กรุงไทยออกเป๋าตังเปย์ ปลุกใช้จ่ายผ่านแอปฯ เป๋าตัง สมุทรสาครร้านถุงเงินนับหมื่นแห่ง

ในที่สุดแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทย ที่มีผู้ใช้งานทั่วประเทศกว่า 40 ล้านราย ก็ได้ออกฟีเจอร์ใหม่ที่ชื่อว่า “เป๋าตังเปย์” (Paotang Pay) ซูเปอร์วอลเล็ตรูปแบบใหม่ ที่แยกจากจี-วอลเล็ต (G-Wallet) สำหรับใช้สิทธิตามมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ออกมาต่างหาก

เป๋าตังเปย์ สามารถเติมเงินผ่าน พร้อมเพย์ อี-วอลเล็ต 15 หลัก แล้วใช้จ่ายผ่านพร้อมเพย์ คิวอาร์โค้ด ตามร้านค้าทั่วไป รวมทั้ง ร้านค้าถุงเงิน ส่วนใหญ่ถ้าเคยเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ก็จะเคยใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” กันอยู่แล้ว ถ้าเป็นเวอร์ชันล่าสุด เข้าไปที่เมนู “QR รับเงิน” ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ PromptPay และ Paotang Pay แล้วให้ลูกค้าสแกนตามปกติ

พร้อมกันนี้ ยังมีบัตรวีซ่าพรีเพดที่ชื่อว่า บัตรเพลย์การ์ด (Play Card) ผูกกับบัญชีเป๋าตังเปย์ ใช้ซื้อสินค้าและบริการตามร้านค้าที่มีเครื่อง EDC ร้านค้าออนไลน์ รวมทั้งแตะจ่ายกับระบบคมนาคมขนส่ง ใช้ได้กับรถประจำทาง ขสมก. ไทยสมายล์บัส (บางเส้นทาง) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีแดง เรือ MINE Smart Ferry ทางด่วนและดอนเมืองโทลล์เวย์

ภาพ : Krungthai.com

นอกจากนี้ บัญชีเป๋าตังเปย์ ยังสามารถใช้จ่ายบิลสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า บิลโทรศัพท์/อินเทอร์เน็ต บิลบัตรเครดิต/สินเชื่อ บิลเช่าซื้อ/ลีสซิ่ง บิลประกันชีวิต/ประกันภัย บิลหน่วยงานราชการ เช่น ภาษี ค่าปรับจราจร และบิลสินค้า/บริการ รวมทั้งสามารถเติมเงินมือถือ เติมเงินบัตร Easy Pass และ M-Pass ได้อีกด้วย

ช่วงแนะนำ เมื่อสมัครเป๋าตังเปย์สำเร็จ จะมีคูปองส่วนลด 10 บาท 5 ใบ เมื่อสแกนจ่ายผ่านร้านค้าถุงเงินตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไป และคูปองส่วนลดจากกลุ่มเซ็นทรัล โดยสามารถเก็บคูปองส่วนลดได้ที่เมนู “เก็บคูปอง” อีกทั้งยังออกบัตรเพลย์การ์ดได้ฟรี ส่งบัตรฟรี 15,000 รายแรก และเมื่อใช้จ่ายตามที่กำหนด รับเครดิตเงินคืน 45 บาท รวมทั้งสิทธิพิเศษและกิจกรรมมากมาย

ที่ผ่านมาแอปฯ เป๋าตัง นอกจากจะมีบริการหลักอย่างเช่น G-Wallet ที่ใช้มาตั้งแต่โครงการชิมช้อปใช้เมื่อปี 2562 เป็นต้นมาแล้ว ยังมีบริการกระเป๋าสุขภาพ ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), วอลเล็ต สบม. ร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ, Gold Wallet, ซื้อขายหุ้นกู้ และสลากดิจิทัล 80 บาท ร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น

อาจเรียกได้ว่าการออกเป๋าตังเปย์ เป็นไปเพื่อรักษาฐานลูกค้าผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านราย เป็นอี-วอลเล็ตอันดับ 1 ในไทย และร้านค้าถุงเงินกว่า 1.7 ล้านราย ที่เข้าร่วมโครงการของรัฐ หลังจากโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 มีผู้ใช้สิทธิกว่า 24.02 ล้านคน มียอดใช้จ่ายรวม 37,058.6 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 18,879.6 ล้านบาท และเงินที่รัฐร่วมจ่าย 18,179.0 ล้านบาท

สำหรับยอดใช้จ่ายสะสมแบ่งตามประเภทร้านค้า ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 15,442.0 ล้านบาท ร้านธงฟ้า 7,498.8 ล้านบาท ร้าน OTOP 1,788.5 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 11,680.2 ล้านบาท ร้านบริการ 602.1 ล้านบาท และกิจการขนส่งสาธารณะ 47.0 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าเข้าร่วมโครงการรวม 9.72 แสนราย โดยเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ 2.33 หมื่นราย

“สาครออนไลน์” ค้นหาจำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการภาครัฐในจังหวัดสมุทรสาคร เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกำลังซื้อ และร้านธงฟ้า พบว่าในจังหวัดสมุทรสาคร มีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 11,408 แห่ง มากที่สุดคืออำเภอเมืองสมุทรสาคร รองลงมาคืออำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอบ้านแพ้วตามลำดับ

ประเภทร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมากที่สุด ได้แก่ ประเภทร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวม 6,936 แห่ง รองลงมาคือ ประเภทสินค้าทั่วไป รวม 3,688 แห่ง ประเภทสุขภาพ,ความงาม,นวดสปา,เสริมสวย รวม 443 แห่ง ประเภทร้านธงฟ้า รวม 220 แห่ง ประเภทขนส่งสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ รวม 92 แห่ง และประเภทร้านค้า OTOP รวม 29 แห่ง

เมื่อจำแนกประเภทร้านอาหารและเครื่องดื่ม พบว่า 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหารทั่วไป อาหารตามสั่ง อาหารจานเดียว 1,935 แห่ง ของหวาน ไอศกรีม เบเกอรี่ เครื่องดื่ม 1,239 แห่ง อาหารว่าง ขนม ของกินเล่น 767 แห่ง ร้านขายผลไม้ / ร้านขายผัก 473 แห่ง และก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ 470 แห่ง

ส่วนประเภทสินค้าทั่วไป พบว่า 5 อันดับแรก ได้แก่ มินิมาร์ท / ร้านขายของชำ 1,316 แห่ง ร้านขายของใช้ / อุปกรณ์ 986 แห่ง ร้านขายเสื้อผ้า / เครื่องประดับ / สินค้าแฟชั่น 524 แห่ง ตลาดสด 513 แห่ง และร้านขายสินค้าเกษตร 110 แห่ง (ที่มา : search-merchant.คนละครึ่ง.com)

ร้านค้าเหล่านี้ส่วนมากจะใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” สำหรับรับชำระค่าสินค้าและบริการ โดยไม่ใช้เงินสด ซึ่งพบว่ามีการใช้งานบ่อยครั้งในช่วงที่เข้าร่วมโครงการภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง แม้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันถุงเงิน จะนำโครงการพอยท์เพย์ ร่วมกับพาร์ทเนอร์ อาทิ เอไอเอส พอยท์, มาย บาย เคทีซี และบางจาก มาใช้กับร้านค้าถุงเงิน โดยใช้คะแนนสะสมก็ตาม

ความท้าทายของเป๋าตังเปย์คราวนี้ แตกต่างจากโครงการคนละครึ่งในช่วงที่ผ่านมา เพราะร้านค้าส่วนหนึ่งเมื่อไม่มีโครงการคนละครึ่ง ก็ไม่ได้นำมาใช้รับชำระเงินกับลูกค้า ร้านค้าบางแห่งไม่รับคนละครึ่งเพราะกลัวว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ทั้งที่กระทรวงการคลังชี้แจงแล้วว่า ฐานข้อมูลโครงการคนละครึ่งไม่ได้เชื่อมต่อระบบกับกรมสรรพากรแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน เมื่อไม่มีโครงการของรัฐเป็นตัวช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายผ่าน G-Wallet ขณะที่การใช้งานฟีเจอร์เป๋าตังเปย์ ก็เป็นคนละวัตถุประสงค์กับ G-Wallet ทำให้นับจากนี้ธนาคารกรุงไทยก็ต้องทุ่มงบการตลาดเอง เพื่อรักษาฐานลูกค้า แม้โครงการของรัฐในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง จะช่วยปูพื้นฐานการใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง กับผู้เข้าร่วมโครงการก็ตาม

ปัจจุบันแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านราย แซงหน้าแอปพลิเคชันหลักของธนาคารอย่าง Krungthai NEXT ที่มีจำนวนผู้ใช้งาน 16 ล้านราย ยังเป็นรอง เทียบกับเจ้าตลาดอย่าง K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย มีผู้ใช้งาน 19 ล้านราย ส่วนเบอร์สาม คือ SCB EASY ธนาคารไทยพาณิชย์ มีผู้ใช้งานราว 14 ล้านราย

จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ซูเปอร์วอลเล็ตอย่าง “เป๋าตังเปย์” จะช่วยสร้างสีสันการจับจ่ายผ่านสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ได้มากน้อยขนาดไหน ในยุคที่ผู้คนคุ้นชินกับการจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดธนาคาร หลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ประชาชนส่วนหนึ่งเปลี่ยนพฤติกรรม ถือเงินสดกันน้อยลง หันมาใช้จ่ายผ่าน e-Payment กันมากขึ้น

(ขอขอบคุณ ร้าน FINN Coffee Spaces ถนนเอกชัย ตรงข้าม ธกส.สมุทรสาคร เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายภาพประกอบข่าว)

-กิตตินันท์ นาคทอง-

หมายเหตุ : ข้อมูลจำนวนร้านค้าเข้าร่วมโครงการภาครัฐ ในจังหวัดสมุทรสาคร ณ วันที่ 25 พฤศจิายน 2565 จากการค้นหาผ่านคีย์เวิร์ด “สมุทรสาคร” ใน search-merchant.คนละครึ่ง.com

ประเภทร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวม 6,936 แห่ง

อาหารทั่วไป อาหารตามสั่ง อาหารจานเดียว 1,935 แห่ง
ข้าวราดแกง 71 แห่ง
ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ 470 แห่ง
ชาบู สุกี้ยากี้ หม้อไฟ 39 แห่ง
ปิ้งย่าง หมูกะทะ 294 แห่ง
ของหวาน ไอศกรีม เบเกอรี่ เครื่องดื่ม 1,239 แห่ง
ผับ ร้านเหล้า บาร์ 0 แห่ง
ร้านลูกชิ้น 109 แห่ง
ร้านขายผลไม้ / ร้านขายผัก 473 แห่ง
ร้านกาแฟ 86 แห่ง
ร้านอาหารอีสาน 312 แห่ง
ร้านอาหารญี่ปุ่น 61 แห่ง
ข้าวเหนียวหมูปิ้ง 50 แห่ง
ข้าวต้ม โจ๊ก เกาเหลา 53 แห่ง
ร้านขายส้มตำ / ยำแซ่บ 78 แห่ง
คาราโอเกะ 0 แห่ง
บุฟเฟ่ต์ 9 แห่ง
บุฟเฟ่ต์โรงแรม 0 แห่ง
พิซซ่า ฟาสต์ฟู้ด จานด่วน 75 แห่ง
อาหารเกาหลี 12 แห่ง
อาหารจีน 7 แห่ง
อาหารเจ มังสวิรัติ สุขภาพ 18 แห่ง
อาหารใต้ 13 แห่ง
อาหารทะเล 387 แห่ง
อาหารนานาชาติ 8 แห่ง
อาหารมุสลิม อิสลาม 2 แห่ง
อาหารเวียดนาม 0 แห่ง
อาหารอินเดีย 1 แห่ง
อาหารเหนือ 12 แห่ง
อาหารว่าง ขนม ของกินเล่น 767 แห่ง
อื่นๆ 355 แห่ง

ประเภทร้านค้า OTOP รวม 29 แห่ง

ผลิตภัณฑ์อาหาร 12 แห่ง
ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม 3 แห่ง
ผลิตภัณฑ์ผ้า/เครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ 6 แห่ง
ผลิตภัณฑ์ของใช้/ของตกแต่ง/ของที่ระลึก 3 แห่ง
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 5 แห่ง

ประเภทร้านธงฟ้า รวม 220 แห่ง

ประเภทสินค้าทั่วไป รวม 3,688 แห่ง

ร้านขายของใช้ / อุปกรณ์ 986 แห่ง
มินิมาร์ท / ร้านขายของชำ 1,316 แห่ง
ตลาดสด 513 แห่ง
ซุปเปอร์มาร์เก็ต 8 แห่ง
ร้านขายเสื้อผ้า / เครื่องประดับ / สินค้าแฟชั่น 524 แห่ง
ร้านเครื่องประดับที่เป็นสินค้า OTOP 3 แห่ง
ร้านขายสินค้าแฟชั่น 52 แห่ง
ร้านนวด/สปา 0 แห่ง
ร้านขายอุปกรณ์เพื่อการกีฬา 4 แห่ง
ร้านขายของฝาก 41 แห่ง
ร้านขายสินค้าเกษตร 110 แห่ง
ร้านบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง / ขายอาหารสัตว์ 37 แห่ง
ร้านบริการจัดสวน / ขายต้นไม้ / ดอกไม้ / พวงหรีด 58 แห่ง
สินค้า และ บริการ เกี่ยวกับการตกแต่งบ้าน 36 แห่ง
ห้างทอง / ร้านขายทอง 0 แห่ง
ร้านขายเพชร / อัญมณี / พลอย / นาก / เงิน 0 แห่ง

ประเภทสุขภาพ,ความงาม,นวดสปา,เสริมสวย รวม 443 แห่ง

ร้านขายเครื่องสำอางและบำรุงผิวพรรณ 133 แห่ง
ร้านขายยาและอาหารเสริม 77 แห่ง
ร้านตัดผม/ร้านเสริมสวย/ทำเล็บ 231 แห่ง
ร้านทำเล็บ 1 แห่ง
ร้านนวด / สปา 1 แห่ง

ประเภทขนส่งสาธารณะ รวม 92 แห่ง

แท็กซี่ 85 แห่ง
รถตู้ให้บริการ 1 แห่ง
จักรยานยนต์รับจ้าง 6 แห่ง
สามล้อเครื่อง 0 แห่ง
สามล้อถีบ 0 แห่ง
รถสองแถว 0 แห่ง
BTS 0 แห่ง
MRT 0 แห่ง
BMTA 0 แห่ง
รถไฟ 0 แห่ง
เรือ 0 แห่ง
รถ บขส. 0 แห่ง
รถโดยสารประจำทาง 0 แห่ง

รวม 11,408 แห่ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *