เกิดได้จริงหรือไม่? “โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายมหาชัย-ปากท่อ”

แม้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง หัวลำโพง-มหาชัย จะยังไม่มีความชัดเจน แต่เมื่อวันก่อน บริษัทที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายมหาชัย-ปากท่อ (ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรายละเอียดรถบบรถไฟฟ้าชานเมือง ร่วมกับรถไฟทางไกลเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครแลปริมณฑล สายมหาชัย-ปากท่อ) ได้เข้ามาแนะนำโครงการ ระหว่างการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ

บริษัทสำรวจและออกแบบ 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทยเอนยิเนียริ่งคอนซัลแตนทส์ จำกัด, บริษัท แปซิฟิค คอนซัลแทนส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท แปซิฟิค คอนซัลแทนส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เตรียมที่จะศึกษาความเหมาะสมโครงการดังกล่าว โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าของโครงการ

ก่อนหน้านี้ สำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เคยจัดทำโครงการศึกษาและออกแบบ โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองร่วมกับรถไฟทางไกลเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รังสิต – สถานีบ้านภาชี มักกะสัน – ฉะเชิงเทรา ตลิ่งชัน -นครปฐม และมหาชัย – ปากท่อ) เมื่อปี 2559 และมีรายงานฉบับสมบูรณ์ออกมา

โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายมหาชัย-ปากท่อ มีระยะทาง 58 กิโลเมตร จำนวนสถานี 18 สถานี ได้แก่ 1. สถานีมหาชัย (ใหม่) จุดสิ้นสุดโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (รังสิต-มหาชัย) 2. สถานีท่าฉลอม (ใหม่) 3. สถานีนกเล็ก 4. สถานีบางสีคต 5. สถานีบางกระเจ้า 6. สถานีบ้านบ่อ 7. สถานีบางโทรัด 8. สถานีบ้านกาหลง

.9. สถานีบ้านนาขวาง 10. สถานีบ้านนาโคก 11. สถานีบ้านเขตเมือง 12. สถานีลาดใหญ่ 13. สถานีบางตะบูน 14. สถานีแม่กลอง (ใหม่) 15. สถานีบางขันทอง 16. สถานีปลายโพงพาง 17. สถานีวัดเพลง 18. สถานีปากท่อ ซึ่งเป็นสถานีปลายทาง เชื่อมต่อกับทางรถไฟสายใต้

รูปแบบจะเป็นทางรถไฟยกระดับขนาด 2 ทาง ไป-กลับ คร่อมทางรถไฟเดิมที่จะเป็นถนนโลคัลโรด พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง คลองสุนัขหอน และคลองแม่กลอง ก่อนจะลดระดับลงเมื่อเข้าสู่สถานีปากท่อ โดยมีสถานีนาโคกเป็นศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) เพื่อรองรับการขนส่งคนจากทางรถไฟสายใต้เดิมตัดเข้ากรุงเทพฯ ทําให้ย่นระยะเวลาการเดินทางลงได้กว่า 1 ชั่วโมง ซึ่งจะทําการก่อสร้างใหม่ทั้งหมด

กลับมาที่เอกสารแนะนำโครงการดังกล่าว ระบุแต่เพียงว่า “ปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โดยได้เร่งดำเนินการให้มีโครงข่ายเชื่อมโยงครอบคลุมทั้งพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ให้ดำเนินการศึกษาและออกแบบรายละเอียดระบบรถไฟฟ้าชานเมืองร่วมกับรถไฟทางไกล เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการใช้ระบบรางเพื่อให้สามารถให้บริการแก่ผู้โดยสารในย่านชานเมืองอย่างเพียงพอ และเป็นการแก้ปัญหาการคมนาคมระหว่างในเมืองและชานเมืองที่มักจะไม่ต่อเนื่องและสิ้นเปลืองเวลา ซึ่งรองรับแนวคิด ในการพัฒนาเมืองบริเวณรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อลดอัตราการเติบโตและความหนาแน่นของพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนโดยระบบรถไฟชานเมือง (Commuter Train) โดยโครงการจะเริ่มต้นที่บริเวณสถานีรถไฟมหาชัย ปลายทางสถานีรถไฟชุมทางปากท่อ มีระยะทางรวมประมาณ 56 กิโลเมตร ซึ่งโครงการดังกล่าวจะได้พัฒนาให้สามารถให้บริการร่วมกับรถไฟทางไกล (Long Distance Train) รวมทั้งเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Mass Rapid Transit) เพื่อกระจายผู้โดยสารระหว่างจุดเชื่อมต่อต่างๆ ซึ่งจะทำให้การเดินทางด้วยระบบรางสามารถให้บริการเชื่อมโยงเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลออกไปยังเมืองบริวารโดยรอบอย่างสมบูรณ์ และสามารถตอบสนองนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนได้”

ต้องคอยดูกันว่า การศึกษาและออกแบบรายละเอียด โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายมหาชัย-ปากท่อ จะดำเนินการเมื่อไหร่ โดยเฉพาะการประชุมปฐมนิเทศโครงการ และกระบวนการประชุมกลุ่มย่อย ถึงตอนนั้นประชาชนที่อยู่ในบริเวณทางรถไฟสายแม่กลอง และตามแนวเส้นทางโครงการ จะได้มีส่วนร่วมในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ก่อนสรุปผลการศึกษาต่อไป

ส่วนจะก่อสร้างได้จริงหรือไม่ ประชาชนคงต้องรอคอยความพร้อมของรัฐบาล ไม่ต่างจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง หัวลำโพง-มหาชัย ที่ขณะนี้ยังคงเป็น “โครงการขายฝัน” ของรัฐบาลแต่ละยุคสมัย โดยที่คนสมุทรสาครไม่รู้ว่าโครงการแบบนี้จะเกิดขึ้นได้จริงในชาตินี้หรือไม่?

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *