ไม่ได้เจตนา เราอบรมเรื่องนี้เป็นประจำ และถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก

“ขอฝากประชาชนให้ถือว่าโรงพยาบาลเป็นสมบัติของทุกคน มีอะไรก็แนะนำสนับสนุนได้ มีอะไรไม่ถูกก็แนะนำ ซึ่งคำแนะนำดีๆ ก็ได้นำไปปรับใช้” นพ.โมลี กล่าวทิ้งท้าย

เรื่อง : กิตตินันท์ นาคทอง / ภาพ : กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *