เอกชนรายไหนจะได้ไป ไฟเขียว O&M มอเตอร์เวย์ บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เมื่อวันที่ 19 ส.ค. มีมติเห็นชอบให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว สำหรับการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance หรือ O&M)

สาเหตุที่นำโครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 82 บางขุนเทียน – บ้านแพ้ว มาให้เอกชนร่วมลงทุน เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณภาครัฐในการก่อสร้างและบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ โดยเอกชนจะเป็นผู้ก่อสร้างงานระบบ พร้อมทั้งการดำเนินงานและบำรุงรักษา วงเงินลงทุนรวมตลอดสัญญากว่า 15,000 ล้านบาท

โดยมีรูปแบบงานระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม่กั้น (M-Flow) รวมถึงให้เอกชนดำเนินงานระบบอำนวยการและบริหารจัดการจราจร ตลอดจนดูแล บำรุงรักษา บูรณะ และบริหารจัดการตลอดระยะเวลา 32 ปี นับตั้งแต่เริ่มลงมือก่อสร้างงานระบบ

โดยที่ประชุมเชื่อว่า จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรง และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจทางอ้อม มูลค่ารวมกว่า 100,000 ล้านบาท ส่งเสริมการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญยังช่วยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดความสะดวกสบาย ปลอดภัย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยให้มีศักยภาพสูงสุดอีกด้วย

สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว มีระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ลักษณะเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร อยู่บนเกาะกลางของถนนพระรามที่ 2 มีด่านเก็บค่าผ่านทางทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ ด่านพันท้ายนรสิงห์ ด่านมหาชัย 1 ด่านมหาชัย 2 ด่านสมุทรสาคร 1 ด่านสมุทรสาคร 2 และด่านบ้านแพ้ว

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ กรมทางหลวงเร่งเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว โดยรับผิดชอบก่อสร้างงานโยธา โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ช่วง บางขุนเทียน – เอกชัย โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ตอน ระยะทางรวม 8.335 กิโลเมตร ค่างานตามสัญญารวม 10,477.386 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญาตั้งแต่ 28 ส.ค. 2562

ระหว่างนั้นกรมทางหลวงได้จัดโรดโชว์เปิดโอกาสให้เอกชนจัดหาแหล่งเงินทุน ออกแบบ และก่อสร้างงานโยธาส่วนที่เหลือ ซึ่งรวมถึงงานทางและโครงสร้างทางยกระดับต่อจากด่านมหาชัย 1 ถึงด่านบ้านแพ้ว แต่ภายหลังได้เปลี่ยนรูปแบบการลงทุน มาเป็นให้ “กรมทางหลวง” ลงทุนแทน โดยใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง หรือ “กองทุนมอเตอร์เวย์” มาดำเนินการในส่วนของงานโยธา

เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 มีมติอนุมัติให้กรมทางหลวงดำเนินงานก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายลข 82 สายบางขุนเทียน – ปากท่อ ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ในส่วนของงานโยธา วงเงินค่าก่อสร้าง 19,700 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

นำไปสู่การก่อสร้างช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร แบ่งเป็น 10 ตอน วงเงินก่อสร้าง 18,759 ล้านบาท โดยได้ลงนามสัญญาก่อสร้างงานโยธา เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 รวม 2 โครงการ 13 ตอน กรมทางหลวงลงทุนไปกว่า 29,236 ล้านบาท

ต่างกันตรงที่ ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ใช้งบประมาณแผ่นดิน ส่วนช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว จะใช้เงินกองทุนมอเตอร์เวย์ก่อสร้าง

ส่วนเอกชน เมื่อกรมทางหลวงก่อสร้างงานโยธาหมดแล้ว จะเหลือเพียงแค่ลงทุนงานก่อสร้างและติดตั้งระบบ อาทิ ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจร อาคารศูนย์ควบคุมกลาง (CCB) ระบบบริหารจัดการทรัพย์สิน ระบบโครงข่ายสื่อสาร ระบบการจ่ายกำลังไฟฟ้า และจะต้องเป็นผู้ดำเนินงานบริการจัดการและบำรุงรักษาโครงการทั้งหมด

การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง กำหนดให้จัดเก็บแบบระบบปิด (Closed System) โดยคิดตามระยะทาง ซึ่งใช้ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบเงินสด (Manual) ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติ (ETC) ซึ่งสามารถรองรับระบบการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow ได้

โดยกำหนดค่าผ่านทาง รถยนต์ 4 ล้อ อัตราแรกเข้า 10 บาท บวกอัตราคิดตามระยะทาง 2 บาทต่อกิโลเมตร, รถยนต์ 6 ล้อ อัตราแรกเข้า 16 บาท บวกอัตราคิดตามระยะทาง 3.20 บาทต่อกิโลเมตร และรถยนต์มากกว่า 6 ล้ออัตราแรกเข้า 23 บาท บวกอัตราคิดตามระยะทาง 4.6 บาทต่อกิโลเมตร

ในช่วง 5 ปีแรก นับตั้งแต่วันเริ่มเก็บค่าธรรมเนียม ขาออกกรุงเทพฯ จากจุดเชื่อมต่อบางขุนเทียน รถยนต์ 4 ล้อ เริ่มต้นที่ 20-50 บาท รถยนต์ 6 ล้อ เริ่มต้นที่ 30-85 บาท และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อ เริ่มต้นที่ 45-120 บาท ขาเข้ากรุงเทพฯ จากด่านบ้านแพ้ว รถยนต์ 4 ล้อ เริ่มต้นที่ 20-50 บาท รถยนต์ 6 ล้อ เริ่มต้นที่ 35-85 บาท และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อ เริ่มต้นที่ 50-120 บาท

สำหรับคำถามที่ว่า เอกชนรายไหนจะสนใจร่วมลงทุนนั้น ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 กรมทางหลวงเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ โครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา วงเงิน 33,258 ล้านบาท และหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี วงเงิน 27,828 ล้านบาท

ในรูปแบบ PPP Gross Cost ระยะสัมปทาน 30 ปี ภาครัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายได้ทั้งหมดของโครงการ โดยให้เอกชนจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง นำส่งรายได้ทั้งหมดให้กับภาครัฐ แล้วรับค่าตอบแทนการให้บริการ สำหรับค่าก่อสร้างงานระบบและค่าตอบแทนสำหรับการดำเนินงาน และบำรุงรักษา โดยจะต้องรักษาระดับการให้บริการให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

ขณะนั้นเป็นการแข่งขันของผู้ยื่นข้อเสนอ 3 ราย ได้แก่ รายแรก กิจการร่วมค้า BGSR (ประกอบด้วย กลุ่มบีทีเอส ร่วมกับ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี, ซิโน-ไทย และราชกรุ๊ป หรือโรงไฟฟ้าราชบุรี), รายที่สอง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM บริษัทในกลุ่ม ช.การช่าง และรายที่สาม บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กับ ไชน่า คอมมิวนิเคชัน คอนสตรัคชัน คัมพานี ประเทศจีน ผลปรากฎว่า กิจการร่วมค้า BGSR ยื่นข้อเสนอราคา O&M ต่ำสุดทั้งสองเส้นทาง และได้มีพิธีลงนามสัญญาไปเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564

น่าสนใจว่า การเปิดประมูล O&M มอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เอกชนรายใดจะได้ไป เพราะวงเงินที่น้อยกว่ามอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี น่าจะจูงใจให้เอกชนรายอื่นเข้าร่วมประมูลมากกว่าที่เป็นอยู่ก่อนหน้านี้

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *