ถนนพุทธสาคร กลายเป็นทางหลวงหมายเลข 3651 ทางหลวงชนบทโอนให้กรมทางหลวง

เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2566 กรมทางหลวงได้ติดตั้งป้ายบอกระยะทาง เป้าสะท้อนแสงและหลักกิโลเมตรย่อย บนถนนพุทธสาคร หรือทางหลวงชนบท สค.1018 เดิม สายแยก ทล. 4 (กม.ที่ 21+700) – บ้านคลองมะเดื่อ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร

ถือเป็นการเปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบถนนสายนี้ จากเดิมกรมทางหลวงชนบท มาเป็นกรมทางหลวง

ด้านแขวงทางหลวงสมุทรสาคร ชี้แจงว่า ทางหลวงหมายเลข 3651 ตอน แยกสาครเกษม – คลองมะเดื่อ ปัจจุบันสายทางดังกล่าวอยู่ในควบคุมของแขวงทางหลวงสมุทรสาคร ซึ่งรับมอบจากแขวงทางหลวงชนบทสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565

ขณะที่ข้อมูลจาก ระบบสารสนเทศโครงข่ายทางหลวง กรมทางหลวง ได้บรรจุทางหลวงหมายเลข 3651 แยกสาครเกษม – คลองมะเดื่อ ระยะทาง 7.445 กิโลเมตร ไว้ในระบบ ลงวันที่ 30 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา

เมื่อตรวจสอบไปยังเฟซบุ๊ก “แขวงทางหลวง สมุทรสาคร” พบว่าได้มีเจ้าหน้าที่หมวดทางหลวงเศรษฐกิจ และหมวดทางหลวงมหาชัย แขวงทางหลวงสมุทรสาคร ดำเนินการบำรุงรักษาถนนมาตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา

โดยเริ่มจากดำเนินการแซะดินถากหญ้าทำความสะอาด รวมทั้งซ่อมแซมผิวทางที่ชำรุด ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ตรวจสอบตู้ควบคุมไฟฟ้า รวมทั้งติดตั้งแบริเออร์และป้ายบอกทาง บริเวณแยกทางเข้าถนน สค.4001 (ถนนสวนหลวง)

อย่างไรก็ตาม แม้การเปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบ จะทำให้ถนนพุทธสาครได้รับการบำรุงรักษาบ่อยครั้ง แต่ถนนบางช่วงยังมีผิวทางขุรขระ เนื่องจากมีรถบรรทุกใช้เส้นทางจำนวนมาก คงต้องรองบประมาณในการปรับปรุงถนนดังกล่าวต่อไป

ในอดีต ถนนพุทธสาคร คือ ถนนสาย ง ผังเมืองรวมกระทุ่มแบน เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เริ่มต้นจากสามแยกพุทธมณฑล สาย 4 ถนนเพชรเกษม ต.อ้อมน้อย ถึงถนนเศรษฐกิจ 1 บริเวณโค้งหัวคู้ ต.คลองมะเดื่อ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2547

โดยได้ปรับปรุงถนนเศรษฐกิจ 1 บริเวณโค้งหัวคู้เดิม ให้เป็นสะพานทางแยกต่างระดับกระทุ่มแบน ภายหลังได้ตั้งชื่อถนนดังกล่าว ชื่อว่า “ถนนพุทธสาคร” เป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมโยงกับถนนสายหลักจากกรุงเทพมหานครมุ่งสู่ภาคใต้และภาคตะวันตก

จากนั้น กรมทางหลวงชนบท ได้ก่อสร้างสะพานข้ามแยกตัดกับถนนเพชรเกษม แล้วเสร็จเมื่อเดือน ส.ค. 2549 เรียกว่าสะพานสาครเกษม ก่อนที่จะก่อสร้างสะพานกลับรถฝั่งถนนพุทธสาคร และถนนพุทธมณฑล สาย 4 แล้วเสร็จเมื่อเดือน ก.ย. 2550

โดยกรมทางหลวงชนบท ยกเลิกการใช้สัญญาณไฟจราจรบริเวณสี่แยกสาครเกษมทั้งสี่ทิศทางเป็นการถาวร เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2551 เป็นต้นมา ทำให้การจราจรคล่องตัวขึ้น เพราะไม่ต้องติดสัญญาณไฟ โดยยกเลิกการเลี้ยวขวาแล้วใช้สะพานกลับรถแทน

เมื่อมีปริมาณการจราจรจำนวนมาก ส่งผลทำให้การจราจรติดขัด กรมทางหลวงชนบทจึงขยายช่องจราจรถนนพุทธสาคร ขนาด 8-10 ช่องจราจร พร้อมขยายความกว้างของสะพานข้ามคลองภาษีเจริญ คลองหมื่นปรารมภ์ เป็นข้างละ 4 ช่องจราจร

เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น เพิ่มความสะดวกในการเดินทางไปทางหลวงสายหลักสู่ภาคใต้ เป็นการสนับสนุนการกระจายปริมาณการจราจรบนถนนสายหลัก ได้แก่ ถนนพระรามที่ 2 ถนนเพชรเกษม และถนนบรมราชชนนี

ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 706.8 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2555 แล้วเสร็จเมื่อเดือน เม.ย. 2558

ข้อมูลจาก บัญชีโครงข่ายทางหลวงชนบท ประจำปีงบประมาณ 2566 (จัดทำเมื่อเดือน ก.ย. 2564) ระบุว่า ถนนพุทธสาคร มีชนิดผิวจราจร ลาดยาง 5.845 กิโลเมตร และคอนกรีต 1.600 กิโลเมตร มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย (PCU) 41,915 คันต่อวัน

ขณะที่ถนนเศรษฐกิจ 1 หรือทางหลวงหมายเลข 3091 (หลักกิโลเมตรที่ 13+000) ข้อมูลจากสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง ระบุว่า ในปี 2565 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 35,138 คันต่อวัน

ปัจจุบัน ถนนพุทธสาครทำหน้าที่เป็นเส้นทางหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดบนถนนพระรามที่ 2 ที่กำลังก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 (บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว) มุ่งหน้าสู่ภาคใต้ แบ่งเบาภาระการจราจรบนถนนกาญจนาภิเษก หมายเลข 9

ในอนาคตกรมทางหลวงมี โครงการทางหลวงแนวใหม่เชื่อมถนนพุทธมณฑลสาย 4 กับทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) ทำให้จากจังหวัดสมุทรสาครและถนนพระรามที่ 2 สามารถมุ่งไปยังมอเตอร์เวย์สายใหม่ได้โดยตรง

จึงเป็นที่น่าสนใจว่า การรับโอนถนนพุทธสาครมายังกรมทางหลวง จะทำให้การอำนวยความปลอดภัยบนถนนพุทธมณฑล สาย 4 ถนนพุทธสาคร และถนนเศรษฐกิจ 1 เป็นไปอย่างไร้รอยต่อ และอาจจะพัฒนาให้เป็นทางหลวงสายรองประธานในอนาคตหรือไม่?

-กิตตินันท์ นาคทอง : เรื่อง / กิตติกร นาคทอง : ภาพ-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *