11 โครงการสมุทรสาครผ่านรอบแรก เงินกู้ฟื้นฟูหลังโควิด ลุ้น “อะควาเรียม-สถานีรถไฟ”

โครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 หลังจากสำรวจเฉพาะพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เสนอไป 76 โครงการ 521.83 ล้านบาท ปรากฎว่าผ่านรอบแรกเพียง 11 โครงการ รวม 65.80 ล้านบาทเท่านั้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า โครงการที่ทางจังหวัดสมุทรสาคร และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขอรับงบประมาณ ล้วนแล้วแต่เป็นการก่อสร้างปรับปรุงถนน ไหล่ทาง ทางเท้า ไฟฟ้าแสงสว่าง ไฟสัญญาณจราจร หญ้า ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยถนน ไม่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

รวมทั้งโครงการที่สังคมตั้งข้อสงสัย ได้แก่ การติดตั้งจอ LED ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ทั้งที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร รวมทั้งสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดสมุทรสาคร ก็ไม่ผ่านการพิจารณาอีกด้วย

“สาครออนไลน์” ได้รับข้อมูลจากทางจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า มีโครงการที่ผ่านการพิจารณารอบแรก รวม 11 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 65,801,305 บาท ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาศักยภาพการค้าขายออนไลน์

รวมทั้งโครงการที่น่าจับตามองก็คือ การก่อสร้างพัฒนาศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำ (อะควาเรียม) ที่ปิดปรับปรุงมาอย่างยาวนาน และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สถานีรถไฟมหาชัย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

เมื่อจำแนกตามหน่วยรับงบประมาณ พบว่ามากที่สุดได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร กระทรวงมหาดไทย 41,241,300 บาท รองลงมาคือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 14,676,500 บาท

การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม 5,000,000 บาท สถาบันวิทยาลัยชุมชน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 3,726,705 บาท และสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน 1,156,800 บาท

โครงการที่เสนอโดยมีวงเงินงบประมาณสูงที่สุด คือ โครงการก่อสร้างพัฒนาศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำ (Aquarium) สมุทรสาคร หมู่ที่ 8 ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร 21,166,000 บาท หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร

รองลงมาคือ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยระบบสหกรณ์ (กล้วยไม้) 12,091,500 บาท หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสมุทรสาคร

และอันดับ 3 โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองดำเนินสะดวกพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณวัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม หมู่ที่ 2 ต.หลักสาม อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร 8,000,000 บาท หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาคร

“สาครออนไลน์” สำรวจรายละเอียดแต่ละโครงการพอสังเขปดังนี้

วงเงินงบประมาณ 652,800 บาท หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร ระยะเวลา 12 เดือน

เป็นการขับเคลื่อนศูนย์การเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ 2 ต.กาหลง อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยปรับปรุงร้านค้าชุมชน ส่งเสริมการปลูกพืช 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง จัดทำแปลงสาธิต “แก้ปัญหาดินเค็ม” น้อมนำศาสตรพระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมการเลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์ และส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่เพื่อการบริโภคในครัวเรือน กลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกร 120 ราย และประชาชน 5,000 ราย

วงเงินงบประมาณ 5,860,000 บาท หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร (งบประมาณ 3,010,000 บาท) และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร (งบประมาณ 2,850,000 บาท) ระยะเวลา 6 เดือน

เป็นการอบรมให้ความรู้ สาธิต และฝึกปฏิบัติให้กับประชาชนและผู้สนใจในการปลูกผักต้นอ่อนปลอดสารพิษ 3 อำเภอ รวม 2,000 คน พร้อมทั้งส่งเสริมการแปรรูปผักต้นอ่อนปลอดสารพิษแบบครบวงจร โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ อบรมเชิงปฏิบัติการจำนวน 6 รุ่น รุ่นละ 50 คน รวม 300 คน ผลิตสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบสารคดีสั้น อินโฟกราฟฟิก พร้อมเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งเสริมช่องทางการตลาด โดยอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการตลาดด้วยระบบโซเชียลมีเดียมาร์เก็ตติ้ง จำนวน 6 รุ่น รุ่นละ 50 คน รวมจำนวน 300 คน และจัดกิจกรรมเปิดตัวสินค้าและส่งเสริมช่องทางการตลาดผักปลอดภัยและผลิตภัณฑ์ชุมชน

วงเงินงบประมาณ 5,562,500 บาท หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร ระยะเวลา 12 เดือน

เป็นการวิเคราะห์ศักยภาพการดำเนินกิจการและจัดทำแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และมาตรฐานการผลิต แบ่งเป็น พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่กลุ่มเป้าหมาย, พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ตราสินค้า และสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ตั้งต้น, พัฒนากระบวนการผลิตเพื่อให้สามารถผลิตสินค้า (ใหม่) ได้อย่างมีคุณภาพ การเชื่อมโยงและทดสอบการตลาดผลิตภัณฑ์ โดยจัดกิจกรรมแสดงสินค้าและทดสอบการตลาด จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการขาย กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน 15 แห่ง

วงเงินงบประมาณ 1,103,105 บาท หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร ระยะเวลา 12 เดือน

เป็นการจัดกิจกรรมลงไปในชุมชนฝึกอบรมการทำธุรกิจออนไลน์และความรู้ด้าน Digital Marketing เช่น เปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์ม E-Marketplace และช่องทางต่างๆ เทคนิคการถ่ายภาพ/ถ่ายวีดีโอ การตัดต่อวีดีโอ การใช้เครื่องมือการตลาดออนไลน์ เทรนด์การขายออนไลน์ยุคใหม่ และกิจกรรมส่งเสริมการขายแบบออนไลน์เพื่อลดการเดินทางและเผชิญหน้า เพิ่มโอกาสและช่องทางการตลาด การขนส่งสินค้า และกิจกรรมแสดงผลงานเพื่อประเมินผลการเรียน ได้แก่ การจัดสัมมนาเรื่องการขายออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จจากประสบการณ์จริง และการแสดงการขายออนไลน์ให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ชม การแสดงผลงานเพื่อประเมินผลการเรียน การขายสินค้าออนไลน์โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรม ให้คำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จในการขายออนไลน์ กลุ่มเป้าหมายคือ ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ รวม 300 ราย

วงเงินงบประมาณ 2,585,000 บาท หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสมุทรสาคร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ระยะเวลา ตุลาคม 2563 ถึง กันยายน 2564

เป็นการจัดทำประชาคมสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 500 ราย จัดอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าวน้ำหอม ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (ผมช.) จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ จัดอบรมรักษาพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้วแบบยั่งยืน เพื่มประสิทธิภาพการผลิตโดยสร้างนวัตกรรมชุมชน พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมการตลาดออนไลน์ โดยเน้นโซเชียลมีเดีย สนับสนุนส่งเสริมการตลาดในรูปแบบการแสดงสินค้านอกสถานที่ (โรดโชว์) ทั้งในและนอกจังหวัดสมุทรสาคร สรุปผลการดำเนินโครงการโดยการถอดบทเรียนแบบ CIPP Model จัดทำหนังสือและสื่อรูปแบบต่างๆ พื้นที่ดำเนินการคือ พื้นที่เกษตรกรในอำเภอบ้านแพ้ว ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเกษตรกรบ้านแพ้ว จำกัด

วงเงินงบประมาณ 12,091,500 บาท หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสมุทรสาคร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ระยะเวลา ตุลาคม 2563 ถึง กันยายน 2564

จัดกิจกรรมอบรมสมาชิก การใช้เทคโนโลยีแขนกลพ่นยากำจัดศัตรูพืชและการให้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุน 400 คน การใช้พลังงานทดแทน (โซลาร์เซลล์) 400 คน การใช้วัสดุปลูกกล้วยไม้แทนกาบมะพร้าวเพื่อลดต้นทุน 400 คน กิจกรรมเข้าถึงแหล่งทุน กิจกรรมอบรมการพัฒนาสร้างความสัมพันธ์เครือข่ายตั้งแต่ผู้ผลิตถึงตลาด การพัฒนาสหกรณ์ให้มีศักยภาพดำเนินธุรกิจส่งออกผ่านการโค้ชจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน แบบ On the Job Training การจัดทำ GIS Mapping Free Platform เช่น Google ต่อเติมอาคารศูนย์กล้วยไม้สมุทรสาคร พร้อมอุปกรณ์ 7,641,500 บาท ปลายน้ำ เป็นการจัดกิจกรรมพัฒนา Hybrid Event Marketing จัดแสดงสินค้า (โรดโชว์) ในจังหวัดสมุทรสาคร กทม. และต่างจังหวัด รวม 4 ครั้ง พัฒนาบุคลากรด้านตลาดออนไลน์ พื้นที่ดำเนินการ สหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร

วงเงินงบประมาณ 2,623,600 บาท หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร ระยะเวลา 12 เดือน

เป็นการระดมสมองเพื่อกำหนดแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ผู้ประกอบการใหม่ ถ่ายทอดกระบวนการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ผู้ประกอบการใหม่ เสริมช่องทางการตลาดด้วยมหกรรม “เทศกาลอาหารพื้นถิ่นด้วยเกลือสาครบุรี” กลุ่มเป้าหมายประชาชนผู้ตกงานในชุมชน 50 ราย เกษตรกรผู้ทำนาเกลือ 28 ราย สหกรณ์กรุงเทพ จำกัด และวิสาหกิจชุมชน หมู่ 3 ต.โคกขาม พื้นที่ดำเนินการ นาเกลือในพื้นที่ตำบลพันท้ายนรสิงห์ และตำบลโคกขาม

วงเงินงบประมาณ 21,166,000 บาท หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ระยะเวลา 8 เดือน

เป็นการก่อสร้างพัฒนาศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำ (Aquarium) สมุทรสาคร จำนวน 9 รายการ อาทิ ปรับภูมิทัศน์ภายใน บ่อพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ บ่อเต่าและระบบกรองกรองน้ำ ปรับปรุงบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ปรับปรุงลานจอดรถด้านหน้า ปรับปรุงระบบยังชีพสัตว์น้ำ ขุดลอกบ่อเก็บน้ำ และปรับปรุงพื้นที่ อาคารเอนกประสงค์ และพันธุ์สัตว์น้ำ

วงเงินงบประมาณ 5,000,000 บาท หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ งานเดินรถแขวงสมุทรสาคร การรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเวลา 12 เดือน

เป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและภูมิทัศน์โดยรอบของสถานีรถไฟมหาชัยให้อยู่ในสภาพที่มีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว และบริการแก่ผู้โดยสารให้ดียิ่งขึ้น

วงเงินงบประมาณ 8,000,000 บาท หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาคร ระยะเวลา 8 เดือน

เป็นการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองดำเนินสะดวก ความยาว 87 เมตร ป้องกันการกัดเซาะ และปรับภูมิทัศน์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเข้ามาชมศาสนสถาน วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชน กลุ่มเป้าหมาย ประชาชน 405 ราย

วงเงินงบประมาณ 1,156,800 บาท หน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ระยะเวลา 12 เดือน

เป็นการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจากผู้ประสบปัญหาเลิกจ้าง ผู้ว่างงานที่มาขึ้นทะเบียนว่างงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 4,606 คน เพื่อรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมฝึกยกระดับ และฝึกเสริมทักษะฝีมือ 320 ราย หลักสูตร 18 ชั่วโมง อาทิ การทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก การติดตั้งและบำรุงรักษากล้องวงจรปิด การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้า การประกอบอาหาร การขายสินค้าออนไลน์

ปัจจุบันโครงการเหล่านี้อยู่ในระหว่างกระบวนการกลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการฯ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ คาดว่าจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ ประมาณเดือนกรกฎาคม 2563

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *