เลือกตั้งสมุทรสาคร 2566 – คุยกับ “บูม ไทยภักดี” และ “ฟลิ้น ก้าวไกล” เมื่อคน New Gen ขออาสาเป็นผู้แทน

สนามเลือกตั้งสมุทรสาคร ปี 2566 มีผู้ลงสมัคร ส.ส. แบ่งเขต รวมทั้ง 3 เขตเลือกตั้ง จำนวน 29 คน จาก 10 พรรคการเมือง

ที่น่าสนใจกว่านั้น มีผู้สมัครที่เป็น New Generation คนรุ่นใหม่ที่อายุไม่เกิน 30 ปี จำนวน 6 คน เริ่มตั้งแต่น้องเล็กสุด “การ์ฟิล” ธชย สำลี จากพรรคภูมิใจไทย เขต 1 ด้วยวัย 26 ปี น้อยที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้จะลงเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อเข้ามาแทนคนที่ลาออกไปหลังจากการทำไพรมารีโหวต

ตามมาด้วย “บูม” รัฐภูมิ อัศววิริยวงศ์ จากพรรคไทยภักดี เขต 1 วัย 27 ปี ที่ลงพื้นที่ฝากเนื้อฝากตัวกับชาวบ้านมาแต่เนิ่น ๆ ก่อนผู้สมัครรายอื่นกว่า 2 ปี เช่นเดียวกับ “ลูกน้ำ” ปัณฑารีย์ มั่งมี จากพรรคพลังประชารัฐ เขต 2 วัย 27 ปีเช่นกัน เป็นลูกสาวของ “วงศ์มงคล มั่งมี” หรือ “กำนันกุ้ง” ที่ตอนแรกออกแนะนำตัวกับชาวบ้านในพื้นที่ในนามค่ายคนแดนไกล แต่สุดท้ายมาลงเอยกับค่ายลุงป้อม

ทางด้านพรรคก้าวไกล มี 3 ทหารเสือ ประกอบด้วย เขต 1 ฟลิ้น” ณัฐพงษ์ สุมโนธรรม, เขต 2 เจ” ศิริโรจน์ ธนิกกุล” และเขต 3 ครูสิทธิ์” ศิรสิทธิ์ สงนุ้ย จากกระแส “ส้มรักพ่อ” ที่กำลังดังกระหึ่มไปทั่วประเทศ ก็หวังโกยคะแนนจากเสียงคนรุ่นใหม่ทั้ง 3 เขต แต่ที่แปลกกว่านั้น ทุกคนอายุ 28 ปีเท่ากันหมด

เพื่อทำความรู้จักกับนักการเมืองหน้าใหม่เหล่านี้ “สาครออนไลน์” มีโอกาสได้พูดคุยกับ 2 ผู้สมัคร ส.ส. สมุทรสาคร เขต 1 ได้แก่ “บูม” รัฐภูมิ อัศววิริยวงศ์ และ “ฟลิ้น” ณัฐพงษ์ สุมโนธรรม แม้นักการเมืองหน้าใหม่ทั้งสองจะมีอุดมการณ์ต่างกัน แต่ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากความสนใจการเมืองตั้งแต่วัยเด็กเหมือนกัน

เริ่มกันที่พรรคไทยภักดี เบอร์ 6 “บูม” รัฐภูมิ อัศววิริยวงศ์ เกิดและโตที่ อ้อมน้อย สมุทรสาคร เป็นบุตรชายของ ธนวุฒิ นนยะโส ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดคลองครุ มีพี่ชาย 1 คน จบการศึกษาในระดับ ปวช. จากวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร แผนกช่างยนต์ รุ่นที่ 39 จากนั้นสอบรับราชการเป็นทหารบก สังกัดกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ จ.สระบุรี รับราชการได้ประมาณ 3 ปี มีความสนใจในงานด้านการเมือง จึงได้ศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง รุ่น 44 ควบคู่ไปกับการทำงาน พอช่วงใกล้เรียนจบได้ตัดสินใจลาออกจากราชการ เพื่อที่จะทำตามความฝัน คือทำงานการเมือง ซึ่งเป็นงานที่ชอบตั้งแต่วัยเด็ก ปัจจุบันทำธุรกิจซื้อขายรถยนต์มือสอง ที่ทำมาตั้งแต่สมัยเรียน ปวช. ปี 1

รัฐภูมิเล่าว่า เริ่มต้นสนใจการเมืองจากการถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อเป็นคนชอบการเมืองมาก เวลามีการชุมนุมก็พาไปร่วมด้วยตลอด จึงได้ซึมซับในตอนนั้นจนเกิดความชอบ แล้วพอโตขึ้นมารับราชการในตำแหน่งชั้นผู้น้อย ได้พบเจอปัญหาต่าง ๆ ทำให้ตัดสินใจที่จะลงทำงานการเมืองแบบเต็มตัว โดยได้ลงพื้นที่ประมาณ 2 ปีเศษ พบปะชาวบ้านให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิด-19 หรือน้ำท่วมขัง ก็ให้การช่วยเหลือกันเท่าที่จะทำได้ และได้รับฟังปัญหาจากชาวบ้าน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาปากท้องคุณภาพชีวิต ค่าครองชีพสูง รายได้ต่ำ และปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น สะพานวัดเจษ ไม่ว่าจะกี่ปีก็ไม่ได้รับการแก้ไข เปลี่ยนนักการเมืองไปกี่ชุดก็ยังมีปัญหาอยู่เหมือนเดิม

“ในการลงพื้นที่หาเสียง ก็จะเป็นการลงพื้นที่ลักษณะเดิม ๆ ที่เราเคยทำมา คือจะไม่ได้รู้สึกแปลกใหม่อะไร วันแรกเราเริ่มต้นอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เมื่อ 2 ปีที่แล้วผมเดินคนเดียว ไปงานศพแบบไม่มีใครรู้จัก ทุกคนงงแล้วถามว่าผมเป็นใคร เด็กคนนี้เป็นใคร จนมาถึงวันนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่รับรู้ถึงความตั้งใจของเราแล้ว ต่อให้เราจะเดินคนเดียวหรือสองคนเหมือนเดิม เขาก็ยังให้การต้อนรับเราดี ไม่ได้มองว่าเดินหาเสียงทำไมมาน้อย คือทุกคนเข้าใจในความตั้งใจของเรา เพราะเราทำให้เป็นภาพจำของชาวบ้านไปแล้ว”

ส่วนการทำงานกับทางพรรคไทยภักดี มาจากจุดยืนเดิมอยู่ฝั่งที่คนส่วนใหญ่เรียกว่ากลุ่มคนเสื้อเหลือง ทีนี้ตนชื่นชอบ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว พอทราบว่าได้ตั้งพรรคการเมือง ตนก็ไปสมัครสมาชิกตั้งแต่วันแรก เวลาผ่านไปสักพักก็ได้รับการทาบทามจากทางพรรคให้ลงสมัคร ส.ส. สมุทรสาคร เขต 1 ตอนแรกชั่งใจอยู่เพราะกำลังเงินมันไม่พอที่จะสู้ได้ แต่ว่าด้วยอุดมการณ์ทำให้ตัดสินใจสู้ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยก็ได้ทำตามอุดมการณ์ของเรา ทำให้ดีที่สุด

ซึ่งพรรคไทยภักดีมีผลงานที่เด่นชัดในเรื่องการปราบโกง เช่น หัวหน้าพรรคฯ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เปิดโปงการทุจริตจำนำข้าว ประธานพรรคฯ ถาวร เสนเนียม มีผลงานเคยเอาผิด กกต. ทุจริตการเลือกตั้งจนต้องติดคุกทั้งชุดมาแล้ว และเลขาธิการพรรคฯ พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ที่ตรวจสอบทุจริตการบินไทย จนวันนี้ ป.ป.ช. ส่งฟ้องไปเรียบร้อยแล้ว โดยสโลแกนพรรคไทยภักดี “ปราบโกง = แก้จน” เพราะในประเทศไทยมีการทุจริตปีละไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ถ้ารัฐบาลไหนสามารถปราบทุจริตได้ จะทำให้เงินเหล่านั้นกลับสู่ประชาชนมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทำอะไรได้มากมาย ซึ่งนโยบายปราบโกง โดยหลักคือออกกฎหมายให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ ผู้ที่ถูกเรียกรับสินบนถูกกันไว้เป็นพยาน ไม่ให้เป็นผู้ร่วมกระทำผิด

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการปฏิวัติพลังงาน เช่น ลดค่าไฟฟ้าเหลือหน่วยละ 2.50 บาท โดยจะไปยกเลิกสัญญาเก่าที่รัฐบาลชุดก่อนทำไว้ และเปลี่ยนวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า จากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเป็นการใช้พืชพลังงาน ทำให้ต้นทุนถูกลง ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ท่านถาวร เสนเนียม ประธานพรรคไทยภักดี ได้ลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร และรับฟังปัญหาพี่น้องประชาชนเรื่องค่าครองชีพ ทั้งค่าน้ำค่าไฟฟ้า ค่าแก๊สหุงต้มในการขายอาหารของพ่อค้าแม่ค้า รวมถึงไปสอบถามชาวนาเกลือ ที่มีปัญหาที่ดินของสหกรณ์ฯ ไม่สามารถออกโฉนดได้ ซึ่งตนได้รับเรื่องแล้วและจะติดตามต่อ รวมถึงราคาผลผลิตเกลือไม่คงที่ในแต่ละปี แต่ต้นทุนยังคงเท่าเดิม ก็จะผลักดันให้มีการลดค่าไฟฟ้าเครื่องสูบน้ำเข้านาเกลือ เป็นต้น

มาต่อด้วยพรรคก้าวไกล เบอร์ 9 “ฟลิ้น-ณัฐพงษ์ สุมโนธรรม” เกิดและโตที่ท่าฉลอม สมุทรสาคร เป็นลูกคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 4 คน คุณพ่อคือ คณิต สุมโนธรรม อดีตผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสมุทรสาคร ในวัยเด็กมีความสนใจด้านการเมือง อ่านคอลัมน์การเมืองตามหน้าหนังสือพิมพ์ ติดตามอภิปรายในสภา และชอบนั่งในวงผู้ใหญ่สอบถามเวลาพูดคุยเรื่องการเมืองระดับต่าง ๆ เรียนจบชั้นประถม ร.ร.สมฤดีสมุทรสาคร ศึกษาต่อชั้นมัธยม ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น 131 และสอบเข้าได้คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ สิงห์แดง รุ่น 65 เมื่อเรียนจบแล้วบินไปเรียนภาษาและหาประสบการณ์ชีวิต หรือ gap year ที่ประเทศออสเตรเลีย แล้วกลับมาทำงานในบริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาบุคคลแห่งหนึ่ง 

ณัฐพงษ์เล่าว่า เข้าสู่เส้นทางการเมืองจากการที่ได้ไปเป็นอาสาสมัครให้กับทางพรรคอนาคตใหม่ กระทั่งพรรคถูกยุบไป ก็ได้รับการทาบทามจาก “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ให้มาทำงานเป็นผู้ช่วยที่คณะก้าวหน้า หลังจากนั้นมาทำงานให้กับพรรคก้าวไกล เป็นผู้ติดตามของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคฯ ทำข้อมูลประเด็นต่าง ๆ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเรียนรู้งานในสภาต่าง ๆ

“ฟลิ้นก็มีความฝันมาโดยตลอดอยากจะลงเป็นผู้แทนราษฎร เพราะเห็นว่าหลาย ๆ เรื่อง ถ้าไม่มีอำนาจทางการเมืองหรือใช้อำนาจทางการเมืองในการเข้าไปแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เข้าไปเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยอำนาจรัฐ มันยากมากที่จะแก้ไข เช่น แก้ไขกฎหมายประมง ทีนี้พอเข้าไปอยู่กับทางพรรคก้าวไกล ก็หาจังหวะว่าเมื่อไหร่ดีที่จะลงผู้แทนฯ อยากจะช่วยอยู่เบื้องหลังให้คุณพิธาเป็นรัฐมนตรีก่อน

วันหนึ่งจังหวะก็เปิด มีการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. สมุทรสาคร ก็เลยลองสมัครและสัมภาษณ์กับทางคณะกรรมการจังหวัดฯ คณะกรรมการบริหารพรรคฯ จนได้รับการคัดเลือกจากทางพรรคก้าวไกลให้เป็นผู้สมัคร ส.ส. สมุทรสาคร เขต 1 เพราะเห็นว่าด้านหนึ่งอายุน้อย สดใหม่ ทำงานกับพรรคมานาน มีความเข้าใจนโยบายของพรรคฯ ยังไงก็ไม่เป็นงูเห่า ถูกพิสูจน์อุดมการณ์อยู่เสมอ อีกทั้งเรียนทางด้านนี้มาโดยตรง มีความสนใจเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องประมง และเรื่องต่าง ๆ ทำให้ทางพรรคฯ รับรองเป็นผู้สมัครฯ ที่บ้านเกิดของผม”

ณัฐพงษ์ เล่าต่ออีกว่า การทำงานตั้งแต่คณะก้าวหน้าจนถึงพรรคก้าวไกล แม้อายุยังน้อยก็ทำให้ได้เรียนลัดทางการเมืองจากการทำงานเบื้องหลัง หลาย ๆ เรื่องบางทีตนเองก็มีความฝัน แต่เวลาเข้าไปอยู่ในระบบการเมืองก็คงมีกลไกต่าง ๆ ที่อาจจะเป็นข้อทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แน่นอนเราต้องตั้งจากความฝัน แล้วพอไปทำงานกับคุณปิยบุตร และคุณพิธา ที่มีความเข้าใจทางการเมืองและผ่านการทำงานภาพใหญ่ ทำให้ตนเองได้เรียนรู้กลไกของกรรมาธิการทำงานอย่างไร แม้จะเป็นฝ่ายค้าน แต่กลไกเหล่านี้สามารถไปส่งเสียงแก้ไขปัญหาได้ เช่น การได้ไปยื่นจดหมายร้องเรียนถนนพระราม 2 มีอุบัติเหตุบ่อย ต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร ก็เลยเห็นว่ากลไกกรรมาธิการทำอะไรได้เยอะมาก รวมถึงเคยเป็นผู้จัดการโครงการรณรงค์แคมเปญ “ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น” ของคณะก้าวหน้า ก็ทำให้ตนเข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจมากขึ้น เห็นของศักยภาพประเทศไทยที่มีอะไรอีกเยอะ แต่ติดปัญหาท้องถิ่นไม่มีอำนาจและงบประมาณ

ส่วนเรื่องการหาเสียงสื่อสารกับประชาชน ณัฐพงษ์เผยว่ามีทั้งแบบ online ตามช่องทางต่าง ๆ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทั้งคนรุ่นใหม่และกลุ่มต่าง ๆ พยายามจำกัดวง (localized) นโยบายของพรรคก้าวไกลให้สอดคล้องกับจังหวัดฯ และพบปะกับประชาชนโดยตรง และ on ground การเดินลงพื้นที่ คือไม่ใช่แค่แจกแผ่นพับ แต่ไปสำรวจพื้นที่ว่าแต่ละตำบลและหมู่บ้านเจอปัญหาอะไรบ้าง เช่น เรื่องปัญหาประมง เรื่องน้ำประปาไม่ไหลหรือไหลน้อยในบางพื้นที่ แล้วในฐานะผู้แทนราษฎรจะไปส่งเสียงอย่างไร และจะไปสะท้อนกับนโยบายของพรรคการเมืองว่าจะตอบโจทย์อย่างไร

สำหรับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ปี 2562 ที่อดีตพรรคอนาคตใหม่ (พรรคก้าวไกลในปัจจุบัน) สมุทรสาครได้ ส.ส. เข้าไปในสภา 2 คน แต่กลับมีเรื่องทรยศเสียงของประชาชน หรือไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในพื้นที่นั้น ณัฐพงษ์อธิบายว่า เลือกตั้งคราวที่แล้วทางพรรคฯ มีเวลาในการคัดสรรผู้สมัคร ส.ส. น้อยมาก แล้วระบบเลือกตั้งเป็นแบบบัตรใบเดียว ต้องรีบส่งผู้สมัครให้ครบ 350 เขต ก็เลยเกิดปรากฏการณ์งูเห่า ได้คนที่ไม่ตรงกับอุดมการณ์ แต่ตนเชื่อว่าตอนนี้มีเวลาในการทำงาน ผ่านการเรียนรู้ทดลองงาน คัดสรรมาเป็นอย่างดี คิดว่าโอกาสในการมีงูเห่าน่าจะน้อยมาก ส่วนตัวเองมั่นใจว่าจะไม่เป็นงูเห่าอย่างแน่นอน

ส่วนเรื่องการทำงานเชิงประจักษ์ ตนอยากให้มองการทำงานของพรรคก้าวไกล การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การเปิดข้อมูลใหม่ หรือเข้าไปเสนอแนะอะไรต่าง ๆ ตนคิดว่าทำได้ดีมาก ซึ่ง ส.ส. สมุทรสาครของพรรคก้าวไกล เป็นข้อดีที่ไม่ได้เป็นงูเห่า เวลามีญัตติหรือโหวตอะไรก็ทำตามมติของพรรคมาโดยตลอด และในกลไกกรรมาธิการก็ทำหน้าที่ ซึ่งในระดับพรรคก็ทำงานได้ดีพอสมควร ส่วนในระดับพื้นที่ ตนเองเป็นคนสมุทรสาคร ตั้งใจมาทำงานและอยากที่จะเข้าผลักดันแก้ไขเรื่องต่าง ๆ เรียนลัดทางการเมืองมา เห็นกลไกในการทำงานสภา เชื่อว่าตนเองคงจะมาทำอะไรในพื้นที่ได้พอสมควร เห็นภาพใหญ่ประเทศ เดินทางทั่วประเทศ รู้จักกับนักการเมืองระดับหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคมา คิดว่าประสบการณ์ของตนเองคงจะมาทำอะไรได้อีกเยอะ

สำหรับสถิติผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. สมุทรสาคร อายุน้อยที่สุดเท่าที่ “สาครออนไลน์” ได้มีการสำรวจไว้ คือ “ปลัดแต” อุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร ในปัจจุบัน ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2538 ด้วยวัย 27 ปี 11 เดือน 16 วัน

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ชาวสมุทรสาครจะได้มีผู้แทนราษฎรเป็นคนรุ่นใหม่อีกครั้งหรือไม่ อีกไม่กี่อึดใจเราก็จะได้คำตอบกัน

-กิตติกร นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *