“เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” จากพื้นเพสมุทรสาคร สู่นายกรัฐมนตรีคนที่ 15

“พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ที่คอการเมืองรุ่นเก่าสมัย 40 กว่าปีก่อนจะรู้จักเป็นอย่างดี  

แต่ปัจจุบัน น้อยคนนักจะทราบว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ผู้มีฉายาจากสื่อมวลชนว่า “อินทรีแห่งทุ่งบางเขน” เกิดและเติบโตที่เมืองมหาชัย รวมถึงเคยศึกษาที่โรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรสาครในสมัยนั้นด้วย

“สาครออนไลน์” จึงขอย้อนรอยเส้นทางชีวิต “นายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของประเทศไทย” ให้คอการเมืองทั้งรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ได้รู้จักไปพร้อมกัน ในโอกาสครบรอบ 102 ปีชาตกาลในปีนี้

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2460 ที่ ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เป็นบุตรคนที่ 5 จากพี่น้องทั้งหมด 8 คน ของนายแจ่ม ชมะนันทน์ ซึ่งเคยรับราชการที่กระทรวงมหาดไทย ประจำอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร กับนางเจือ ชมะนันทน์ 

เดิมชื่อ “สมจิตต์ ชมะนันทน์” และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เกรียงศักดิ์” เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2485 ขณะมียศร้อยโท เพื่อให้เข้ากับยุครัฐนิยม สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่คนไทยต้องใช้ชื่อที่เข้ากับเพศของตัวเอง

เข้าเรียนเริ่มแรกในชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดใหญ่คล้ายนิมิตร และเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย จากนั้นเมื่อปี 2477 เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 แผนกวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนปทุมคงคา กรุงเทพฯ จนจบชั้นมัธยมศึกษา 

บอร์ดนิทรรศการ และของที่ระลึกต่าง ๆ ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ภายในพิพิธภัณฑ์อาคาร รร.จปร. 100 ปี จ.นครนายก

แล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จนสำเร็จการศึกษาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2483 ได้รับพระราชทานยศเป็นร้อยตรีเหล่าทหารราบในตำแหน่งผู้บังคับหมวด กองพันทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในระหว่างรับราชการทหาร ได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก โรงเรียนเสนาธิการทหารบกแห่งสหรัฐอเมริกา วิทยาลัยกองทัพบก และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 5 

ต่อมาในปี 2493 หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกแล้ว ได้ดำรงตำแหน่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองทัพภาคที่ 3 และในปีถัดมาได้ย้ายไปเป็นอาจารย์กองวิชายุทธการ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก 

ก่อนเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลี ในตำแหน่งรองผู้บังคับกองพันฝ่ายยุทธการ กองพันทหารราบที่ 1 (อิสระ) กรมผสมที่ 21 ผลัดที่ 3 และผู้บังคับกองพันฯ ตามลำดับ โดยเริ่มเดินทางไปตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2495 และอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนถึงวันที่ 4 มกราคม 2496 

ในการไปราชการสงครามเกาหลี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ซึ่งมียศพันตรีในขณะนั้น มีโอกาสได้สร้างวีรกรรมให้ปรากฎใน “การรบที่ช่องเขาพอร์คชอป” (Battle of Pork Chop Hill) ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2495 ซึ่งฝ่ายเกาหลีเหนือยกกำลังเข้าโจมตีถึง 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายปะทะกันแบบระยะประชิด แต่ทหารไทยก็สามารถป้องกันพื้นที่ไว้ได้อย่างกล้าหาญ ท่ามกลางหิมะอันหนาวเย็น 

หลังจากการรบที่ช่องเขาพอร์คชอป พล.อ.เกรียงศักดิ์ ในฐานะผู้บังคับกองพัน ได้รับเหรียญกล้าหาญระดับลีเยียนออฟเมอริต ดีกรีออฟเลยอนแนร์ (Legion of Merit Degree of Legionnaire) และมีทหารไทยได้รับเหรียญซิลเวอร์สตาร์ 9 นาย เหรียญบรอนซ์สตาร์ ประดับอักษรวี 15 นาย และเหรียญบรอนสตาร์อีก 4 นาย

รวมทั้งหน่วยใต้บังคับบัญชาได้รับสมญานาม “กองพันพยัคฆ์น้อย” (Little Tiger) จาก พล.อ.เจมส์ เอ. แวนฟลีต แม่ทัพที่ 8 ของสหรัฐฯ ผู้บังคับบัญชากองกำลังสหประชาชาติในช่วงนั้น

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไปเยือนประเทศเกาหลีใต้ ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ภาพจากพิพิธภัณฑ์อาคาร รร.จปร. 100 ปี)

ภายหลังกลับจากสงคราม พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้เป็นเป็นหัวหน้าภาควิชายุทธการ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก แล้วจึงย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานวางแผนทหาร ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) หรือ SEATO จนได้เป็นหัวหน้ากองการทหารของ ส.ป.อ. ระหว่างปี 2502 – 2506 จากนั้นจึงย้ายมาดำรงตำแหน่งรองเสนาธิการกองอำนวยการกลาง สำนักงานผู้บัญชาการทหารสูงสุด

จากนั้นในปี 2516 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ย้ายกลับกองทัพบก โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่รองเสนาธิการทหารบก เสนาธิการทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2520 และเกษียณอายุราชการในปีถัดมา ช่วงเวลาที่รับราชการนั้นเอง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็ได้เข้าไปรับตำแหน่งทางการเมือง เริ่มจากสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี 2511 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อปี 2515

พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน แถลงข่าวภายหลังการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 (ภาพจากหนังสือ “60 ปี รัฐสภาไทย”)

ในเหตุการณ์จลาจลและปราบปรามนักศึกษาและผู้ประท้วงบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ขณะดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เข้าร่วมกับคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยเป็นเลขาธิการคณะปฏิรูปฯ ซึ่งมี “บิ๊กจอวส์” พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะ เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือนของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

จากนั้น ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกาในขณะนั้น เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2519 ซึ่งสื่อมวลชนตั้งฉายาว่า “รัฐบาลหอย” เพราะเป็นรัฐบาลพลเรือน แต่อยู่ภายใต้การกำกับของคณะปฏิรูปฯ ต่อมาเมื่อ 14 พฤษภาคม 2520 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็ได้รับตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 

ธานินทร์ กรัยวิเชียร

แต่แล้วการเข้าบริหารราชการแผ่นดินด้วยนโยบายขวาจัดที่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง และความล่าช้าในขั้นตอนของการพัฒนาประชาธิปไตยของรัฐบาล ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาถึง 12 ปี คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจึงทำรัฐประหารอีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520

แล้วมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของประเทศ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2520

ผลงานที่สำคัญของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ คือการปรับปรุงสัมพันธภาพกับประเทศเพื่อนบ้าน อันประกอบด้วย เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า รวมทั้งได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหภาพโซเวียต เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจทั้งสอง ทำให้ไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับทั้งสองประเทศแน่นแฟ้นขึ้น 

รวมถึงการคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างนักศึกษาปัญญาชนกับรัฐบาล ดำเนินการทางการเมืองที่จะประสานความสามัคคีของคนในชาติ ด้วยการออกกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ปล่อยตัว 19 ผู้ต้องหา ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องจากเหตุการณ์กบฏ 26 มีนาคม 2520 ดังประโยคที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “เราไม่มีเวลาทะเลาะกันอีกแล้ว”


พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถ่ายภาพร่วมกับผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา ทั้ง 19 ราย ภายหลังจากได้รับอิสรภาพ เมื่อ 17 กันยายน 2521

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งหน่วยงานสำคัญ ๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายหน่วยงาน เช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นต้น

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ระยะเวลา 2 ปี 113 วัน สุดท้ายประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลางสภา เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 เนื่องจากปัญหาวิกฤติน้ำมันขึ้นราคาในขณะนั้น นำมาซึ่งการประท้วงอย่างกว้างขวาง 

รวมทั้งถูกพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชากรไทย และพรรคสยามประชาธิปไตย ยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจ และกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาสายทหาร ก็ไม่ให้การสนับสนุน

ภายหลังที่ประชุมรัฐสภา ได้มีมติเลือก “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 16 ของประเทศไทย และดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลากว่า 8 ปี

หลังจากลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งซ่อมจังหวัดร้อยเอ็ด เขต 1 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2524 แทนนายสมพร จุรีมาศ รองหัวหน้าพรรคสยามประชาธิปไตย ได้ถึงแก่กรรม พล.อ.เกรียงศักดิ์ ถือโอกาสแจ้งเกิดทางการเมือง ด้วยการลงเลือกตั้งในนาม “พรรคชาติประชาธิปไตย” โดยมีคู่แข่งคนสำคัญ คือ พ.ต.ท.บุญเลิศ เลิศปรีชา รองหัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคฯ และนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ให้การสนับสนุน 

ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งดังกล่าว มีการใช้เงินซื้อเสียงกันอย่างเป็นระบบ จนมีเงินแพร่สะพัดภายใน จ.ร้อยเอ็ด ราว 80 ล้านบาท เป็นที่มาของตำนาน “โรคร้อยเอ็ด” อันหมายถึงการซื้อเสียงกันอย่างแพร่หลายของนักการเมืองทางภาคอีสาน สุดท้ายหลังปิดหีบบัตร ผลปรากฎว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชนะเลือกตั้งถล่มทลายไปด้วยคะแนนเสียง 70,812 คะแนน ขณะที่ พ.ต.ท.บุญเลิศ ได้ 42,084 คะแนน

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด รวมทั้งหมด 3 ครั้ง สมัยแรก 9 สิงหาคม 2524 – 16 มกราคม 2526 สมัยที่สอง 18 เมษายน 2526 – 2 พฤษภาคม 2529 และสมัยที่สาม 27 กรกฎาคม 2529 – 29 เมษายน 2531 สุดท้ายตัดสินใจล้างมือทางการเมือง และยุบเลิกพรรคชาติประชาธิปไตย ในปี 2531


พล.อ.เกรียงศักดิ์ – คุณหญิงวิรัตน์ ชมะนันทน์ เข้าร่วมงานเลี้ยงรับประทานอาหารค่ำ กับจิมมี คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 39 และโรซาลีนน์ คาร์เตอร์ ภริยา เนื่องในโอกาสเดินทางเยือนสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2522 (ภาพจากเว็บไซต์ องค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติสหรัฐฯ)

ชีวิตส่วนตัว พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สมรสกับ คุณหญิงวิรัตน์ ชมะนันทน์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2504 โดยมี พล.อ.สวัสดิ์ สวัสดิกลยุทธ์ เป็นเจ้าภาพ มีบุตรและธิดาคือ พล.ต.พงศ์พิพัฒน์ ชมะนันทน์ และ น.ส.รัตนวรรณ ชมะนันทน์ 

พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นที่จดจำของผู้คนทั่วไป ด้วยการทำอาหารขณะลงเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างแกงเขียวหวานเนื้อ ซึ่งต้องเหยาะบรั่นดีเพื่อให้มีกลิ่นหอมชวนรับประทาน จนสื่อมวลชนขนานนามว่า “แกงเขียวหวานบรั่นดี” 

นอกจากนี้ยังเคยทำกับข้าวรับรองผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่บ้านพักย่านบางเขน อาทิ เติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำสูงสุดแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน, ลีกวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์, ท้าวไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรีคนแรกของ สปป.ลาว และทาเคโอะ ฟุกุดะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

บั้นปลายชีวิต พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประสบปัญหาทางสุขภาพ มีอาการเส้นโลหิตในสมองตีบตั้งแต่ปี 2531 จากนั้นก็รักษาตัวมาตลอด

จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิตอย่างรุนแรง ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 รวมอายุ 86 ปี

– กิตติกร นาคทอง –

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *