84 ปี “วงเวียนน้ำพุ” อนุสรณ์รัฐธรรมนูญแห่งที่ 2 ของประเทศสยาม

เนื่องในโอกาส “วันรัฐธรรมนูญ” วันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475

“สาครออนไลน์” ขอหยิบยกเรื่องราวของ “วงเวียนน้ำพุ” ที่โดดเด่นเป็นสง่าอยู่กึ่งกลางระหว่างถนนนรสิงห์กับถนนสุคนธวิท ใจกลางเมืองมหาชัย ซึ่งชาวสมุทรสาครหลายคนรู้จักเป็นอย่างดี แต่ประวัติไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

วันหนึ่ง ผู้เขียนได้มีโอกาสทราบข้อมูลจาก ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้แต่งหนังสือ “ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร” โดยสำนักพิมพ์มติชน 

ผศ.ศรัญญู เผยว่า จากการค้นคว้าผ่านหนังสือ “หลัก 6 ประการ สารัตถ์สำคัญในรัฐธรรมนูญ สามปีในระบอบรัฐธรรมนูญ และเตือนใจเพื่อน” เขียนโดย “ขุนสุคนธวิทศึกษากร” ผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาคร พิมพ์แจกในงานฉลองรัฐธรรมนูญและงานฉลองอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2478 

เป็นข้อมูลได้ว่า “อนุสรณ์รัฐธรรมนูญ สมุทรสาคร” สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2478 ที่สำคัญถือเป็น อนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญ แห่งที่ 2 ของประเทศสยาม

อีกทั้งยังสร้างขึ้นก่อนหน้า “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ซึ่งอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญแห่งแรกของสยาม คือ “อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ จังหวัดมหาสารคาม” ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2477 ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณหน้าเทศบาลเมืองมหาสารคาม 

นอกจากนี้ ยังมีอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญ สร้างขึ้นอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะในจังหวัดทางภาคอีสาน เช่น สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ขอนแก่น และบุรีรัมย์ เป็นต้น


“อนุสรณ์รัฐธรรมนูญ สมุทรสาคร”
ภาพจากหนังสือ “สาครบุรี จากวิถีชาวบ้าน”
เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูลโดย คุณพอพจน์ วีระสิทธิ์ มีอำพล

สำหรับ อนุสรณ์รัฐธรรมนูญ สมุทรสาคร สมัยก่อนมีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญบนพานแว่นฟ้า ตั้งอยู่ในศาลาหลังเล็ก ล้อมรอบด้วยเสา 6 ต้น อันหมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร คือ หลักเอกราช หลักความปลอดภัย หลักเศรษฐกิจ หลักเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา รวมถึงปืนใหญ่ 4 กระบอก

กระทั่งในภายหลัง ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบน้ำพุ แต่ยังคงความหมายหลัก 6 ประการเอาไว้ ด้วยฐานน้ำพุ 6 แฉก และปืนใหญ่ได้ถูกนำออกไป 

มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2504 โดยจอมพลประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี มีนายดำริ น้อยมณี เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และนายสุรินทร์ เทพกาญจนา เป็นนายกเทศมนตรีสมุทรสาคร

ซึ่งสมัยก่อนพื้นที่รอบ ๆ วงเวียนน้ำพุ เป็นเหมือนสวนสาธารณะไว้พักผ่อนหย่อนใจ เป็นพื้นที่โล่ง มีต้นไม้โดยรอบ มีเก้าอี้ไว้นั่ง รถยนต์ไม่ค่อยมีวิ่งผ่าน 

“วงเวียนน้ำพุ” เมื่อครั้งอดีต

แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป มีอาคารพาณิชย์ ศูนย์การค้า และรถยนต์สัญจรไปมามากมายในชั่วโมงเร่งด่วน เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษาและย่านการค้า ทำให้ วงเวียนน้ำพุ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดสมุทรสาครไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมในวันสำคัญต่าง ๆ  เช่น งานทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ เป็นพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ และเป็นเส้นทางผ่านสำคัญของขบวนแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของจังหวัดที่จัดขึ้นทุกปี

จาก “อนุสรณ์รัฐธรรมนูญฯ” จึงเปลี่ยนมาเป็น “วงเวียนน้ำพุ” ในความทรงจำของผู้คนสมุทรสาคร มาจนถึงทุกวันนี้

– กิตติกร นาคทอง –

ขอขอบคุณ ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และคุณชนินทร์ อินทร์พิทักษ์ ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลประกอบบทความนี้

One Reply to “84 ปี “วงเวียนน้ำพุ” อนุสรณ์รัฐธรรมนูญแห่งที่ 2 ของประเทศสยาม”

  1. รู้ประวัติชัดเจนแล้ว ถ้าจังหวัดนำมาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสมุทรสาครได้ ทำเป็น land mark และสร้างความตระหนักรักประชาธิปไตยได้จะดีมากๆๆ ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *