รู้จัก 6 สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน สมุทรสาคร เชื่อมโยงท้องถิ่น

ในอดีตการไปมาหาสู่กันระหว่างฝั่งแม่น้ำท่าจีนตะวันออกและตะวันตก นิยมเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก กระทั่งมีสะพานท่าจีนเกิดขึ้น จึงกลายเป็นสะพานหลักที่เชื่อมโยงระหว่างสองฝั่ง แต่ปัจจุบันการคมนาคมทางบกเข้ามาแทนที่

มีการตัดถนนและก่อสร้างสะพาน เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมไปยังระดับท้องถิ่นมากขึ้น จังหวัดสมุทรสาคร มีสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนรวมทั้งหมด 6 แห่ง อยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง 1 แห่ง และกรมทางหลวงชนบท 5 แห่ง ได้แก่

(1) สะพานท่าจีน 1 บนถนนพระรามที่ 2 (ธนบุรี-ปากท่อ) ก่อสร้างโดย กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เปิดใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2516 แต่ภายหลังได้ก่อสร้างสะพานใหม่ ในช่วงขยายถนนเป็น 10 ช่องจราจร แล้วเสร็จเมื่อปี 2546 เชื่อมระหว่างหมู่ที่ 1 บ้านคลองบางหญ้า กับหมู่ที่ 6 บ้านท่าจีน ต.ท่าจีน อ.เมืองฯ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของแขวงทางหลวงสมุทรสาคร กรมทางหลวง ซึ่งถนนพระรามที่ 2 ระยะทาง 84 กิโลเมตร ถือเป็นถนนสายหลักเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครกับภาคใต้

(2) สะพานท่าจีน 2 (กระทุ่มแบน) บนถนนสุคนธวิท และถนนกระทุ่มแบน-บ้านแพ้ว (สค.3011) ก่อสร้างโดย กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย เปิดใช้เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2534 ความยาว 300 เมตร เชื่อมระหว่างเทศบาลเมืองกระทุ่มแบน กับหมู่ที่ 1 บ้านดอนกระทือ ต.สวนส้ม อ.บ้านแพ้ว ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของแขวงทางหลวงชนบทสมุทรสาคร กรมทางหลวงชนบท เป็นถนนที่เชื่อมระหว่าง อ.กระทุ่มแบน กับ อ.บ้านแพ้ว ไปยังถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน (ทางหลวงหมายเลข 375)

(3) สะพานท่าจีน 3 (วัดบางปลา) บนถนนเศรษฐกิจ-บางปลา (สค.4019) และถนนบางปลา-สวนส้ม ก่อสร้างโดย กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย เปิดใช้เมื่อปี 2540 ความยาว 480 เมตร เชื่อมระหว่างเทศบาลตำบลบางปลา อ.เมืองฯ กับหมู่ที่ 3 บ้านหน้าวัด ต.บ้านเกาะ อ.เมืองฯ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของแขวงทางหลวงชนบทสมุทรสาคร กรมทางหลวงชนบท ได้พัฒนาให้เชื่อมต่อกับถนนพระราม 2-สวนส้ม เพื่อเป็นอีกทางเลือกระบายความแออัดจากถนนพระรามที่ 2 และสะพานท่าจีน

(4) สะพานท่าจีน 4 (ท่าไม้) บริเวณซอยวิรุณราษฎร์ และถนนวัดท่าไม้ (สค.4014) ก่อสร้างโดย กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย เปิดใช้เมื่อปี 2542 ความยาว 290 เมตร เชื่อมระหว่างหมู่ที่ 8 บ้านคลองโรงหมู ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน กับหมู่ที่ 4 ต.บ้านใหม่ อ.สามพราน จ.นครปฐม ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของแขวงทางหลวงชนบทสมุทรสาคร กรมทางหลวงชนบท เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าเกษตร และเส้นทางท่องเที่ยวไปยังวัดที่มีชื่อเสียง ได้แก่ วัดท่าไม้ และวัดท่ากระบือ

(5) สะพานบางยางรุ่งสินพัฒนา เป็นสะพานชุมชนแยกจากถนนบางยาง-หนองนกไข่ (สค.5029) กับบ้านแหลมบางยาง มีทางลัดไปออกถนนเทศบาล 3 เทศบาลเมืองกระทุ่มแบน ก่อสร้างโดย กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม เปิดใช้เมื่อปี 2551 ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 63 ล้านบาท ความยาว 270 เมตร เชื่อมระหว่างหมู่ที่ 12 บ้านแหลมบางยาง กับหมู่ที่ 3 บ้านคลองโรงปูน ต.บางยาง อ.กระทุ่มแบน ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของแขวงทางหลวงชนบทสมุทรสาคร กรมทางหลวงชนบท

(6) สะพานพุทธมณฑลสาคร บริเวณถนนเศรษฐกิจ-พันธุวงศ์ (สค.4016) เชื่อมไปยังพุทธมณฑลสมุทรสาคร ไปออกถนนพระราม 2-สวนส้ม บริเวณวัดอำแพง ก่อสร้างโดย กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม เปิดใช้เมื่อปี 2554 ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 79.95 ล้านบาท ความยาว 270 เมตร เชื่อมระหว่างหมู่ที่ 1 บ้านพันธุวงศ์ ต.บ้านเกาะ อ.เมืองฯ กับหมู่ที่ 2 บ้านท้ายบ้านปากคลอง ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของแขวงทางหลวงชนบทสมุทรสาคร กรมทางหลวงชนบท

หากเรียงลำดับตั้งแต่ปากแม่น้ำท่าจีน ถึงสุดเขตจังหวัดสมุทรสาคร ระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร เราจะพบสะพานท่าจีน ถนนพระรามที่ 2 เป็นสะพานแรก ตามมาด้วยสะพานท่าจีน 3, สะพานพุทธมณฑลสาคร, สะพานท่าจีน 2, สะพานบางยางรุ่งสินพัฒนา และสะพานท่าจีน 4 ก่อนเข้าเขต อ.สามพราน จ.นครปฐม ที่บริเวณปากคลองอ้อมน้อยนั่นเอง

ในอนาคต กรมทางหลวงชนบท มีโครงการโครงข่ายทางสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศ ช่วง จ.สมุทรสาคร – จ.สมุทรปราการ (สะพานพระสมุทรเจดีย์) ระยะทาง 59 กิโลเมตร หนึ่งในนั้นจะมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน บริเวณ ต.บางหญ้าแพรก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ อยู่ระหว่างพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และประเมินวงเงินลงทุน

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *