สะพานมหาชัยตอม่อชำรุด หวั่นเกิดโศกนาฎกรรม จับตาเทศบาลจะซ่อมเมื่อไหร่?

ภาพจาก แมวดำ มหาชัย

ประเด็นความชำรุดบริเวณตอม่อของสะพานมหาชัย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า สะพานวัดเจษฯ เขตเทศบาลนครสมุทรสาคร เป็นที่พูดถึงกันมานานแล้ว กระทั่งเมื่อวันก่อนเกิดโศกนาฎกรรม คานสะพานกลับรถถนนพระรามที่ 2 หล่นทับรถยนต์ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ก็กลายเป็นที่หวั่นใจของชาวบ้านว่า จะเกิดโศกนาฎกรรมกับสะพานแห่งนี้หรือไม่

สะพานมหาชัย เป็นสะพานข้ามคลองมหาชัย เชื่อมระหว่างถนนกิจมณี กับถนนสหกรณ์-โคกขาม สร้างเมื่อปี 2511 สมัยนายเอนก พยัคฆ์นคร นายจรัส เทศวิศาล เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และนายสุรินทร์ เทพกาญจนา เป็นนายกเทศมนตรี ก่อนจะก่อสร้างใหม่เป็นขนาด 4 ช่องจราจร เมื่อปี 2544 โดยกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย มีความยาวประมาณ 280 เมตร

ส่วนถนนสหกรณ์-โคกขาม หรือทางหลวงหมายเลข 3423 เดิมกำหนดเป็นทางของจังหวัด รวม 3 จังหวัด ต้นทางจาก จ.สมุทรปราการ ช่วงกลาง จ.ธนบุรี (ปัจจุบันคือกรุงเทพมหานคร) และช่วงปลายเป็นของ จ.สมุทรสาคร ระยะทาง 37.813 กิโลเมตร กรมทางหลวงรับมอบมาดูแลตั้งแต่ปี 2513 สภาพทางก่อนรับมอบ เป็นทางผิวลูกรังบางๆ บางช่วงเป็นคันดิน การจราจรผ่านไม่ได้

ปี 2526 กองวางแผน กรมทางหลวง แก้ไขระยะทางควบคุมและกำหนดหมายเลขใหม่ โดยให้ทางหลวงหมายเลข 3243 อยู่ฝั่งจังหวัดสมุทรปราการ ถึงบ้านนาเกลือ ต.นาเกลือ อ.พระสมุทรเจดีย์ ระยะทาง 5.371 กิโลเมตร แล้วให้ฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร เป็นทางหลวงหมายเลข 3423 ถึงบ้านโคกขาม ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร

ปี 2555 กรมทางหลวงชนบทก่อสร้างสะพานข้ามคลองหลวง และก่อสร้างอีกสะพานหนึ่งขนานกันในปี 2557 กระทั่งกรมทางหลวงชนบทเริ่มปรับปรุงถนนเรื่อยมา ปัจจุบันเป็นเส้นทางนี้รองรับรถจากถนนบางขุนเทียนชายทะเล มายังจังหวัดสมุทรสาคร และเมื่อกรมทางหลวงชนบทก่อสร้างสะพานบก ถึงทางหลวงหมายเลข 3243 ในปี 2562 กลายเป็นถนนเชื่อม 3 จังหวัดสำเร็จ

ข้อมูลจากสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง พบว่า ปัจจุบันถนนสหกรณ์-โคกขาม มีปริมาณการจราจรเฉลี่ยในปี 2564 วันละ 8,869 คัน โดยล่าสุดกรมทางหลวงได้ขยายถนนสหกรณ์-โคกขามออกเป็น 4 ช่องจราจร แล้วเสร็จเมื่อปี 2564 รองรับชุมชนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และแบ่งเบาปริมาณจราจรบนถนนพระรามที่ 2 ผ่านถนนบางขุนเทียนชายทะเล

สำหรับสะพานมหาชัย ก่อนหน้านี้ในปี 2563 มีโครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาชัย โดยมีเทศบาลนครสมุทรสาคร ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยพบว่า ได้ศึกษาแนวเส้นทางโครงการ เพื่อรองรับโครงการถนนสายผังเมือง จ1 ต่อไปยังถนนพระราม 2 ในอนาคต

กระทั่งปี 2564 ได้นำเสนอรูปแบบโครงการ เลือกแบบก่อสร้างภายในเขตทางเดิมโดยไม่เวนคืน เป็นทางยกระดับกว้าง 10-12 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ไหล่ทางกว้าง 1.50–2.50 เมตร ในแนวสะพานเดิมบริเวณตรงกลาง โดยมีตอม่อกว้างไม่เกิน 2.50 เมตร และจะมีสะพานทางลงบริเวณจุดตัดถนนเอกชัย ขนาดกว้าง 5 เมตร 1 ช่องจราจร คาดว่าใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ได้มีชาวบ้านที่อาศัยในอาคารพาณิชย์ทั้งสองข้างทาง บริเวณถนนกิจมณี และชาวบ้านที่อยู่อาศัยบริเวณเชิงสะพานข้ามคลองมหาชัย ระบุว่า ได้รับผลกระทบจากพื้นที่ถนนแคบลง ไม่สามารถจอดรถและทำการค้าขายได้ รวมถึงมูลค่าสิ่งปลูกสร้างจะลดลง อีกทั้งยังมีเสียงและแรงสั่นสะเทือน พวกตนพร้อมย้ายออกไป แต่ต้องจ่ายค่าเวนคืนอย่างเหมาะสม ถึงกระนั้น โครงการดังกล่าว ปัจจุบันนี้ยังคงไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

ขณะที่สภาพของสะพานข้ามคลองมหาชัย ยังคงผุกร่อนจนเห็นโครงสร้างเหล็กของสะพาน เมื่อปี 2563 ชาวบ้านเคยร้องเรียนไปยังนายศรีศักดิ์ วัฒนพรมงคล สมาชิกวุฒิสภา ก่อนประสานไปยังปลัดเทศบาลนครสมุทรสาคร ซึ่งเทศบาลฯ ได้ส่งเรื่องให้กรมทางหลวงชนบทออกแบบการซ่อมแซมสะพาน โดยจะใช้วิธีดามเหล็กเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับพื้นสะพาน

29 มิถุนายน 2563
29 มิถุนายน 2563
29 มิถุนายน 2563

ขณะนั้น นายชิงชัย บุญประคอง ปลัดเทศบาลนครสมุทรสาคร ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรี กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ออกอากาศเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2563 ว่า หลังจากที่ได้แบบก่อสร้างแล้ว ต้องทำเรื่องเสนอสภาเทศบาลฯ เพื่อขอเปิดสภาฯ อนุมัติใช้เงินสะสม เนื่องจากใช้งบประมาณที่สูง และงบประมาณประจำปีที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอ รวมทั้งการโอนงบประมาณก็ไม่เพียงพอ ต้องใช้เงินสะสมของเทศบาล ซึ่งวงเงินตรงนี้้เทศบาลฯ พอมีศักยภาพพิจารณาอนุมัติได้

แต่ขึ้นอยู่กับสภาเทศบาลจะเห็นชอบดำเนินการหรือไม่ เร็วที่สุดต้องเปิดประชุมวิสามัญไปที่จังหวัด โดยปกติจังหวัดจะพิจารณา ภายใน 15 วัน จากนั้นเปิดประชุมสภาฯ ใช้เวลา 1 เดือน และการจัดซื้อจัดจ้างใช้วิธี e-Bidding ซึ่งใช้วงเงินที่สูง ใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน หากได้ผู้รับจ้างแล้วจะสามารถดำเนินการได้

อีกด้านหนึ่ง เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2564 หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ลงเรือตรวจสอบเรื่องร้องเรียน กรณีสะพานข้ามคลองมหาชัยชำรุดเสียหาย แต่ความคืบหน้าในการซ่อมสะพานยังคงมิได้นำพา ท่ามกลางชาวบ้านที่ใช้สะพานวัดเจษฯ เป็นประจำยังคาใจว่าจะได้ซ่อมเมื่อไหร่?

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร 18 พฤศจิกายน 2564
18 พฤศจิกายน 2564
18 พฤศจิกายน 2564
18 พฤศจิกายน 2564
18 พฤศจิกายน 2564
18 พฤศจิกายน 2564

เมื่อเกิดโศกนาฎกรรมบนถนนพระรามที่ 2 ประเด็นสะพานวัดเจษฯ ถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้ง ซ้ำด้วยนายทองแดง เบ็ญจะปัก ส.ส.สมุทรสาคร เขต 1 พรรคก้าวไกล แถลงข่าวประเด็นสะพานกลับรถ พร้อมขอให้ตรวจสอบสะพานข้ามคลองมหาชัย ระบุว่า ประชาชนสัญจรผ่านไปมาข้ามคลองมหาชัย ประมาณ 6,000 คันต่อวัน โดยการตรวจสอบเบื้องต้นบริเวณตอม่อใต้สะพานแห่งนี้ ก็เกิดการแตกร้าวและเหล็กเสื่อมสภาพ เกรงว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ประชาชนชาวสมุทรสาคร

แต่ในการแถลงข่าวที่รัฐสภา นายทองแดงยังมองว่า สะพานแห่งนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมโยธาธิการและผังเมือง ทั้งที่ปัจจุบันสะพานดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครสมุทรสาคร ซึ่งปัจจุบันมีนายชุมพล จันทร์จรัสวัฒนา เป็นนายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร

3 สิงหาคม 2565

ไม่นับรวมกระแสชาวบ้านในจังหวัดสมุทรสาคร เตรียมที่จะนัดรวมตัวประท้วงที่สะพานมหาชัย เพื่อแสดงพลังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบโดยเร็ว ทำให้นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ต้องใช้เวลาวันหยุดราชการ นำนายชุมพลและคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบใต้สะพานมหาชัย ก่อนหน้าที่จะมีการนัดหมายประท้วงเพียง 1 วัน

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร 6 สิงหาคม 2565
6 สิงหาคม 2565
6 สิงหาคม 2565
6 สิงหาคม 2565
6 สิงหาคม 2565
6 สิงหาคม 2565
6 สิงหาคม 2565
6 สิงหาคม 2565
6 สิงหาคม 2565
6 สิงหาคม 2565
6 สิงหาคม 2565
6 สิงหาคม 2565
6 สิงหาคม 2565
6 สิงหาคม 2565

นายพิชิตชัย หอมหงษ์ นายช่างโยธาชำนาญงาน แขวงทางหลวงชนบทสมุทรสาคร ชี้แจงว่า ความเสียหายคิดเป็น 20% ไม่ได้เสียหายเชิงโครงสร้าง ที่มีความแข็งแรงดี และระบุว่า ส่วนที่เสียหายเกิดจากน้ำที่ไหลลงมาหรือซึมลงมาจากด้านบนสะพาน อาจจะเป็นน้ำเมือกปลา แทรกผ่านจุดเชื่อมต่อทำให้เกิดสนิม หรือเกิดจากความเค็มของน้ำทะเลกัดกร่อน

ส่วนการซ่อมแซมสะพาน แขวงทางหลวงชนบทสมุทรสาครออกแบบเสร็จแล้ว และจะส่งมอบให้เทศบาลนครสมุทรสาครในสัปดาห์หน้า โดยจะเป็นการซ่อมแซมสะพาน ไม่มีการปิดถนนเพื่อไม่ให้กระทบกับการสัญจรของประชาชน

ขณะที่นายชุมพล ระบุว่า หากได้รับแบบก่อสร้างแล้ว จะตั้งงบประมาณและนำเข้าสภาเทศบาลฯ เพื่อขอมติเห็นชอบดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท และคาดว่าอีก 2 เดือนน่าจะดำเนินการซ่อมแซมได้

นับต่อจากนี้ ชาวบ้านที่ใช้สะพานวัดเจษฯ ต้องจับตามองว่าเทศบาลนครสมุทรสาคร จะดำเนินการซ่อมสะพานได้จริงตามที่กล่าวหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาร้องเรียนมานานนกว่า 2 ปีแล้ว กลับไม่มีความคืบหน้า เพิ่งจะมาเป็นข่าวและดำเนินการตอนที่เกิดโศกนาฎกรรมสะพานกลับรถพระราม 2 และชาวบ้านกำลังจะนัดชุมนุมประท้วง

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *