“บางทีเราอยากให้รู้ว่า ส.ส.มีหน้าที่อะไร” เปิดใจ “จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ” ครึ่งทางผู้แทนฯ สมุทรสาครสมัยแรก

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผ่านพ้นไปแล้ว 2 ปี ถือเป็นครึ่งทางของการทำงานในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ส.ส.สมุทรสาครรายหนึ่งที่แม้จะเข้ามาสมัยแรกแบบห่างกันเพียงไม่กี่พันคะแนน แต่ก็ผลักดันความเดือดร้อนของชาวบ้านไปสู่การแก้ไข เฉกเช่นคลองสุนัขหอนที่ตื้นเขินเพราะไม่ได้ขุดมานานกว่า 30 ปี หรือทางแยกต่างระดับบ้านแพ้ว แทนจุดกลับรถใต้สะพานที่น้ำท่วมขังบ่อยครั้ง

“สาครออนไลน์” เปิดใจ “จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ” ส.ส.สมุทรสาคร เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ ในวัย 52 ปี กับการทำหน้าที่เป็นผู้แทนสมัยแรก แน่นอนว่าการเปลี่ยนบทบาทจาก ส.จ. มาเป็น ส.ส. การทำงานย่อมแตกต่างกัน ความยากลำบากในการทำงาน ซึ่งจะอธิบายแบบหมดเปลือก ถึงบทบาทหน้าที่ และข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง รวมทั้งการทำงานในอีก 2 ปีที่เหลือนับจากนี้่ ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

  • จากเดิมที่เคยเป็น ส.จ.แล้วพอมาเป็น ส.ส. การทำงานแตกต่างกันอย่างไร ความยากง่ายในการเข้าถึงชาวบ้าน การลงพื้นที่ หรือการทำงานต่างๆ

ความยากง่ายอันดับแรกคือ เรื่องพื้นที่ต่างกัน ตอนเป็น ส.จ. การลงพื้นที่ก็แค่ 5 ตำบล แต่พอมาเป็น ส.ส.สมุทรสาคร เขต 3 มี 23 ตำบล ในเรื่องของการลงพื้นที่ไปรับข้อมูล ไปพบปะกับประชาชนเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ความยากอีกอย่างหนึ่งก็คือ พอเป็นพรรคการเมือง ซึ่งเราอยู่พรรคใหญ่ มี ส.ส.ร้อยกว่าคน แล้วในรัฐบาลก็ยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีก ประกอบกับกฎหมายที่บังคับว่าไม่ให้ ส.ส. ไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งถือเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร เพราะฉะนั้น ส.ส.ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปเกี่ยวข้องในเรื่องของการตั้งโครงการ การทำงบประมาณ

สิ่งที่ทำได้ก็คือ มันมีระเบียบของสภาฯ ที่ให้ ส.ส.มีสิทธิ์ที่จะรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แล้วเอาไปนำเสนอในสภาฯ ในวันที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นวันพุธ กับวันพฤหัสบดี ประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายชวน หลีกภัย) จะอนุญาตให้สมาชิกทุกคนของทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล วันละ 60 คน เป็นฝ่ายค้าน 30 คน ฝ่ายรัฐบาล 30 คน จะได้พูดคนละ 2 นาที ก็เอาความเดือดร้อน ความต้องการของประชาชนไปเสนอ ไปพูด และสามารถที่จะพูดได้ว่าเดือดร้อนเรื่องอะไร มีปัญหาอย่างไร จุดไหน ต้องการให้น่วยงานของรัฐบาลมาแก้ไข

เมื่อพูดไปแล้วทางประธานสภาฯ จะถอดเทป แล้วก็จะส่งเรื่องไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พูดเรื่องคลองสุนัขหอนที่ไม่ได้ขุดลอกมา 30 ปี เราก็ระบุไปว่าเป็นคลองของกรมชลประทาน เราขอให้กรมชลประทานพิจารณาแก้ไข ท่านประธานก็จะส่งหนังสือไป ทางกรมก็จะส่งมาที่โครงการชลประทานสมุทรสาคร ทางนี้ก็จะยืนยันข้อมูลข้อเท็จจริงไป เขาก็จะเสนอการแก้ไข ก็เสนอเป็นโครงการไป ซึ่งในส่วนนั้นเราไม่รู้ว่าเขาเสนอเป็นเงินเท่าไหร่ เป็นอย่างไร แต่ที่เราไปพูด เราพูดได้แค่เพียงว่าคลองสุนัขหอนเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีน ถึงแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์

คลองสุนัขหอนเป็นคลองที่ระบายน้ำลงทะเล ก็จะผ่านตั้งแต่ตำบลท่าจีน บางกระเจ้า บ้านบ่อ บางโทรัด กาหลง นาโคก โรงเข้ ซึ่งไม่ได้ขุดลอกมา 30 ปี ขอให้กรมชลประทานมาดำเนินการแก้ไข ตอนนี้ทางกรมชลประทานใช้งบเหลือจ่ายมาดำเนินการให้ ช่วงแรกทำไปได้ 6.5 กิโลเมตร โดยนำเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ของกรมมาดำเนินการเอง ไม่ได้เปิดประมูลจ้างเหมาผู้รับจ้าง เหลือช่วงหนึ่งอีก 25 กิโลเมตร ทางกรมชลประทานเสนอโครงการขอรับงบประมาณอยู่ ถ้าได้ ก็จะได้ในปีงบประมาณ 2565 แต่ถ้าเป็นโครงการที่มีมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องเข้าสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

ส่วนการทำงานในพื้นที่ เมื่อเรารับทราบปัญหาแล้ว จะต้องนำไปสู่สภาฯ ก่อนจะไปตรงนั้นเราก็สอบถามหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ก่อนว่าที่ชาวบ้านร้องเรียนมา ไม่ได้ขุดมา 30 ปีจริงหรือไม่ ทางกรมชลประทานไปค้นเรื่องก็พบว่าไม่ได้ทำมาจริง ตรวจสอบแล้วปรากฎว่าเป็นคลองของกรมชลประทานจริง ซึ่งประกาศทางน้ำชลประทานตามมาตรา 5 เมื่อประสานหน่วยงานพื้นที่ในเบื้องต้น เราไปพูดในสภา นั่นก็คือการทำงานอย่างหนึ่ง แต่โครงการอื่นๆ เช่น อยู่ดีๆ เราอยากจะให้สร้างถนนสายนี้ ทำสะพานตรงนี้ มันไปพูดไม่ได้ ถ้าจะเอาไปพูดในสภาได้ ต้องเป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ร้องเรียนหรือแจ้งเรามา

  • ที่ผ่านมามีเรื่องราวอะไรบ้างที่ไปเสนอต่อที่ประชุมสภาฯ

เรื่องแรก ทางแยกต่างระดับเข้าอำเภอบ้านแพ้ว ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดกลับรถจะต้องไปลอดใต้สะพานคลองขุดบ้านบ่อ ซึ่งตรงนี้น้ำท่วมทุกปี ท่วมทุกครั้งที่น้ำทะเลหนุน เนื่องจากถนนพระรามที่ 2 พอจะเข้าบ้านแพ้วก็จะกดระดับลงเพื่อให้รถที่มีความสูงลอดได้ เพราะฉะนั้นพื้นถนนตรงช่วงใต้สะพานที่กลับรถจะต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ถึงแม้จะมีการออกแบบและนำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งไว้ตรงนั้น แต่พอน้ำทะเลหนุนก็ดูดไม่ทัน แล้วกรมทางหลวงก็นำเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่มาเสริมก็ไม่ทัน เพราะฉะนั้นก็จะเป็นปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี

ก็เลยนำเรื่องนี้ไปเสนอในสภาฯ เมื่อปี 2562 เพราะทราบมาก่อนแล้วว่าโครงการสร้างทางแยกต่างระดับได้สำรวจไว้นานหลายปีมากแล้ว แต่ไม่ได้รับงบประมาณสักที เราก็นำเรื่องนี้ไปทวงถาม เพราะประชาชนเดือดร้อนมาก และเกิดอุบัติเหตุบ่อย พอเวลาน้ำท่วมรถยนต์ส่วนบุคคลก็ท่วมมิดล้อ ท่วมเข้าไปข้างใน เลยอยากให้ตรงนี้เป็นทางเข้าอำเภอบ้านแพ้ว และมีความสำคัญมาก ก็อยากให้กรมทางหลวงแก้ไข เมื่อสำรวจไว้แล้ว เขียนแบบไว้แล้วตั้งแต่ปี 2557 ผ่านการทำอีไอเอ (การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับงบประมาณ

พอเราพูดไป ท่านประธานก็ทำหนังสือไปถึงกรมทางหลวง ก็ตอบกลับมาว่าจะเอาเข้างบประมาณปี 2563 พอเอาเข้างบประมาณปี 2563 ปรากฎว่าสำนักงบประมาณตัด เพราะมีประเด็นเรื่องการเวนคืนที่ดิน และตอนนั้นรัฐบาลเข้ามาครั้งแรก ทำงบประมาณล่าช้า ถ้าเอาเข้างบประมาณปี 2563 ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน สำนักงบประมาณก็เลยตัดไปก่อน หลังจากนั้นก็ได้มาเข้าในงบประมาณปี 2564 ซึ่งสภาฯ อนุมัติไปเมื่อเดือนกันยายน 2563 นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563

ตอนนี้ก็น่าจะอยู่ในช่วงดำเนินการ ในการดำเนินการเราก็ไม่ได้เข้าไปยุ่ง จะมีกรมทางหลวงเชิญประชาชนและผู้เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงว่าจะดำเนินการอย่างไร และขั้นตอนการประมูลงานจัดซื้อจัดจ้าง ตรงนี้เป็นส่วนที่ภูมิใจมากที่สุด ที่โครงการมันเกิดขึ้นในยุคที่เรามาเป็นผู้แทน

เรื่องที่สอง ถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน หรือทางหลวงหมายเลข 375 บ้านบ่อ-พระประโทน ความยาว 37 กิโลเมตร นำเสนอว่ามีสภาพชำรุดเสียหายตลอดสาย ก็อยากให้มาปรับปรุง ปรากฎว่าเนื่องจากกรมทางหลวงมีหน่วยงานอยู่ทั่วประเทศ พอเสนอไปที่กระทรวงคมนาคม พบว่างบประมาณจำกัด ก็เลยได้แค่ซ่อมถนน 3 ช่วงที่มีความเสียหาย ตอนนี้แขวงทางหลวงนครปฐม ก็ได้จัดซื้อจัดจ้างซ่อมถนนทั้ง 3 ช่วง ทำสัญญาแล้วทั้ง 3 ช่วง ตอนนี้ดำเนินการอยู่บริเวณโชว์รูมโตโยต้า ตลาดจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม ช่วงที่สอง อำเภอบ้านแพ้ว ใกล้ปั๊มพีที อีกช่วงหนึ่งตรงแยกวัดกระโจมทอง ผู้รับจ้างยังไม่ได้เข้ามาดำเนินการ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรามีส่วนเกี่ยวข้องโดยการนำหารือในสภาฯ

แต่ว่าการก่อสร้างถนนสายอื่นๆ การก่อสร้างอย่างอื่นของหน่วยงานราชการ เขาก็เสนอโครงการของเขาตามปกติ ส.ส.จะไปมีส่วนงบประมาณอีกครั้งหนึ่งก็คือ เป็นผู้พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็จะมีการประชุมวาระ 1 ประมาณเดือนมิถุนายน วาระ 2-3 ก็จะประมาณเดือนกันยายน ถึงตอนนั้นงบประมาณทั้งหมดของประเทศ ส.ส.ก็ต้องมาพิจารณา ถ้าผ่านวาระแรกในขั้นรับหลักการแล้ว ก็จะมีการแปรญัตติ ส.ส.ก็มีสิทธิที่จะไปยื่นแปรญัตติ แต่จะแปรเพิ่มไม่ได้ ก็มีแปรลดงบประมาณหรือตัดโครงการได้ ทีนี้เราจะไปมีส่วนอีกครั้งถ้าได้เป็นกรรมาธิการงบประมาณชุดใหญ่ ถ้าเราไม่ได้เป็นชุดนั้นก็อาจไปเป็นอนุกรรมการชุดต่างๆ ปีที่แล้วได้เป็นอนุกรรมาธิการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

แต่จริงๆ แล้วอนุกรรมาธิการที่มีความสำคัญมากที่สุด คือ อนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และรัฐวิสาหกิจ เพราะโครงการทุกโครงการก็จะเข้าไปที่คณะนี้ทั้งหมด จะตัดหรือไม่ตัดก็อยู่ที่คณะนี้ ส่วนอนุกรรมาธิการก็จะมาจากทุกพรรค อย่างประชาชนทั่วไปมีวิพากษ์วิจารณ์ มีคอมเมนต์โดยความไม่รู้ คือกระบวนการของสภาฯ ไม่ใช่ว่าจะอนุมัติโครงการอะไรออกมาตามใจชอบ เป็นรัฐบาลจึงได้โครงการ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลนะสิถึงจะได้ ไม่เป็นความจริง เพราะในขั้นตอนกระบวนการฝ่ายค้านเขาก็มามีส่วนร่วมทุกอย่าง เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นกรรมาธิการงบประมาณปีที่แล้ว ในอนุกรรมาธิการจะตัดลดงบประมาณ เช่น ที่นครศรีธรรมราชเสนอโครงการ ทางพรรคเขาไป เขาก็ตัด

หรืออย่างเช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จะสร้างอาคารที่จอดรถ 10 ชั้น งบประมาณ 100 ล้านบาท ก็ได้คุยกับ นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ไปเจอกันที่งานที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร ก็ฝากมาว่า ท่าน ส.ส.ช่วยดูด้วยนะ แว่วๆ มาว่าจะโดนตัด ซึ่งปีงบประมาณ 2564 ของกระทรวงสาธารณสุข ตัดจริงๆ เพราะถ้าสร้างเครื่องมือแพทย์ สร้างห้องผ่าตัด สร้างอาคารก็ได้ ถ้าเป็นที่จอดรถจะตัดหมดเลย เพราะถือว่าไม่จำเป็น ก็ปรากฎว่าผู้อำนวยการฯ ก็ไปชี้แจงด้วยตัวเอง อีกที่หนึ่งคืออาคารจอดรถ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ก็จะโดนตัด ไปชี้แจงกรรมาธิการ ตนก็เข้าไปด้วย สรุปว่าสองโครงการนี้ได้งบประมาณในที่สุด

ของโรงพยาบาลบ้านแพ้วนี้น่าเห็นใจมาก เพราะกรรมาธิการชุดใหญ่มีความเห็นว่า โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นองค์การมหาชน ก็โยนความเห็นลงมาที่ชุดเล็ก อาจารย์สุรเชษฐ์ (ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล) ซึ่งเป็นอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และรัฐวิสาหกิจ ก็จะซักถามมาก เพราะติดใจในประเด็นองค์การมหาชน ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้วก็ชี้แจงให้ฟัง แล้วเขาก็ถามเรื่อง “บ้านแพ้วเนี่ยได้เงินบริจาคเยอะมาก ทำไมถึงมาของบฯ” ผู้อำนวยการก็ชี้แจงว่าจริงๆ แล้วอาคารจอดรถใช้งบประมาณ 64 ล้านบาท แต่เขาขอสนับสนุนจากรัฐบาลเพียง 32 ล้านบาทเท่านั้น เพราะเงินบริจาคจะต้องนำไปใช้ซื้อเครื่องมือแพทย์ ต่างๆ ก็มีการซักถามชี้แจงกันถึง 5 ทุ่มก็ผ่าน

  • นอกจากทั้งสองเรื่องแล้ว ในพื้นที่เขต 3 ยังมีปัญหาใดที่เตรียมจะนำเสนอต่อสภาฯ

ตอนนี้ที่ไปรับเรื่องมาแล้ว ก็จะมีที่ ต.บางกระเจ้า อ.เมืองฯ ที่กรมทางหลวงเพิ่งจะปรับปรุงถนนพระราม 2 เป็นทางขนาน (Frontage Road) ตรงนั้นมีผู้ร้องเรียนมา คือประธานหมู่บ้านเดอะพาร์ค บางกระเจ้า บอกว่า มันไม่มีช่องทางเข้าทางขนาน ประชาชนจะเข้าบ้านก็ลำบาก อยากจะให้เปิดช่องทางขนานตรงนั้น ร้านค้าที่อยู่ริมทางบริเวณปากทางเข้าวัดบางกระเจ้า ประมาณ 2 กิโลเมตร ต้องการให้ทำทางเข้า ไม่อย่างนั้นรถก็จะเข้าทางขนานไม่ได้ การค้าขายของเขา ที่เคยขายได้ เท่ากับปิดการทำมาหากินของเขา เพิ่งจะไปรับเรื่องนี้มา

แต่เรื่องอื่นๆ อย่างที่มีประชาชนบอกว่า อยากได้ถนนตรงนั้นตรงนี้ เราก็ต้องอธิบายให้เขาว่า หนึ่ง ส.ส. เป็นการทำหน้าที่ในภาพรวม ในระดับประเทศ เพราะเราไม่ได้เป็นผู้แทนของจังหวัด ไม่ใช่แค่ผู้แทนของเขต 3 เราเป็นผู้แทนเขต 3 จากการเลือกตั้ง มาจากการแบ่งเขต แต่ในการทำหน้าที่เราเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยของทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นหลายเรื่องที่ประชาชนแจ้งมาแล้วเราไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะ หนึ่ง เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล ส่วนนั้นตามรัฐธรรมนูญกำหนดอยู่แล้วว่าไม่ให้ ส.ส. เข้าไปแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ หน่วยงานราชการ อย่างที่เห็นว่าไปลงพื้นที่ติดตามโครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เราได้นำเสนอต่อสภาฯ แล้ว เราก็ไปติดตามเรื่อง เราจะไปเสนองบประมาณไม่ได้ ก็ต้องเป็นเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนมา

อีกช่องทางหนึ่ง นอกจากการทำหน้าที่เป็น ส.ส. เป็นผู้แทนนำเรื่องเข้าสภาฯ โดยตรง ทางที่สองก็คือในช่องทางกรรมาธิการสามัญ ซึ่งมีถึง 35 คณะ ถ้ามีผู้ร้องเรียนแจ้งมาที่เรา เราก็ดูว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรรมาธิการชุดไหน กรรมาธิการการเกษตร กรรมาธิการสาธารณสุข กรรมาธิการคมนาคม กรรมาธิการตำรวจ ซึ่งตนอยู่ในคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค แต่จะมีคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งจะมีเป็นร้อยคณะ วิสามัญจะตั้งขึ้นจากการที่มี ส.ส. เสนอญัตติเกี่ยวกับเรื่องใด มีอายุประมาณ 90-120 วัน เช่น น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 8 พรรคประชาธิปัตย์ เสนอเรื่องปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่ง เสนอปัญหาไปว่าในการแก้ปัญหา บางครั้งหน่วยงานที่เข้าไปดำเนินการในเรื่องของการกัดเซาะชายฝั่งมี 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมโยธาธิการและผังเมือง จะมีปัญหาที่กรมโยธาธิการและผังเมืองไปทำเขื่อนโครงสร้างแข็ง เขื่อนคอนกรีต ชาวบ้านก็จะไม่ยอม ไม่เห็นด้วย อย่างบางแห่งไปทำไม้ไผ่ชะลอคลื่น ชาวบ้านไม่เห็นด้วย แต่ที่ทำไม้ไผ่ชะลอคลื่นก็คือที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ประกาศตามมติ ครม. เป็นพื้นที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะไปสร้างเขื่อนไม่ได้เลย ต้องเป็นแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น เป็นมิตรกับธรรมชาติ

พอ ส.ส.นครศรีธรรมราช เสนอญัตติ เราก็ไปร่วมลงนามญัตติด้วย เพราะจังหวัดสมุทรสาครก็มีปัญหาเรื่องชายฝั่ง เมื่อสภาฯ พิจารณาอนุมัติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ขึ้นมา เพื่อศึกษาพิจารณาแนวทางแก้ไขคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ตนก็อยู่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ด้วย เราก็นำปัญหาในพื้นที่ไปเข้าสู่คณะกรรมาธิการ ก็มีการเชิญหน่วยงานทั้งหมดเมาร่วมประชุม และมีการลงพื้นที่ พอลงพื้นที่ ต.บางกระเจ้า ก็เชิญปลัด อบต. เจ้าท่า โยธาจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เข้ามามาหทางแก้ปัญหา ในที่สุดทั้งสามหน่วยงานมาประชุมกับ อบต.บางกระเจ้าด้วย ตอนนี้ก็เสนอโครงการเข้าไปเพื่อได้รับการแก้ไข ทีนี้ในขั้นตอนของการเสนอโครงการ เราก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง แต่เท่ากับว่าเราได้เรียกทุกหน่วยงานมา แล้วหาทางออกร่วมกัน

  • อยากให้อธิบายเพิ่มเติมเรื่องคลองสุนัขหอน

โครงการของชลประทานก็มีคลองสุนัขหอน เมื่อเป็น ส.ส.ใหม่ ได้รับข้อมูลจากชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นว่า คลองนี้ไม่ได้ดำเนินการขุดลอกมา 30 ปี เราก็ไปสอบถามหน่วยงานในพื้นที่ คือ โครงการชลประทานสมุทรสาคร จากนั้นก็นำเรื่องไปเข้าสภาฯ ทางสภาฯ ก็ทำหนังสือไปที่กรมชลประทาน กรมชลประทานส่งมาที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดเขาก็มาดำเนินการสำรวจว่า คลองส่วนที่กว้างที่สุด 100 เมตร มีส่วนที่แคบที่สุดประมาณ 30-50 เมตร ก็เสนอขอรับงบประมาณไป ส่วนของเรา ในเมื่อชาวบ้านเดือดร้อน กระบวนการที่เราทำได้เสนอในสภาแล้ว ก็ได้ประสาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง (รมช.) เกษตรและสหกรณ์ มาดูพื้นที่ คุยกับชาวบ้านให้รับรู้ปัญหา ซึ่งเห็นว่าจะมีส่วนช่วยให้การแก้ปัญหาเร็วขึ้น กระทั่งได้ดำเนินการแล้ว ตอนนี้เรือหัวสว่านและเครื่องจักรของกรมชลประทาน ก็จอดที่วัดธรรมโชติเพื่อรอที่จะทำต่อ 25 กิโลเมตรที่เหลือ

  • นอกจากคลองสุนัขหอนแล้ว คลองอื่นๆ มีปัญหาตื้นเขินเหมือนกันหรือไม่

มี เพราะคลองชลประทานในจังหวัดสมุทรสาครมีอยู่ 4 หน่วยงาน กรมชลประทานมีการแบ่งพื้นที่กัน เช่น โครงการชลประทานสมุทรสาคร ดูแลพื้นที่ ต.บางน้ำจืด ต.ท่าทราย ต.โคกขาม ต.พันท้ายนรสิงห์ ส่วน อ.กระทุ่มแบน จะเป็นของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ ต.หนองนกไข่ ต.บางยาง ต.เจ็ดริ้ว ต.เกษตรพัฒนา ต.คลองตัน อยู่ในโครงการชลประทานนครปฐม และ ต.หนองสองห้อง ต.บ้านแพ้ว ทางซีกตะวันตก อยู่ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครชุม จ.ราชบุรี เมื่อเป็น ส.ส. เราไม่ทราบมาก่อน กระทั่งได้คุยกับผู้อำนวยการชลประทาน ก็อธิบายให้ฟังในการแก้ปัญหาอย่างเช่น ตอนนี้มีปัญหาเรื่องน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร ทางผู้อำนวยการก็จะช่วยอธิบายให้ฟังเรื่องแผนที่น้ำ ปีที่แล้ว (2563) เคยไปยื่นหนังสือถึง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ขอให้ช่วยปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่กลอง จ.กาญจนบุรี มาผลักดันน้ำเค็มที่สมุทรสาคร หลังจากนั้นก็ได้ติดตามอยู่กับผู้อำนวยการชลประทานต่างๆ

ชลประทานจะทำหน้าที่กักเก็บน้ำ รักษาน้ำ ระบายน้ำ มีส่วนที่เกี่ยวข้องก็คือ จังหวัดสมุทรสาครมีปัญหาเรื่องน้ำเสีย จะมีคนร้องเรียนมาที่เราว่ามีน้ำเสียอย่างนั้นอย่างนี้ เราเป็น ส.ส. เราไม่ได้ทำได้ทุกอย่าง มองว่าการแก้ปัญหาน้ำเสีย มันมีเจ้าภาพอย่างเช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตาม พ.ร.บ.แผนและการกระจายอำนาจ 2542 อบจ. มีหน้าที่ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียรวมของจังหวัด เรื่องขยะ น้ำเสีย เป็นหน้าที่ของ อบจ.โดยตรง

ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร แล้วก็องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่นั้นๆ เช่น ถ้าโรงงานปล่อยน้ำเสีย อบต. มีหน้าที่ไปตรวจสอบ มีคนร้องเรียนมา ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบอำนาจให้นายอำเภอ ในฐานะประธานศูนย์ดำรงธรรม ลงพื้นที่ร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดมาตรวจสอบ ซึ่งก็เห็นไปตรวจสอบหลายโรงงานแล้ว ให้ปรับปรุงแก้ไข

จริงๆ แล้วควรสั่งปิดเลย เป็นการบังคับใช้กฎหมาย แต่อย่างเทศบาลอยู่ตรงนี้ ไม่รู้เหรอว่าโรงงานนี้มีบ่อบำบัด แต่เขาลักลอบปล่อยน้ำเสียยามวิกาล ซึ่งท้องถิ่นต้องรู้ ส่วนนี้มีคนร้องเรียนมาที่เราเยอะ เราไม่มีบทบาท อำนาจหน้าที่โดยตรง จะให้ทำอย่างไร ส.ส. เรียกนักข่าวไป ให้ไปลงพื้นที่ตีข่าว บางครั้งเหมือนเตะหมูเข้าปากหมาด้วยซ้ำ

ประชาชนยังไม่เข้าใจระบบการบริหารราชการ ซึ่งแบ่งเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น บางครั้งน้ำไม่ไหล เราประชุมสภาฯ อยู่ เขาก็โทร. มาหาเรา แล้วเราจะทำอย่างไร เพราะว่าในเขต 3 ส่วนใหญ่จะเป็นบ่อบาดาล บริหารโดยบางครั้งผู้ใหญ่บ้าน ส่วนใหญ่จะโอนให้ อบต. ไปแล้ว แต่ถ้าบ่อไหนที่มีหนี้สิน อบต. ก็ไม่รับโอน ผู้ใหญ่บ้านหรือคณะกรรมการหมู่บ้านก็ต้องบริหารกันไป เพราะฉะนั้น น้ำไม่ไหลที่บ่อไหนเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เป็นเรื่องของการบริหารภายในพื้นที่ตรงนั้น

เราพยายามสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจและรับรู้ว่า ถ้ามีปัญหาคนแรกที่จะใกล้ตัวที่สุด ผู้ใหญ่บ้านคุณเลือกใครไป อบต. ส.ท. (สมาชิกสภาเทศบาล) คุณเลือกใครไป บอกเขา ให้เขาไปแจ้งท้องถิ่น แล้วท้องถิ่นเขาก็บอกว่า คลองเส้นนี้เป็นคลองชลประทาน ไม่ใช่ท้องถิ่น เพราะฉะนั้น อบต. เขาก็ประสานชลประทานได้ คือไม่ใช่มาใช้ ส.ส. คนเดียว แล้วกลายเป็นว่าเราไปก้าวก่าย ไปแทรกแซง

อย่างเช่นถนนลูกรัง ชาวบ้านอยากได้ถนน ร้องมาที่เรา มาทำตรงนี้บ้างสิ ซึ่งทำไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ยกที่ให้หลวง ไม่ได้ยกที่ให้ อบต. ก็ทำได้อย่างไร บางครั้งก็ถามว่า เคยไปประชาคมไหม ไม่เคย การประชาคมหมู่บ้าน ทุกคนมาประชุมกันแล้วเสนอว่า เราจะเสนอโครงการอะไรให้เทศบาลมาทำ มีการยกมือ เทศบาลเขาก็รับเรื่องไป ก็ไปเข้าแผน และไปตั้งงบประมาณตามที่ได้ผ่านประชาคม ทีนี้บางคนประชาคมก็ไม่ไป อะไรไม่รู้ ไม่สนใจ แล้วพอไม่มีโครงการเป็นของตัวเอง มาให้ ส.ส.มาทำ ทำไม่ได้

หรืออย่างเช่น สะพานข้ามคลองดำเนินสะดวก ทรุดเกือบทุกตัว ทีนี้มันทรุดมากกว่าเดิม ทำความเดือดร้อนให้แม่ค้าตลาดบ้านแพ้ว เวลารถขึ้นกระแทก อย่างรถพ่วง รถบรรทุกหนักๆ เสียงดังมาก ปรากฎว่าตอนนั้นเกิดอุบัติเหตุด้วย ก็มีคนโทร.แจ้งมา ก็ประสานไปที่แขวงทางหลวงนครปฐม ก็แจ้งเขา เขาก็รีบมาทำให้โดยด่วน แต่ว่าจริงๆ แล้วใครก็แจ้งได้ เพราะว่าที่ป้ายถนนเขาก็จะมีเบอร์โทร. ประชาชนคนธรรมดาแจ้งได้เลย แต่ว่าสายทางที่รับผิดชอบมันเยอะ เขาออกทำงานทุกวัน ปะคอสะพานไม่ต้องตั้งงบประมาณ ใช้งบวัสดุที่มีอยู่แล้ว เขาออกทำทุกวัน

พอแจ้งไปเขาก็อาจจะมาทำตามลำดับ มาเมื่อไหร่วันไหนเราก็ไม่รู้ แต่บังเอิญ ส.ส.แจ้งไปแล้วมาให้เลย แจ้งวันนี้มาพรุ่งนี้ เพราะเป็นจุดใหญ่ จุดสำคัญจริงๆ คือคนจะเข้า จะออกอำเภอบ้านแพ้วต้องข้ามสะพานตัวนี้ ทีนี้คนบางทีก็แบบ เออ ถ้า ส.ส.สั่งมาเร็วเชียว ไม่ใช่หรอก พอเข้ามางานหนึ่ง ทุกคนแจ้งเราหมดเลยว่าตรงนั้นทรุด ตรงนี้ทรุด คือเราก็ชี้แจงแทนหน่วยงานเขาว่า เขามาทำอยู่แล้ว เขาต้องมาทำ มันหน้าที่เขา แต่ว่าไม่รู้ใครแจ้งไปช้าเร็วอย่างไร แล้วเขาจัดแผนปฏิบัติงานประจำวันไว้อย่างไร

  • ชาวบ้านเขาอาจจะมองว่าเราเป็นตัวแทนประชาชนหรือเปล่า ถึงมาพึ่งเรา

ใช่ แต่บางเรื่องเราทำให้เขาไม่ได้ อย่างเช่นถนน อยากได้ถนนมันต้องบอก อบต. แล้วถนนถ้าผิวจราจร อย่างของ อบจ. ต้อง 6 เมตร ไหล่ทางข้างละ 1 เมตร เป็น 8 เมตร เพราะฉะนั้นการจะอุทิศที่ดินจะต้องมีอย่างน้อย 8 เมตร ฐานอีกข้างละ 1 เมตร ก็ต้องมีถึง 10 เมตร การสร้างถนนในหมู่บ้าน ผิวจราจรต่ำกว่า 6 เมตรลงมา เป็น 5 เมตร 4 เมตร ก็เป็นหน้าที่ของท้องถิ่น อบจ. ก็ทำไม่ได้ นอกเสียจากว่า อบต.นี้มีเงินรายได้จากภาษีที่จัดเก็บเอง และจากที่รัฐอุดหนุนให้ไม่เพียงพอที่จะสามารถทำถนนเส้นนี้ได้ เรียกว่าเกินศักยภาพ อบต.ก็เสนอขอไปที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือจะขอมาที่ อบจ.ก็ได้

เท่ากับ อบจ.ไม่มีพื้นที่ จะไปทำอะไรที่ไหนต้องให้ท้องถิ่นเขาขอขึ้นมา แล้วภารกิจของ อบจ. ต้องเป็นโครงการที่เป็นภาพรวมของทั้งจังหวัด เช่น บ่อบำบัดน้ำเสียรวม กำจัดขยะมวลรวม หรือโครงการที่เชื่อมต่อระหว่าง 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นไป เช่น คลองฝั่งหนึ่งเป็นพื้นที่ของ ต.เกษตรพัฒนา อีกฝั่งหนึ่งเป็นพื้นที่ของ ต.หนองนกไข่ จะทำสะพานตัวหนึ่งมันคร่อม ทำไม่ได้ ก็ขอให้ทางหลวงชนบท หรือ อบจ.มาทำก็ได้

ต้องพยายามสื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูล แต่จริงๆ เราเป็นชาวบ้าน จะไปรู้ได้อย่างไรว่าตรงนี้หน้าที่ใคร ของหน่วยงานไหน ก็บอกผู้ใหญ่บ้าน บอก อบต. บอก สท. พวกนี้เขาก็ไปบอกตรงนั้น ไปบอก อบต. ไปบอกเทศบาล อบต. เทศบาลมีหน้าที่ เขาก็ตรวจสอบเองว่าเป็นภารกิจของใคร ของเราเราทำเอง ของทางหลวง ของโยธา เราทำเองไม่ไหวขอ อบจ. แต่พอมาที่ ส.ส. หมดแล้วเราก็ไม่มีปัญญาจะทำให้เขา

พูดตามตรง เป็น ส.ส.ชนะไม่เยอะ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ก็มีความยึดโยงอยู่กับคนเก่า เพราะฉะนั้นในการหาเสียงลงพื้นที่หรืออะไรที่เราชนะมา จะเป็นการที่เราสื่อสารโดยตรง การที่เราไปเดินตามบ้านมากกว่า เพราะฉะนั้นถ้ามีชาวบ้านขอโครงการมา ถ้าคนรู้จักคุ้นเคยเราอาจจะบอกได้ว่า ท่านนายกฯ ซอยนี้เขาขอถนนมา ไม่รู้ผ่านประชาคมหรือยัง ท่านรับไม้ต่อไปดูเขาทีนะ หรืออะไรอย่างนี้ บอกได้ แต่ถ้าเราไม่ได้สนิท หรือว่าคนละขั้วจะไปคุยอย่างไร มันประสานไม่ได้

  • เป็นความลำบากอย่างหนึ่งในการทำงาน

ใช่ การตั้งโครงการถ้าไปย้อนดูของหน่วยงานท้องถิ่น บางทีงบที่ลงมันลงไปกระจุก มันไม่ได้กระจาย อันนี้มันก็เป็นเรื่องของท้องถิ่น เขามีสิทธิที่เขาจะใช้ จะบริหารงบประมาณอะไรยังไง แล้วก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของเขา ถ้าเป็นเรา เราก็มองว่า ถ้างบประมาณมันเหลือเฟือแล้ว พัฒนาตรงจุดที่แย่ๆ เรื่องถนนหนทาง แล้วมาทำเรื่องอื่นให้ครบวงจรนั้นเห็นด้วย

  • ในฐานะที่เป็น ส.ส. ได้ช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรบ้าง

เรื่องโควิด-19 ตั้งแต่การระบาดรอบแรก เราก็สนับสนุนเจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง เช่น สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล รพ.สต. เราก็เอาเจลแอลกอฮอล์ไปให้เขา ส่วนประชาชนทั่วไปบางทีก็มีข้าวสาร ไข่ไก่ อาหารแห้งไปช่วยเหลือบ้างตามกำลังของเรา แล้วบางครั้งก็มีเพื่อนๆ สนับสนุนมา หรืออย่างมีจิตอาสานำซาเล้งมาฉีดพ่นตามตลาดนัด โรงเรียน วัด เราก็สนับสนุนน้ำยาให้เขาไป

การลงพื้นที่พบปะประชาชน วันๆ หนึ่งเรามีภารกิจหลายอย่าง แต่ในรถเราก็จะเอาแพมเพิร์ส แผ่นรอง ผ้ากันเปื้อน หน้ากากหรือเจลใส่รถไปด้วย ถ้าเกิดมีเวลาก็แวะเยี่ยมอะไรไปเรื่อยเปื่อย แต่ทีนี้การทำแบบนี้ก็เป็นข้อเสีย คนที่ไม่ได้เขาก็จะว่าเอาไปแจกเขา เราทำในส่วนที่เสริม ส่วนที่เป็นกำลังใจ เราไม่ใช่หน่วยงาน เราไม่มีองค์กร ไม่มีทุน ไม่ได้รับงบประมาณที่จะมาซื้อของแจก แล้วจะต้องแจกให้ทั่วถึงทุกคน เราก็ไม่มีกำลังขนาดนั้น เพราะฉะนั้นมันเป็นลักษณะที่ว่าไปเยี่ยมเยือน จะไปงานศพผ่านตรงนี้พอดี งั้นแวะเข้าไป กลับจากประชุมกรรมาธิการ ประชุม 9 โมงเช้า เลิกประมาณเที่ยงวัน ผ่านมาก็แวะทำนองนั้น

หรือการแจกหน้ากากอนามัย กล่องหนึ่ง 50 ชิ้น 4 กล่อง 200 ชิ้นแจกร้านอาหาร ร้านขายของชำไปวางไว้ให้ แล้วก็บอกว่า ถ้าใครเขามาหยิบไปใช้ได้เลย ไม่ต้องไปแจกตามบ้าน หมู่บ้านหนึ่งมี 4-5 ร้านค้า หรือ 7-8 ร้านค้าก็วางไว้ แต่ส่วนตัวเวลาไปงานศพเราแจกอยู่แล้ว ไปฟังพระสวดหรือไปเผาศพ งานไหนไปซ้ำก็เอาเจลล้างมือไป

  • เป้าหมายในการทำงานนับจากนี้ ผ่านมาแล้ว 2 ปี อีก 2 ปีคิดว่าอยากจะทำอย่างไรให้กับชาวบ้านแพ้ว

ด้วยข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เราไม่สามารถที่จะเสนอโครงการได้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราคือตัวแทนของประชาชน เราก็รับเรื่องจากประชาชน เรื่องของตัวเองจะไม่มี ที่ไปพูดในสภาเราทำหน้าที่ผู้แทน พูดแทนประชาชน เพราะฉะนั้นใน 2 ปีที่เหลือ ประชาชนนำเสนอเรื่องใดมาที่มันเข้าช่องทางของสภาได้ นำเข้าสภา ส่วนตัวเองเน้นในเรื่องของการลงพื้นที่ เราเป็น ส.ส. ถ้าเราไม่ได้ลงไปพื้นที่ ไปรับฟังปัญหาจากประชาชนอาชีพต่างๆ เราก็ไม่รู้ว่าประชาชนเดือดร้อนอะไร เน้นลงพื้นที่เป็นหลัก รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนว่าเขาต้องการอะไร เขาอยากให้เราพูดเรื่องอะไร เขาอยากให้เรานำเสนอเรื่องอะไร หาทางแก้ปัญหาให้เขา

พูดจริงเราเป็น ส.ส. ประชุมสภาฯ อาทิตย์ละ 2 วัน แต่มีญัตติที่ ส.ส.ยื่นไปเยอะมาก ท่านประธานสภาฯ ก็เลยให้เพิ่มเป็น 3 วัน ใน 1 เดือนอาจจะเพิ่มแค่สัปดาห์ หรือสองสัปดาห์ แต่เราไปเป็นกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค และกรรมาธิการวิสามัญ มีนัดประชุมก็อยู่สภา 4 วันแล้ว เวลาไปประชุม ประชุมเรื่องอะไร ประเด็นที่ประชุมเป็นยังไง มีมติอย่างไร มติกรรมาธิการหรือสรุปยังไงก็พยายามสื่อสารให้ประชาชนรู้

แต่คงมีส่วนน้อยที่อ่าน เพราะบางคนไม่ชอบเรื่องหนักๆ ส.ส. โพสต์รูปกินข้าวคนกดไลค์เต็มเลย (หัวเราะ) พอบอกว่าไปประชุมเรื่องอะไร มาอย่างไร คือบางทีเราอยากให้เขารู้ว่า เขามีสิทธิร้องเรียนนะ เขามีสิทธิส่งเรื่องเข้ากรรมาธิการ แล้วเราอยากให้รู้ว่า ส.ส. มีหน้าที่อะไร ทำอะไร ไม่ใช่ว่าถ่ายรูป วันนี้ประชุมนะจ๊ะ อยู่สภานะ หรืออะไร ได้ประโยชน์อะไร ชาวบ้านได้อะไร ไม่ได้ แล้วบางคนไม่รู้ด้วย เขานึกว่า ส.ส.มีหน้าที่เฉพาะในเขต แต่จริงๆ ทั้งประเทศ คือไปในนามของกรรมาธิการ

ก็จะมีคนว่าเราเยอะนะว่าสร้างภาพลงพื้นที่ เราเคยสวนนะ ภาพการทำงานดิฉันสร้างทุกวัน แต่ไม่กวนนะ เป็นผู้นำต้องนิ่ง แต่บางครั้งที่เขาซัดเรามา เราไม่ตอบไม่ได้ เพราะมันมีคนอ่าน เราต้องตอบ อย่างประเด็นเก่าๆ พอเราโพสต์เรื่องถนนเส้นนี้ เรื่องอะไรๆ ก็มาถามว่า มารดาประชารัฐล่ะ เงินเดือนปริญญาตรี อะไรอย่างนี้ ก็เป็นการพูดซ้ำ การผลิตซ้ำของคนที่เขาสนับสนุนอีกพรรค เขาไม่ชอบพรรคอะไรอย่างนี้

เรื่องจริงคือเราเสนอในพรรคว่า ดิฉันหาเสียงไว้ปริญญาตรี 20,000 ที่เป็นนโยบายตอนนั้น มารดาประชารัฐ ท้องปุ๊บให้เดือนละ 3,000 ค่าทำคลอดอีก 10,000 บาท ดิฉันไปหาเสียงไว้จนเขาคลอดลูกแล้วถามว่าเมื่อไหร่จะได้ ต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ยังไม่ได้ต่อ ที่จะขึ้นทะเบียนเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว (2563) ก็ยังไม่ได้ต่อ แล้วก็มาติดโควิด เขาจะมีการตรวจสอบว่าคนที่จนไม่จริงเอาออกไป แล้วเปิดขึ้นทะเบียนใหม่ แต่จะขึ้นทะเบียนเป็นครอบครัว ไม่ใช่รายคนแล้ว มีหลักเกณฑ์รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี เมื่อก่อนมีคนที่ยังไม่มีงานทำหรือตกงานไปขึ้นทะเบียนแล้วเขาก็ได้บัตร แต่ตอนนี้เขาก็มีรายได้แล้วก็ยังใช้ติดอยู่ พวกนี้ต้องยกเลิกให้หมด

ที่โดนเยอะคือค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท การที่เขาประชุมร่วม 3 ฝ่าย ถ้าไปขึ้นผู้ประกอบการเขาไม่ไหว เขาก็เลยขึ้นได้แค่นั้น บางครั้งประชาชนก็คงพอรับได้ว่านโยบายที่หาเสียงไว้แต่ยังทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำ เพราะมันมีอย่างอื่นที่จำเป็นและสำคัญกว่า

รัฐบาลชุดนี้ก็โชคไม่ดีนะ มาเจอโควิด มาเจออะไร ก็ถือว่าทำได้ดีในเรื่องของการบริหารประเทศในช่วงภาวะโควิด แต่เราคิดว่าคนเป็นรัฐบาลต้องการทำนโยบายตามที่เราหาเสียงทั้งนั้นแหละ ถ้าทำได้เขาทำอยู่แล้ว

ประวัติส่วนตัว

จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส. สมุทรสาคร เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2512 ปัจจุบันอายุ 52 ปี

การศึกษา :

  • ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง) มหาวิทยาลัยรังสิต
  • ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง) มหาวิทยาลัยรังสิต

อาชีพก่อนได้รับเลือกตั้งครั้งนี้ : เกษตรกร

ประสบการณ์ที่สำคัญ :

  • สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร 4 สมัย
  • รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร
  • ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร
  • กรรมการบริหารสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย 4 สมัย
  • รองเลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย 1 สมัย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ :

  • ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย พ.ศ. 2563
  • ตริตาภรณ์ช้างเผือก พ.ศ. 2557

เรื่อง : กิตตินันท์ นาคทอง
ภาพ : กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *